ทดลองใช้สารชีวภาพกำจัด นักวิชาการชี้ ผลกระทบนิเวศ
“จอกหูหนู”
วิกฤตเขื่อนกิ่วลม ไม่สิ้นสุด
ยังแพร่เต็มอ่างเก็บน้ำอีกกว่า 1,000 ไร่ นายอำเภอและชาวแพหาแนวทางทดลองใช้สารชีวภาพกำจัด
ขณะที่นักวิชาการแนะไม่ควร เกรงเกิดผลกระทบระบบนิเวศ ขณะเดียวกันยังไม่สามารถหาต้นตอที่มาของการเกิดปัญหาได้
จาก
ธ.ค. 2556 จนเข้าสู่ ม.ค. 2558
จอกหูหนูยังคงทำหน้าที่ของมัน
ในฐานะ “เครื่องกีดขวางทางน้ำ” อย่างไม่แบ่งแยกว่าเจ้าของเรือ แพ
เหล่านั้นจะเป็นของใคร แต่หากเมื่อไหร่ก็ตามที่มันรวมตัวกันเป็น “กองทัพจอกหูหนู”
เมื่อนั้นใบพัดของเหล่าเรือยนต์อาจหัก จนต้องลอยเคว้งคว้างกลางน้ำก็เป็นได้
และในปัจจุบันจอกหูหนูก็กลายเป็น “กองทัพจอกหูหนู” อีกครั้ง
หลังจากการกำจัดครั้งล่าสุดที่ใช้งบประมาณไปกว่า 1 ล้านบาท
ที่นายฤทัย พัชรานุรักษ์ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา กล่าวว่า
“ได้กำจัดจนทำให้เรือสามารถเดินได้อีกครั้งแล้ว” เป็นพื้นที่กว่า 1,500 ไร่ที่ถูกกำจัด
การเริ่มต้นกำจัด
“กองทัพจอกหูหนู” โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลมได้ทำหน้าที่มาอย่างต่อเนื่องนานหลายเดือน
แต่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะสามารถแก้ปัญหาให้คลี่คลายได้ จึงได้เกิดการร่วมมือขึ้นในระดับจังหวัด
ระหว่างวันที่ 28 ต.ค.- 5 ธ.ค. 57
ภายใต้ชื่อโครงการ “เขื่อนสวย น้ำใส
คืนความสุขให้ประชาชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดลำปาง
เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระชนมายุ 87 พรรษา
5 ธ.ค.” โดยทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา
รับหน้าที่ตักจอกหูหนูขึ้นมาจากน้ำ ด้วยเครื่องตักวัชพืช แล้วสถานีพัฒนาที่ดิน
จ.ลำปาง จึงนำจอกหูหนูกว่า 1,000 ตัน
มาสาธิตการทำปุ๋ยหมักที่โรงเรียนเมืองมายวิทยา ต.บ้านแลง อ.เมือง จ.ลำปาง
พร้อมกับแผนการที่ต้องร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ของทั้ง 4 ตำบล ประกอบด้วย ต.บ้านแลง ต.ทุ่งฝาย ต.บุญนาคพัฒนา และ ต.บ้านสมเด็จ
เพื่อประสานงานและกระจายข่าวสารระหว่างประชาชนให้ทราบถึงข้อมูลที่สถานีพัฒนาที่ดินมาเผยแพร่ในแต่ละครั้ง
ล่าสุดวันที่
6 ม.ค.58ที่ผ่านมา ทีมงานลานนาโพสต์ย้อนกลับไปที่เขื่อนกิ่วลมเพื่อตรวจสอบหลังจากครบรอบ
1 ปี ที่ติดตามจอกหูหนู ยังพบว่าจอกหูหนูยังคงลอยทั่วผืนน้ำ ไม่ได้อยู่ในเขตไม้ไผ่ที่นำมากั้น
มีทั้งแบบที่ลอยอยู่กระจัดกระจาย และรวมตัวเป็น “กองทัพจอกหูหนู” ทางทีมงานได้นั่งเรือล่องขึ้นทางเหนือน้ำ
เขต ต.บ้านสา ผ่านห้วยฮ่อม ห้วยปู่เต้า ห้วยขอนยาง ห้วยป๋อ และห้วยคิ่ว
พบว่ามีจอกหูหนูกระจายอยู่เกือบทุกห้วย อีกทั้งบริเวณน้ำนิ่งบางแห่ง
อาจปรากฏทั้งคราบสีน้ำตาลและกลิ่นเหม็นที่ลอยมาเตะจมูก โดยเฉพาะบริเวณห้วยป๋อที่จอกหูหนูแน่นทุกตารางนิ้วจนดูเหมือนสนามฟุตบอล
ขณะที่สาเหตุของการแพร่พันธุ์อย่างไม่รู้จบยังคงเป็นปริศนา
หลายฝ่ายต่างร่วมกันคิดถึงเป้าหมายเพียงอย่างเดียว คือ การกำจัดจอกหูหนูให้หมดสิ้นไป
โดยไม่ได้มีการสืบหาว่าต้นตอที่มาของจอกหูหนูเกิดจากอะไร เมื่อสอบถาม นายเสรี
นาละออง ผู้ใหญ่บ้าน ม. 5 ต.บ้านสา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ว่าทราบหรือไม่ว่าจอกหูหนูในเขื่อนกิ่วลมเกิดขึ้นได้อย่างไร นายเสรี กล่าวว่า คิดว่าน่าจะแบ่ง 2 กรณีด้วยกัน “สมัยก่อนช่วงน้ำท่วม
ผมเคยเห็นว่ามันมีอยู่ในกระชังเลี้ยงปลาของชาวบ้าน แต่พอน้ำท่วมปี พ.ศ.2554
ก็เริ่มพบในเขื่อนกิ่วลม จนเพิ่งมาแพร่กระจายในช่วงหลัง
ส่วนสาเหตุอีกข้อ มาจากจำนวนหอยเชอร์รี่ในอ่างเก็บน้ำกิ่วลมลดลง
เพราะนกปากห่างจับหอยเชอร์รี่กินเป็นอาหาร ทำให้ระบบห่วงโซ่อาหารเสียสมดุล
เนื่องจากหอยเชอร์รี่กินจอกหูหนูเป็นอาหาร”
เช่นเดียวกันกับนายสันติ
นฤมิตร นายอำเภอแจ้ห่ม จ.ลำปาง ที่ได้กล่าวว่า ไม่ทราบเช่นกันว่าจอกหูหนูเกิดขึ้นได้อย่างไร
แต่ขณะนี้ก็ยังพบว่ามีการแพร่กระจายอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วเต็มผืนน้ำ
ซึ่งวิธีการใช้เรือตักวัชพืชน้ำไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันกับการแพร่กระจายของจอกหูหนู
จึงได้ช่วยกันหาแนวทางกำจัดวิธีอื่นที่น่าจะได้ผลคือ การใช้สารชีวภาพ เบื้องต้นจะนำสารดังกล่าวมาทดลองกับจอกหูหนูในวันที่
9 ม.ค. 2558 ว่าจะได้ผลมากน้อยเพียงใด
ซึ่งถ้าสารชีวภาพสามารถกำจัดจอกหูหนูได้จริง
จะเสนอไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางและประสานของบประมาณจาก บ. ปูนซิเมนต์ไทยลำปาง
โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งหมด 2 แสนบาท
ว่าที่ร้อยตรีดุจเดี่ยว
วงศ์ภักดิ์ เกษตรอำเภอแจ้ห่ม จ.ลำปาง กล่าวว่า
“ทางอำเภอจะนำวิธีการแก้ปัญหาวัชพืชน้ำ โดยนำตัวอย่างมาจากอ่างเก็บน้ำแม่ตีบ
จ.ลำพูน โดยใช้สารชีวภาพที่ซื้อจากจ.น่าน ซึ่งอาจฉีดสารชีวภาพลงไปในจอกหูหนูจำนวนมาก
คล้ายกับการทำให้ดินเค็มโดยการใส่ปุ๋ยที่มีธาตอาหารหลักอย่าง ไนโตรเจน โพแทสเซียม
และฟอสฟอรัส (N-P-K) มาก จนตายและฝ่อลงไปเอง ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาว่าการใช้สารชีวภาพจะมีผลกระทบกับระบบนิเวศหรือไม่
มากน้อยเพียงใด”
ด้าน
ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม และอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวถึงสถานการณ์ในปัจจุบันของจอกหูหนูที่เขื่อนกิ่วลม
กล่าวว่า
สาเหตุของการเกิดจอกหูหนูอาจสันนิษฐานได้ว่า มาจากทั้งการพัดพาของสายน้ำแล้วพัดพาจอกหูหนูจากที่อื่นมายังเขื่อนกิ่วลม
อีกทั้งในเขื่อนกิ่วลมอาจมีธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชจำนวนมาก
ซึ่งจำเป็นต้องนำตัวอย่างน้ำที่ในเขื่อนมาตรวจสอบหาค่าความผิดปกติเพื่อหาสาเหตุ
“หากจอกหูหนูไม่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่มาก่อน
แล้วเกิดการแพร่ระบาดขึ้น ในทางวิชาการถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติและควรพยายามหาสาเหตุให้พบ
เพราะใน จ.ลำปางมีความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยีและบุคลากรที่สามารถหาต้นตอของปัญหานี้ได้
เนื่องจากการตักจอกออกเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายทางเท่านั้นและไม่ทันต่อการขยายพันธุ์ของจอกหูหนูที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว”
ดร.สุรพลกล่าว และว่าอย่างไรก็ตามไม่ควรใช้ทั้งสารเคมีและสารชีวภาพในการกำจัดจอกหูหนู
เพราะสุดท้ายแล้ว สารเหล่านี้จะกลายเป็นสารตกค้างในสิ่งมีชีวิต อย่างเช่นปลา
ที่เป็นอาหารของมนุษย์จนสุดท้ายแล้วสารเหล่านั้นก็จะเข้ามาสะสมภายในตับของคน
อีก
ทั้ง
ดร.สุรพลยังเสนอแนวทางในการแก้ปัญหา “สนามฟุตบอลจอกหูหนู”
ในเขื่อนกิ่วลมว่ากล่าวว่า “ปัจจัยสำคัญในการกำจัดจอกหูหนู คือ
ทุกหน่วยงานของภาครัฐ ไม่เฉพาะสำนักงานเกษตรจังหวัดลำปาง
กับชลประทานเท่านั้นที่จะต้องรับผิดชอบ ทุกคนต้องหันมาจับมือร่วมกัน
โดยการสร้างแรงจูงใจให้กับคนในชุมชน
โดยอาจดูตัวอย่างที่จ.พะเยาโมเดลซึ่งใช้วิธีการกำจัดผักตบชวา
โดยที่ภาครัฐรับซื้อผักตบชวาจากชาวบ้านแล้วเปลี่ยนผักตบชวาให้กลายเป็นปุ๋ย
อินทรีย์”
นอกจากนี้ยังอาจนำจอกหูหนูมาเป็นอาหารให้ไส้เดือนเพื่อผลิตเป็นปุ๋ยไส้เดือน
ซึ่งใช้ระยะเวลาในการผลิตสั้นกว่าปุ๋ยหมักอย่างมาก
อีกทั้งยังนำไส้เดือนมาขายเป็นเหยื่อล่อปลาแก่บุคคลทั่วไปได้อีกด้วย
แม้
แต่นายพิทโยธร
ไวทยาวัฒน์ ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินลำปาง
ยังกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องการกำจัดจอกหูหนูอีกเช่นเดียวกันว่า
“ไม่ว่าอย่างไร ก็ไม่ควรใช้สารเคมีและสารชีวภาพกำจัดจอกหูหนูในเขื่อนกิ่วลม
เพราะหากจอกหูหนูเหล่านี้สลายตัวก็จะกลายเป็นตะกอนใต้น้ำ
และสุดท้ายก็จะกลายเป็นแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ที่ส่งผลต่อการเกิดของจอกหู
หนูอีก”
“อย่างน้อยปุ๋ยจากจอกหูหนูก็เหมาะสำหรับการปรับดินที่เสียหายจากการใช้สารเคมี
สามารถใช้บำรุงพืชจำพวกไม้ยืนต้นได้ แต่ไม่เหมาะสมสำหรับการหว่านบำรุงลงนาข้าว
เพราะต้องใช้ปริมาณมาก” ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินลำปางกล่าวถึงแนวทางการนำจอกหูหนูมาใช้ประโยชน์ว่า
คงต้องรอให้จอกหูหนูที่ทางสถานีพัฒนาที่ดินสาธิตวิธีการทำปุ๋ยที่โรงเรียนเมืองมาย
ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยแล้วส่งไปตรวจสอบเพื่อหาธาตุอาหารที่พืชต้องการเสียก่อน
แต่หากมีชาวบ้านคนไหนสนใจ สามารถรวมตัวกันแล้วให้หน่วยงานสอนได้” ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินลำปาง
กล่าว
ขณะนี้ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา
จำเป็นต้องหยุดกำจัดจอกหูหนูชั่วคราว โดยนายฤทัย พัชรานุรักษ์
ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลมกิ่วคอหมา กล่าวว่า เนื่องจากอยู่ในระหว่างการของบประมาณสำหรับการกำจัดในครั้งต่อไป
ซึ่งคาดว่าจะได้งบประมาณอีกครั้ง จำนวน 2 ล้านบาท ในเดือน มี.ค.-เม.ย. 2558
แล้วจึงเริ่มการกำจัดจอกหูหนูได้อีกครั้งหนึ่ง
แม้ว่าทางลานนาโพสต์เสนอข่าวเรื่องการแพร่ระบาดของจอกหูหนูตั้งแต่เดือน
ธ.ค. 2556
แต่หลายหน่วยงานกลับไม่ตื่นตัวในการแก้ปัญหาในระยะแรก จนกระทั่งจอกหูหนูลุกลามกลายเป็น
“สนามฟุตบอลลอยน้ำ” ส่งผลกระทบต่อทั้งชาวบ้านและสัตว์น้ำ
ทางภาครัฐที่ก็ยังคงต้องรอคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดจึงเริ่มปฏิบัติงานได้
ต่างจากจอกหูหนูที่ไม่เคยรอความเหมาะสมหรือคำขออนุญาตจากใครในการขยายพันธุ์
หากต้องรอการปฏิบัติงานอย่างหน่วยงานราชการด้วยระยะเวลา
1 ปีกว่า
สำหรับความพยายามในการแก้ปัญหาที่ไม่มีแม้แต่หน่วยงานใดมองหาสาเหตุของการเกิดการแพร่ระบาดของจอกหูหนูอย่างจริงจัง
เราอาจไม่มีโอกาสมองเห็นแม้แต่ผิวน้ำของเขื่อนกิ่วลมอีกครั้ง
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1011 ประจำวันที่ 9 - 15 มกราคม 2558)