วันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2557

โครงการหลวง...เพื่อปวงชน




เกือบ 50 ปีก่อน ขณะที่แดนดอยทางภาคเหนือตอนบนกำลังเผชิญกับความแร้นแค้นอย่างหนักหน่วงอันเนื่องมาจากฝิ่นและการทำไร่เลื่อนลอย

วันหนึ่งที่บ้านม้งดอยปุย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จแปรพระราชฐานมายังพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ซึ่งอันที่จริงพระองค์ท่านน่าจะทรงพักผ่อน แต่ก็ไม่ กลับทรงพระดำเนินไปทอดพระเนตรชีวิตคนบนดอยด้วยความสนพระราชหฤทัย ทรงเห็นใจและมีพระราชประสงค์ที่จะช่วยชาวไทยภูเขาในละแวกนั้น ทำให้ชาวไทยภูเขาไม่ปกปิดข้อมูลว่า พวกเขาปลูกฝิ่นกันจริง ๆ แต่ก็เก็บท้อพื้นเมืองขายด้วย

พระองค์ท่านทรงทราบว่า ที่สถานีทดลองผลไม้เมืองหนาวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใกล้พระตำหนักภูพิงคฯ ได้นำกิ่งท้อลูกใหญ่จากต่างประเทศมาต่อกับต้นพันธุ์พื้นเมืองได้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง โครงการหลวงพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา ขึ้นในปี พ.ศ. 2512 (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นโครงการหลวง และในปี พ.ศ. 2535 เปลี่ยนมาเป็นมูลนิธิโครงการหลวงจนถึงทุกวันนี้) โดยมีหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้อำนวยการโครงการ เพื่อค้นคว้าหาพันธุ์ท้อที่เหมาะกับดอยทางเหนือ เพราะอาจทำเงินได้ดีกว่าฝิ่น นอกจากนี้ ยังโปรดเกล้าฯ ให้พยายามหาพืชผักกับดอกไม้เมืองหนาวอื่น ๆ มาปลูกด้วย ข้อนี้หม่อมเจ้าภีศเดชได้ทรงตั้งข้อสังเกตไว้ว่า พืชแต่ละอย่างของเรานั้น ถ้าไม่สวย ก็ต้องอร่อย

ในปีเดียวกัน สถานีเกษตรหลวงอ่างขางก็ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นโครงการหลวงแห่งแรก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวคิดในการดำเนินงานไว้เป็นข้อ ๆ คือ 1. ลดขั้นตอน 2. ปิดทองหลังพระ 3. เร็ว ๆ เข้า 4. ช่วยให้เขาช่วยเหลือตัวเอง

จะเห็นได้ว่า ช่างเป็นแนวคิดที่เรียบง่ายและตรงประเด็นเหลือเกิน กระทั่งทุกวันนี้ เรามี สถานีวิจัยเกษตรหลวง 4 แห่ง คือ อ่างขาง อินทนนท์ ปางดะ และแม่หลอด ทำหน้าที่เน้นไปในด้านวิจัย คิดค้น และปรับปรุงสายพันธุ์ ส่วนอีก 38 แห่งเป็น ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง มุ่งงานส่งเสริมเป็นหลัก ซึ่งทั้งหมดกระจายกันอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน และพะเยา ชาวบ้านกว่า 126,207 คน ได้รับความช่วยเหลือให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

พวกเราชาวโครงการหลวงภูมิใจที่มีการปลูกพืชเมืองหนาว ไม่นับฝิ่น ได้สำเร็จในประเทศร้อน ทำให้คนไทยมีของอร่อย ๆ ไว้รับประทานในราคาที่ใคร ๆ ก็สู้ได้ แต่เราชอบที่จะวัดความสำเร็จของเราด้วยจำนวนเงินที่เข้าไปอยู่ในกระเป๋าของเกษตรกร เราสำเร็จแค่ไหนเราตอบไม่ได้ด้วยตัวเลข หม่อมเจ้าภีศเดช ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง ทรงเคยกล่าวไว้ในหนังสืออย่างน่าฟัง

แม้ ว่าจังหวัดลำปางของเราจะไม่มีศูนย์พัฒนาโครงการหลวง แต่ก็ใช่ว่าคนลำปางจะไม่คุ้นเคยกับโครงการหลวงเสียเมื่อไร เพราะทุกวันนี้ทั้งสถานีวิจัยเกษตรหลวงและศูนย์พัฒนาโครงการหลวงต่างได้รับ การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง กาแฟสดที่เราดื่มกันบางร้านซื้อเมล็ดมาจากโครงการหลวง ด้านพืชผักผลไม้พะยี่ห้อดอยคำก็มีให้เห็นทั่วไปในซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาด และร้านขายสินค้าเพื่อสุขภาพ หรือแม้แต่ร้านดอยคำ ที่เพิ่งเปิดบริการให้คนลำปางเลือกซื้อผลิตผลของโครงการหลวงที่มีอยู่อย่าง หลากหลาย

นอกจากนี้ ที่บ้านแม่แจ๋ม หมู่บ้านเล็ก ๆ ของตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน กาแฟอะราบิกาสายพันธุ์ดีและแม็กคาเดเมียนัตหวานมัน ที่หยั่งรากปักลงบนดอยสูงกว่า 1,100 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง รวมถึงเทคนิคเชิงเกษตร อาทิ การปลูกกาแฟคลุมด้วยไม้บังร่มอย่างเสาวรสที่ให้ผลอมเปรี้ยวชุ่มชื่น ก็เป็นผลมาจากการขึ้นมาส่งเสริมของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยเล็งเห็นแล้วว่า อากาศและความสูงของบ้านแม่แจ๋มน่าจะเหมาะกับพืชพรรณเหล่านี้

โครงการ หลวงตีนตกได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตกาแฟที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ชาวบ้านรอบ ๆ ศูนย์ฯ ต่างก็หันมาปลูกกาแฟสายพันธุ์อะราบิกาที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์จนเหมาะกับ พื้นที่บนดอยสูงทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยใช้วิธีปลูกแบบผสมผสานภายใต้ร่มเงาของต้นเมี่ยง ซึ่งเป็นพืชดั้งเดิมที่ชาวบ้านปลูกไว้อยู่แล้ว ด้วยปัจจัยทางด้านดินฟ้าอากาศที่เหมาะสม จึงทำให้พื้นที่โดยรอบศูนย์ฯ ปลูกกาแฟได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสมดุลให้กับธรรมชาติและเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นอกจากจะให้การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชต่าง ๆ ยังมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถออกไปให้คำแนะนำวิธีเพิ่มผลผลิตให้กับชาวบ้านอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ยังรับซื้อผลผลิตของชาวบ้านที่ได้มาตรฐาน โดยให้ราคาสูงกว่าตามท้องตลาด ทำให้ชาวบ้านไม่ต้องซื้อขายผ่านพ่อค้าคนกลาง

...กาลครั้งหนึ่ง มีพระราชาองค์หนึ่ง ทรงงานหนักด้วยปรารถนาให้ทุกคนมีความสุข นี่ไม่ใช่เทพนิยาย พระราชาองค์นั้นมีอยู่จริง


Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์