วันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ลุงใจร้าย



 ปฏิกริยาหลังจาก หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเสนอข่าว และหัวข่าว คดีข่มขืน กระทำชำเราเด็กหญิงอายุ 3  ขวบ ด้วยถ้อยคำภาษาคล้ายโบยตีซ้ำผู้ประสบเคราะห์กรรม หนักหน่วง รุนแรง และกว้างขวางยิ่ง

จากลำปาง ไปยังแวดวงสถาบันนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคระดับประเทศ จนกระทั่งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  องค์กรกำกับ ควบคุมจริยธรรมสื่อ และที่สุดย้อนเป็นบูมเมอแรงมาที่ สมาคมผู้สื่อข่าวจังหวัดลำปาง ที่คนหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นสังกัดอยู่ 

คำถามสำคัญในระบบการแข่งขันแบบเสรี ก็คือ นี่เป็นสิ่งที่ผิดด้วยหรือ สำหรับหนังสือพิมพ์ที่อยู่ในตลาดมายาวนาน ได้รับการตอบรับจากคนอ่านท่วมท้น และพวกเขาก็เลือกแนวทางในการเสนอข่าวเช่นนี้ เพราะพิสูจน์แล้วว่า ขายได้ และเขาอยู่ได้

แต่กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ก็ต้องตอบคำถามในฐานะ ที่ทำมาหากินอยู่บนพื้นที่สาธารณะเช่นกันว่า การใช้เสรีภาพที่กระทบต่อบุคคลอื่น ทำให้เขารู้สึกอับอาย เสียหาย และตอกย้ำตราบาปในหัวใจของเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆคนหนึ่งนั้น เป็นการกระทำที่สมควรหรือไม่
           
หัวข่าว ที่เลือกใช้คำไม่ต่างจากถ้อยคำในหนังสือโป๊ในตลาดล่าง เพียงเพื่อตอบสนองความสะใจของคนทำ เป็นความสำคัญผิดหรือไม่ว่า คนอ่านต้องการอ่านข่าวเช่นนี้  ผู้ลงประกาศโฆษณา ยินดีที่จะสนับสนุนแนวทางเช่นนี้ 

แน่นอนว่า ไม่เพียงหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เท่านั้น แต่ยังมีหนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับในต่างจังหวัด ทั้งในลำปางและจังหวัดอื่นๆ ยังมีความเชื่อว่าการเสนอข่าวเร้าอารมณ์ ข่าวชาวบ้าน ข่าวที่มุ่งตอบรับสัญชาติญาณความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ คือวัตรปฎิบัติที่กระทำได้เป็นปกติ พวกเขาต่างเรียกตัวเองว่า “มืออาชีพ” คุยคำโตถึงประสบการณ์การทำงานข่าวมานับสิบๆปี เสนอตัวเป็นทางเลือกใหม่สำหรับข้อมูลข่าวสาร มีทรัพย์สินเงินทอง อาคารสำนักงาน พร้อมทุกสิ่ง มีเพียงสิ่งเดียวที่ขาดหายไป คือ..

ความรับผิดชอบ !

มีคนถามว่า หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ทำผิดจริยธรรม ข้อใด ถือเป็นนานาสังวาส คือเป็นสิทธิที่เขาจะคิด จะทำอย่างอิสระตามใจตัวเองได้หรือไม่

คำตอบคือ ถ้าเขาขายเต้าฮวย หรือทำอาชีพอื่นๆ ก็คงไม่เป็นประเด็น แต่การทำอาชีพสื่อมวลชน คืออาชีพที่ต้องหากินอยู่บนพื้นที่สาธารณะ จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับสังคม และผู้คนมากมาย ถ้าเขาใช้พื้นที่สาธารณะนี้ไปโดยขาดความใคร่ครวญ ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อคนอื่นแล้ว ความเสียหายก็จะมีมากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ

หลักการสำคัญที่ หนังสือพิมพ์ภายใต้สังกัดสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จะต้องยึดมั่น คือ ต้องให้ความคุ้มครองอย่างเคร่งครัดต่อสิทธิมนุษยชนของเด็ก ต้องไม่ซ้ำเติมความทุกข์หรือโศกนาฎกรรมอันเกิดแก่เด็กและครอบครัวของเขา นอกจากนั้นจะต้องไม่แต่งเติมเนื้อหาสาระของข่าว จนคลาดเคลื่อนหรือเกินจากความเป็นจริง  

หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ยังเสนอภาพตาของเด็ก และภาพด้านหลังของเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ แม้จะไม่เห็นหน้าเด็กชัดเจน  แต่การโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชน หรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิอื่นใดของเด็ก แปลว่า ถ้าเห็นภาพแล้วรู้ว่าเด็กเป็นใคร ก็ถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท

สรุปคือผิดทั้งกฎหมายและจริยธรรม

ในแง่กฎหมายนั้น ผู้ปกครอง หรือผู้แทนโดยชอบธรรม อาจแจ้งความดำเนินคดีผู้กระทำผิด หรือขอให้ฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความจังหวัดลำปาง ดำเนินการให้ เพื่อให้เป็นคดีตัวอย่างสำหรับหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ

ส่วนเรื่องจริยธรรม เนื่องจากหนังสือพิมพ์ที่กระทำผิดไม่ได้องค์กรสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จึงเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของสมาคมผู้สื่อข่าวจังหวัดลำปาง เป็นเรื่องที่ท้าทายและทดสอบความกล้าหาญทางจริยธรรมของผู้นำองค์กรสื่อของจังหวัด ในการยืนยันมาตรฐานการทำงานที่มีความรับผิดชอบ และการทำงานอย่างมืออาชีพ

คนในแวดวงสื่อทั้งประเทศ กำลังเฝ้ามองว่า สมาคมผู้สื่อข่าวลำปาง จะทำอย่างไรกับ “ลุงใจร้าย” คนนี้



Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์