วันพุธที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

กาดหลักเมืองวิกฤต ท่อรั่ว-ลานจอดรถเหม็น



กาดหลักเมืองวิกฤติระบบท่อน้ำทิ้งรั่ว-อุดตัน ลานจอดชั้นใต้ดินส่งกลิ่นเหม็น เทศบาลฯยอมรับปัญหาเรื้อรังจากเหตุโครงสร้างอาคารไม่รองรับระบบระบายน้ำและสุขอนามัย เร่งงบ 5 แสน โครงการแก้ปัญหาด่วน

จากกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อโซเชียลและในกลุ่มประชาชนทั่วไป เกี่ยวกับปัญหาเรื่องความสะอาดและกลิ่นไม่พึงประสงค์ของตลาดเทศบาล 1 หรือตลาดออมสินเดิม  โดยล่าสุดมีประชาชนร้องเรียนกับผู้สื่อข่าวว่า ช่วงวันที่ 27-28 มกราคม 2558 เจ้าหน้าที่เทศบาลได้ดำเนินการล้างชั้นใต้ดินซึ่งเป็นลานจอดรถของเทศบาล ส่งผลให้มีกลิ่นเหม็นจากการชะล้างคลุ้งทั่วตลาด จนผู้ใช้บริการที่มาจับจ่ายตลาดทนแทบไม่ไหวกับกลิ่นเน่าเหม็นของท่อระบายน้ำ นอกจากนี้ลานจอดรถชั้นใต้ดิน มีปัญหาน้ำเสียรั่วออกจากท่อส่งน้ำเสียใต้เพดานไหลนองพื้น ส่งกลิ่นเหม็นและทำให้พื้นสกปรกไปด้วยน้ำเสีย เมื่อมีรถเข้าออกชั้นใต้ดินดังกล่าว จะส่งกลิ่นออกมาถึงด้านนอกถนนและโซนขายอาหารโต้รุ่งติดกับทางเข้าออกลานจอดรถ เสียบรรยากาศและขัดต่อสุขอนามัยอย่างมาก

ล่าสุดวันที่ 29 มกราคม 2558 นายแพทย์สุรทัศน์ พงศ์นิกร รองนายกเทศมนตรีนครลำปาง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ระดับบริหารและหัวหน้างานที่เกี่ยวข้องของเทศบาลนครลำปาง เข้าตรวจสอบพื้นที่บริเวณลานจอดรถและชั้นบนอาคารตลาดสดเทศบาล 1 พบว่า มีน้ำเสียรั่วจากท่อส่งจากน้ำทิ้งชั้น 1 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำจากโซนของสดและเขียงหมู โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดตลาดสดเทศบาลนครลำปาง ได้นำถังขยะสีเหลืองขนาดใหญ่มารองรับน้ำเสียที่รั่วไหลจากท่อ และยังมีน้ำขังที่คงค้างจากการล้างพื้นขังนองบางส่วนเนื่องจากระดับพื้นมีสภาพเป็นหลุมและมีลาดเทระบายน้ำลงสู่ท่อระบายได้สะดวก สภาพลานจอดรถจึงมีน้ำขังและส่งกลิ่นเหม็น ขณะที่สภาพพื้นที่โดยรวมโซนเขียงหมู มีเศษเนื้อสัตว์และน้ำมันจากการขายของสด ตกค้างบริเวณรางน้ำทิ้งและช่องระบายลงท่อส่งไปยังบ่อพัก สภาพค่อนข้างสกปรก ไม่ถูกสุขอนามัย

นายแพทย์สุรทัศน์ พงศ์นิกร รองนายกเทศมนตรีนครลำปาง  เผยว่า ปัญหาตลาดสดเทศบาล1 นี้เป็นปัญหาใหญ่ที่เทศบาลฯกำลังหาทางแก้ไข เนื่องจากมีปัจจัยหลายด้านเกี่ยวข้อง ประการแรกคือปัญหาโครงสร้างอาคารที่ออกแบบก่อสร้างไม่เหมาะสมและไม่เอื้ออำนวยต่อการจัดการด้านสุขอนามัย การจัดพื้นที่และมีระบบรางท่อที่ทำความสะอาดยาก เนื่องจากโครงสร้างโดยรวมไม่สามารถล้างพื้นชั้น 1 บริเวณโซนขายของสดได้ทั้งหมด  เพราะ หากล้างจะเกิดน้ำไหลนองไปพื้นที่โซนอื่น ขณะนี้เทศบาลฯกำลังเร่งงบประมาณกว่า 5 แสนบาท สำหรับโครงการปรับปรุงแก้ไขปัญหา โดยแก้ระบบระบายน้ำ และสร้างบ่อพักเพื่อรองรับน้ำเสียจากตลาดสดชั้น 1 เพิ่ม เพื่อให้สามารถระบายน้ำเสียลงบ่อพักได้รวดเร็วและมีความจุมากขึ้น ง่ายต่อการจัดการ และแก้ปัญหาน้ำเสียไหลลงพื้นลานจอดรถชั้นใต้ดินส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์ และอื่นๆ

“ตลาดสดเทศบาล1 เป็นจุดที่มีปัญหามากที่สุดที่เทศบาลหนักใจ และต้องยอมรับในคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการแก้ปัญหา เพราะมีความซับซ้อน และรากปัญหามาจากโครงสร้างอาคาร ถัดมาคือปัญหาเรื่องการจัดการเกี่ยวกับแม่ค้าที่ไม่ให้ความร่วมมือในการดูแลรักษาความสะอาด ผลักภาระให้เทศบาล ดังนั้นหากจะแก้ไขจริงๆ ต้องให้ความร่วมมือกันทุกฝ่ายว่าจะแก้ปัญหาตลาดนี้อย่างไร เช่น การจัดระบบใหม่หมด ซึ่งแม่ค้าต้องมีส่วนร่วมในการวางผังใหม่ ให้เอื้อต่อการจัดการด้านสุขอนามัย ซึ่งปัญหาเรื่องแม่ค้าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ต้องค่อยๆคุยกันเพราะแม่ค้าตลาดนี้มีหลายกลุ่ม และหมุนเวียนมาตลอด 24 ชม.ทำให้จัดระบบการจัดการลงตัวยาก หากไม่ได้รับความร่วมมือ จะใช้มาตรการทางระเบียบกฎหมายอย่างเดียวก็ไม่ได้เพราะจะเกิดปัญหากระทบกระทั่งกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับแม่ค้า ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหา”

เจ้าหน้าที่ฝ่ายทำความสะอาดตลาดสดเทศบาลระบุว่า ตลาดสดเทศบาล1 เป็นจุดที่มีปัญหาและเป็นภาระมากที่สุดเพราะต้องมีเจ้าหน้าที่หมุนเวียนทำความสะอาดตลอดวันเป็นระยะ เพราะมีแม่ค้าหมุนเวียนมาวันละหลายเจ้า บางรายให้ความร่วมมือ แต่บางรายอ้างว่าชำระค่าเช่าแผงแล้ว เทศบาลต้องเป็นผู้รับภาระดูแลความสะอาดและมักง่าย ทิ้งเศษผัก อาหารและน้ำทิ้งจากของสดที่ไม่ได้กรองลงท่อ ทำให้เกิดปัญหาอุดตัน ใช้จุลินทรีย์อีเอ็ม หรือเคมีอื่นๆแก้ปัญหากลิ่น ก็ยังไมได้ผลเพราะปริมาณน้ำทิ้งจากระบบมีตลอดทั้งวัน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการสอบถามประชาชนทั่วไปที่มาใช้บริการตลาดสดเทศบาล1 ยังคงมีความเห็นว่า ปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างตลาดหรืออื่นใด เป็นเรื่องที่เทศบาลนครลำปางจะต้องแสดงศักยภาพในการบริหารจัดการให้สมกับเป็นเทศบาลนคร เพราะจุดนี้จะเป็นจุดที่ประชาชนส่วนใหญ่มาใช้บริการและมีนักท่องเที่ยวเข้าถึงได้ หากตลาดยังเป็นสภาพสกปรกแบบนี้จะเสียภาพลักษณ์ต่อการบริการงานของเทศบาลและชื่อเสียงของจังหวัดลำปางอย่างแน่นอน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1014 ประจำวันที่ 30 มกราคม  -  5  กุมภาพันธ์ 2558)   

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์