วันเสาร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2558

ชี้ดินไหวบ่อย ปลดปล่อยพลังลดเสี่ยง



ผอ.ทรัพยากรธรณีเขต 1 ลำปางระบุการเกิดแผ่นดินไหวในภาคเหนือบ่อยครั้งเป็นเรื่องปกติที่รอยเลื่อนได้มีการปลดปล่อยพลัง  เท่ากับลดความเสี่ยงในการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่  ซึ่งประชาชนจะสามารถรับรู้การสั่นไหวได้ในระดับ 3 ริกเตอร์ขึ้นไป   เตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงควรมีความพร้อมในการรับมือภัยธรรมชาติชนิดนี้ตลอดเวลา ถึงแม้รอยเลื่อนจะมีการปลดปล่อยพลังก็ตาม

หลังจากที่เกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ จ.ลำปางติดต่อกัน 3 ครั้ง เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเมื่อวันที่ 19 ม.ค.58 เวลา 01.08 น. ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 2.9 ริกเตอร์ ที่ ต.เวียงมอก อ.เถิน  และวันเดียวกันเวลา 21.04 น. ขนาด 2.8 ริกเตอร์ ใกล้เคียงกับจุดแรก  และในวันที่ 21 ม.ค.58 เวลา 13.57 น.ได้เกิดขึ้นอีก ขนาด 2.3 ริกเตอร์ ในพื้นที่ อ.เถินเช่นกัน  ซึ่งการเกิดแผ่นดินไหวดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะเป็นอันตรายหรือไม่ เพราะที่ จ.ลำปาง ไม่ได้เกิดแผ่นดินไหวมานานแล้ว

ลานนาโพสต์ได้สอบถามไปยัง นายทินกร ทาทอง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 1 (ลำปาง) เปิดเผยว่า ช่วงนี้มีรายงานแผ่นดินไหวขนาดเล็ก เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือหลายจังหวัดรวมทั้ง ประเทศเพื่อนบ้านเช่นประเทศพม่า ซึ่งการรายงานการเกิดแผ่นดินไหว เป็นของสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ที่มีเครื่องมือสามารถตรวจจับแรงสั่นสะเทือนได้ โดยจะรายงานหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว ที่จุดนั้นๆประมาณ 5 นาที จากนั้นจะมีรายงานทางเว็บไซต์ของสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา  ซึ่งเดิมจะมีการรายงานข้อมูลแผ่นดินไหวตั้งแต่ 3 ริกเตอร์ขึ้นไป แต่ปัจจุบันได้เพิ่มการรายงานการเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็ก ต่ำกว่า 3 ริกเตอร์เข้ามาด้วย ประชาชนจึงคิดว่ามีการเกิดบ่อยขึ้น แต่ความจริงแล้วเป็นเรื่องปกติของการเกิดแผ่นดินไหวในภาคเหนือ เพราะภาคเหนือมีรอยเลื่อนที่มีพลังมากกว่าภาคอื่นๆ  โดยที่ จ.ลำปาง จะมีรอยเลื่อนพะเยาที่อยู่ทางเหนือของจังหวัด ส่วนทางใต้จะมีรอยเลื่อนเถิน และยังมีรอยเลื่อนอื่นๆที่อยู่ทั่วภาคเหนือ เช่น รอยเลื่อนแม่ทา จ.ลำพูน   รอยเลื่อนแม่จัน จ.เชียงราย  รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ เป็นต้น จึงทำให้เกิดการขยับตัวอยู่บ่อยครั้ง  ซึ่งการเกิดในปัจจุบันไม่ได้ต่างจากในอดีตแต่อย่างใด ประชาชนจะสามารถรับรู้การสั่นไหวของแผ่นดินไหวได้ในระดับ 3 ริกเตอร์ขึ้นไป อย่าได้ตื่นตระหนกกับการสั่นไหวขนาดเล็กที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง

ผอ.สำนักทรัพยากรธรณี เขต 1 กล่าวต่อไปว่า  ในทุกรอยเลื่อนถ้ามีการขยับตัวไปเรื่อยๆ คือการปลดปล่อยพลังออกมา ในรอยเลื่อนที่มีพลังแต่ไม่ค่อยขยับตัวก็จะมีการสะสมไว้ เมื่อปล่อยพลังออกมาครั้งหนึ่งก็อาจจะเกิดพลังที่ใหญ่กว่าปกติ คือ การเกิดแผ่นดินไหวค่อนข้างใหญ่  ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเป็นรอยเลื่อนขนาดเล็ก แต่เมื่อได้รับการดันมาจากแผ่นเปลือกโลกฝั่งตะวันตกก็จะมีการขยับตัวอยู่ตลอด ถ้ามีการปลดปล่อยพลังออกอยู่เรื่อยๆ การเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ก็จะลดลง  เช่นเดียวกับการเกิดแผ่นดินไหวที่ อ.เถิน เกิดขึ้นติดต่อกัน 3 ครั้ง ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็เป็นการปลดปล่อยพลังงานของรอยเลื่อนเถิน ซึ่งเป็นการเกิดเป็นประจำอยู่แล้ว ถ้ามีการปลดปล่อยโอกาสที่จะสะสมให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ก็จะลดลง ดังนั้น ก็จะมีความปลอดภัยมากขึ้น 

สำหรับการเฝ้าระวังการเกิดแผ่นดินไหว นายทินกร กล่าวว่า  ได้เฝ้าระวังทั้งภาคเหนือว่ารอยเลื่อนตรงไหนจะมีความผิดปกติเกิดขึ้น และแจ้งให้ชาวบ้านระมัดระวัง โดยเน้นเรื่องการสร้างความรู้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงภัย ถ้ามีการเตรียมความพร้อมความเสียหายที่เกิดก็จะลดลง  เมื่อ ทราบว่าตัวเองอยู่ในพื้นที่เสี่ยงก็ต้องก่อสร้างบ้านให้แข็งแรงมากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีสมัยนี้หาข้อมูลได้ง่ายมาก ซึ่งหลายหน่วยงานมีองค์ความรู้ในการก่อสร้างที่จะสามารถต้านทานแผ่นดินไหว ได้โดยที่ไม่ต้องเพิ่มงบประมาณมากมาย   ปัจจุบันการเกิดแผ่นดินไหวยังไม่สามารถที่จะรับรู้ล่วงหน้าได้ ประชาชนจะต้องมีความพร้อมตลอดเวลาในการรับมือหากเกิดเหตุ ขอให้ติดตามข่าวสารจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ซึ่งคาดหวังว่าในอนาคตทางวิทยาศาสตร์จะสามารถคิดค้นวิธีการในการการตรวจจับและรับรู้การเกิดแผ่นดินไหวล่วงหน้าได้. 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1014 ประจำวันที่ 30 มกราคม  -  5  กุมภาพันธ์ 2558)   
 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์