น อกจากเสียเงิน
7 ล้านบาท จ้างทำแอพ ค่านิยม 12 ประการ แล้ว
คุณค่าและการจดจำค่านิยม 12 ประการของประยุทธ์ จันทร์โอชา
นับว่าเบาบางมาก เมื่อเทียบกับค่านิยมไอโฟน ซัมซุง
คล้ายพระเจ้าองค์ใหม่ของเด็กและเยาวชน
ความพยายามที่จะบีบอัดความคิด
เรื่องค่านิยม 12
ประการ ในงานวันเด็ก ในกิจกรรมที่ทำเพื่อเด็ก
ดูเหมือนกลับสร้างความอึดอัดให้ผู้ใหญ่ที่ลืมเลือนวัยเด็กของตัวเองไปแล้วว่า
การให้ท่องจำเรื่องที่น่าเบื่อหน่าย
และก็ไม่มีต้นแบบของผู้ใหญ่ที่เชื่อและศรัทธาในค่านิยมนี้อย่างจริงจัง
ก็คือความสูญเปล่า
แน่นอนว่าทุกวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม
ถือเป็นวันเด็กแห่งชาติ ที่แต่ละหน่วยงานจะมีการจัดกิจกรรมวันเด็ก ระดมเกมส์แจกของรางวัลให้เด็กน้อยอนาคตของชาติ
ในวันนั้นจะเรียกเด็กน้อยๆของเราว่าเป็นนักล่ารางวัลก็อาจไม่ผิดนัก แต่ก็มีกิจกรรมทางปัญญาน้อยมาก
กว่าการลากรถถัง ปืนใหญ่มาให้เด็กดูเล่น
ในแต่ละปี
ก่อนที่จะถึงวันเด็กแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีจะมอบ คำขวัญให้เป็นข้อคิดเตือนใจ ปีละ 1 คำขวัญ
มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 ในยุคสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และนับจากนั้นมาจนถึงปัจจุบัน
มีคำขวัญวันเด็กมากมาย ที่มักจะกระตุ้นเตือน เน้นย้ำ ปลูกฝังความคิดให้แก่เด็กๆ
โดยหลักใหญ่ใจความจะให้ความสำคัญกับความสามัคคี มีวินัย ซื่อสัตย์ รักการเรียน
ซึ่งจริงๆแล้วก็คือคุณลักษณะของเด็กๆที่พึงเป็น เติบโตสมวัย พัฒนาความรู้
ทัศนคติตามลำดับชั้นที่เรียนสูงขึ้น และเติบโตเป็นเยาวชนคุณภาพ เพื่อพัฒนาประเทศต่อไป
แต่หากย้อนกลับมาดูที่ความเป็นจริงของเด็กๆของเราในวันนี้
ค่านิยม 12
ประการ ที่เด็กทุกคนต้องท่องให้ขึ้นใจ จำให้แม่นยำ เอาเข้าจริงแล้วเด็กๆของเราจะเห็นคุณค่าของค่านิยมมากไปกว่าค่านิยมไอโฟน-ซัมซุง
ที่หล่อหลอมเด็กเล็กเด็กใหญ่กลายเป็นสังคมก้มหน้า คุยกันผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือ
แท็ปเลตก็แทบตลอดเวลา
ปฏิเสธไม่ได้ว่าโทรศัพท์มือถือได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว
และส่วนใหญ่ก็มักจะเลือกใช้สมาร์ทโฟน เพราะด้วยฟังก์ชันที่ต้องการจะตอบสนองชีวิตประจำวันที่ออนไลน์เสียส่วนใหญ่
จนเด็กเล็กอย่างนักเรียนชั้นประถม
ตั้งแต่ ป.1
เล่นมือถือไอโฟนที่สนนราคาหลักหลายหมื่น
ที่พ่อแม่ผู้ปกครองประเคนให้ลูกใช้ หลายคนอาจจะบอกว่าก็เป็นสิทธิของพ่อแม่ที่มีฐานะจะตามใจลูก
ให้ทุกอย่างที่ลูกอยากได้ จะรู้หรือไม่ว่านั่นเป็นการทำลายลูกทางอ้อม
ย้อนกลับไป 20 ปีก่อนหน้านี้
คนเป็นพ่อแม่ที่มีลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่นมักวิตกกังวลกลัวลูกคุยโทรศัพท์ทั้งวันทั้งคืน
ติดโทรศัพท์ หลบอยู่แต่ในห้อง จมอยู่ในโลกส่วนตัวไม่สุงสิงกับใคร ไม่เป็นอันทำอะไร
แต่มายุคนี้สมัยนี้ รู้หรือไม่ว่าอาการติดโทรศัพท์ของวัยรุ่นก็ไม่ได้จางหายไป หากแต่จะอาการโคม่าขึ้นด้วยการติดแชทผ่านสารพัดโปรแกรม
chat
เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ต้องเติบโตขึ้นมาในสังคมที่เต็มไปด้วยการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีที่พรั่งพรูอยู่ทุกวัน
และเด็กส่วนใหญ่ก็เรียกร้องที่จะมีโทรศัพท์มือถือที่สามารถแชทได้ โดยเฉพาะเจ้าแอปพลิเคชัน
Line ที่คนไทยนิยมกันมากมายเหลือเกิน
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่สะท้อนให้เห็นว่าเด็กรุ่นใหม่ติดโทรศัพท์มือถืออย่างหนัก
กลุ่มวัยรุ่นไทยมีความรู้สึกที่ดีต่อเทคโนโลยีในแง่ของความรู้สึกปลอดภัย มั่นใจ ได้เข้าสังคม
และทันสมัย ทั้งยังพบว่า มือถือมีความสำคัญเป็นอันดับ 1 ในชีวิตของพวกเขา
บางคนบอกว่าถ้าขาดมือถือจะมีอาการเหมือนคนติดยา !!!
โทรศัพท์มือถือกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจเด็กรุ่นใหม่ไปแล้ว
พฤติกรรมก้มหน้า
สังคมก้มหน้า ทำให้การสื่อสารพื้นฐานแบบเผชิญหน้าลดน้อยลง และอาจนำไปใช้เป็นประจำจนติดเป็นนิสัย
เยาวชนอยู่ในโลกส่วนตัวมากเกินไป ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง ขาดความมั่นใจ ไม่อยู่ในโลกของความเป็นจริง
เพราะหลงติดอยู่ใน “มโนเวิลด์” โลกที่สร้างขึ้นจากคีย์บอร์ด
มีงานวิจัยมากมายที่ส่งสัญญาณเตือนดังๆ
เพราะเป็นห่วงพฤติกรรมของเด็กรุ่นใหม่ที่ติดมือถืออย่างหนัก เพราะฉะนั้นพ่อแม่ต้องใส่ใจและตระหนักอย่างจริงจังต่อเรื่องนี้
โดยปลูกฝังตั้งแต่เด็ก เริ่มจากความรัก ความใกล้ชิดของพ่อแม่ ที่จะเป็นปราการด่านแรกในการให้ลูกได้เรียนรู้และสัมผัสได้ถึงความรัก
ความห่วงใย หาทำกิจกรรมกับลูกอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่ใช้ไอแพท แท็บเลตเลี้ยงลูก ปล่อยให้ลูกเล่นอย่างไม่มีขอบเขตตอนเด็กติดงอมแงม และที่สำคัญพ่อแม่ต้องทำให้ได้ด้วย
ถ้าไม่อยากให้ลูกเป็นเด็กก้มหน้า พ่อแม่ก็ต้องไม่มัวแต่ก้มหน้าด้วย
คนเป็นพ่อแม่ยุคนี้อาจรู้สึกเหนื่อยหรือท้อแท้กับการดูแลลูก
เพราะมีสภาพแวดล้อมที่เข้ามาเป็นสิ่งเย้ายวนใจมากมายเหลือเกิน แต่เราก็ไม่อาจปฏิเสธปรากฏการณ์เหล่านี้ไปได้
เพราะฉะนั้น
เราต้องไม่ยอมให้เด็กๆกลายพันธุ์เป็น “เด็กก้มหน้า” และกลายเป็นเหยื่ออีกรายของโลกเทคโนโลยี หรือจะยอมปล่อยให้เป็นไปตามกฎวิวัฒนาการของชีวิต
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1012 ประจำวันที่ 16 - 22 มกราคม 2558)