วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2558

กฟผ.จ่าย49ล. ชี้สนามกอล์ฟ-สวนฯไม่รื้อ



ผู้บริหาร กฟผ.แม่เมาะ เร่งดำเนินการตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ระบุสนามกอล์ฟและสวนพฤกษชาติ ไม่ได้อยู่ในขุมเหมือง แต่เป็นจุดที่ทิ้งดิน  ในส่วนที่เป็นขุมเหมืองได้มีการถมไปแล้วบางส่วน ขณะเดียวกันการจ่ายเงินค่าชดเชย ได้วางเงินให้ศาลแล้ว 49 ล้านบาท

หลังจากศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาคดีที่กลุ่มชาวบ้านจำนวน 318 คน ได้ยื่นฟ้องเกี่ยวกับกรณีที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแม่เมาะ ละเลย ไม่ปฏิบัติตามวิธีการทำเหมืองแร่ และเงื่อนไขแนบท้ายประทานบัตร และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA  ไม่ถูกต้อง  กระทั่งศาลมีคำสั่งให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแม่เมาะ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยถมดินกลับไปในบ่อเหมืองให้มากที่สุดและให้ปลูกป่าทดแทน เฉพาะในส่วนที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแม่เมาะ นำพื้นที่ที่ต้องฟื้นฟูขุมเหมืองไปทำเป็นสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ  และจะต้องดำเนินการภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา 

นับจากวันที่ศาลได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ ระยะเวลาผ่านไปแล้วกว่า 30 วัน ซึ่งทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแม่เมาะได้เร่งดำเนินการตามคำสั่งศาลอย่างเต็มที่และมีความคืบหน้าไปมาก  พร้อมกับชี้แจงว่าไม่ได้มีการรื้อสนามกอล์ฟตามที่มีการนำเสนอข่าวออกไปแต่อย่างใด

นายถาวร งามกนกวรรณ  ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ   กล่าวว่า ทางเราไม่ได้นิ่งเฉยและมีการดำเนินการมาตลอด หลังจากมีคำพิพากษา กพร.ก็ได้นัดประชุมแล้วสองครั้ง กับหน่วยราชการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหน่วยควบคุมมลพิษ กรมป่าไม้  สผ.  อุตสาหกรรมจังหวัด รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีการตั้งหน่วยงานดังกล่าวมาตรวจสอบพื้นที่ขุมเหมือง พื้นที่สนามกอล์ฟ และพื้นที่ปลูกป่าว่าเป็นอย่างไร   การที่สื่อได้นำเสนอข่าวออกไปอาจ จะผิดพลาด ศาลไม่ได้สั่งให้รื้อหรือปิดสนามกอล์ฟ ในขณะเดียวกันเรื่องนี้หลังจากตรวจสอบแล้ว อธิบดีท่านพูดเองว่าพื้นที่ขุมเหมือง พื้นที่สนามกอล์ฟ และพื้นที่สวนพฤกษชาติ มีการแยกออกจากกันอย่างชัดเจน ถ้าหากไปดูในคำพิพากษาศาล จะทราบว่าให้ฟื้นฟูขุมเหมืองให้เป็นธรรมชาติ ในขณะเดียวกันก็ให้ปลูกป่าทดแทน ส่วนพื้นที่สนามกอล์ฟปัจจุบันจะเป็นพื้นที่ทิ้งดินที่ขุดขึ้นมาจากเหมือง ซึ่งทาง กฟผ.ได้ปรับพื้นที่ให้เป็นสถานที่พักผ่อนตามแผนฟื้นฟูสภาพเหมืองของ กฟผ.ที่จะใช้พื้นที่ 3 เปอร์เซ็นต์ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของพนักงาน และประชาชนทั่วไป

นายถาวร กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของผู้ฟ้อง ทาง กฟผ.ไม่เคยมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม เรามองว่าเป็นคนลำปาง เเละเป็นคนไทยที่เราต้องดูแลเหมือนกัน ไม่ได้ทอดทิ้งเลย อย่างเช่น คุณมะลิวรรณ กับผมต่างก็รู้จักกันดี เราคุยกันไม่ยากและเป็นคนไทยเช่นเดียวกัน ในขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหลายร้อยชีวิตที่มีความผูกพันกับสนามกอล์ฟและสวนพฤกษชาติ เพราะเป็นอาชีพหลักและแหล่งรายได้เลี้ยงครอบครัวขอพวกเขา ทำให้คนกลุ่มนี้ ต้องไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม ที่ศูนย์ดำรงธรรม ศาลากลางจังหวัด

ส่วนการติดตั้งม่านน้ำ ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ กล่าวว่า รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA มีอยู่ 3 ชุด โดยชุดที่ 3 ที่ผู้ฟ้องได้ยื่นฟ้อง มีพื้นที่อยู่ติดกับหมู่บ้านห้วยคิง เเละใน EIA ชุดนี้มีการระบุการติดตั้งม่านน้ำ รวมถึงทางด้านเหนือระหว่างบ้านหัวฝาย ซึ่งในตอนนั้นเราได้ติดตั้งทั้ง 2 แห่ง ประมาณ 800เมตร เพราะการทำเหมืองอาจมีฝุ่นละออง และปลูกต้นไม้ระหว่างม่านน้ำด้วย แต่พอเวลาผ่านไปต้นไม้สูงกว่าม่านน้ำ ซึ่งเราได้ปลูกเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ซึ่งมองว่าบางมาตรการที่ทำนั้นดีกว่ามาตรการเดิมจึงขอเปลี่ยนแปลง ทางคณะกรรมการก็เห็นชอบ สรุปคือถ้าจะติดตั้งม่านน้ำก็ไม่ได้เสียเวลามาก แต่ถ้าติดตั้งแล้วไม่เกิดประโยชน์ น่านำเงินส่วนนี้ไปช่วยชาวบ้านดีกว่า ตอนนี้มีต้นไม้ที่มีความสูงเหนือเสาไฟสามารถป้องกันฝุ่นกันเสียงได้ดีกว่าม่านน้ำเสียอีก เพราะม่านน้ำเป็นมาตรการเก่า โดยทาง กฟผ.ทำเรื่องถึงอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่แล้ว ถ้าอธิบดีมีการอนุญาตเป็นหนังสือตามที่ศาลสั่งมา ก็สามารถใช้มาตรการที่ขอเปลี่ยนแปลงได้เลย ซึ่งทางต้นไม้ที่ปลูกแทนม่านน้ำได้มีการพิสูจน์แล้ว ทางผู้ชำนาญการ เห็นด้วยว่าดีกว่า โดยได้ยื่นขอเปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่ปี 2540

และอยากให้เข้าใจว่า กฟผ.ทำเหมืองควบคู่ไปกับการปลูกป่าทดแทน เเละต้นไม้ก็ขยายเพิ่มมากขึ้นทุกปี เรามีแผนทำอยู่แล้วแบบต่อเนื่องหลาย10ปีมาแล้ว ถ้าพูดถึงขุมเหมืองคือบริเวณที่เราขุดดินขุดถ่าน และนำดินที่ขุดไปถมเป็นภูเขาเทียม หากถามว่าพื้นที่ขุมเหมืองเราจะฟื้นฟูเมื่อไร เราจะฟื้นฟูเมื่อเราขุดถ่านออกจนหมดแล้ว ซึ่งปัจจุบันเราก็ได้มีการทำบางส่วนแล้ว   ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ กล่าว

เมื่อสอบถามถึงกรณีคำสั่งศาลวันที่ 25 ก.พ. 58 ที่สั่งจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือผู้ป่วยมีความคืบหน้าอย่างไร  นายถาวร กล่าวว่า ทาง กฟผ.ได้มีการวางเงินค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยให้กับศาลไปแล้ว เมื่อวันที่ 13 มี.ค.58 ที่ผ่านมา จำนวน 49 ล้านบาทเศษ ซึ่งอยู่ระหว่างรอให้ศาลนัดผู้ฟ้องคดีแต่ละรายมารับเงิน ในส่วนของเรื่องการดูแลเรื่องสุขภาพของชาวบ้านนั้น กฟผ.มีเเพทย์เคลื่อนที่ที่จะออกตรวจ และทางกลุ่มกิจกรรมพัฒนาของสมาคมแม่เมาะจะมีเงินในการดูแลเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือกองทุนพัฒนาไฟฟ้าซึ่งมีคณะกรรมการอยู่ที่มีการดูแลทั้งเรื่องการศึกษา เรื่องสุขภาพ สาธารณูปโภค เรื่องอาชีพ โดยมีตัวแทนของชาวบ้านเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ
ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับการตัดสินคดีดังกล่าว รู้สึกโล่งใจที่คดีนี้จบสิ้นลงแล้ว  ท้ายที่สุดแล้วการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแม่เมาะ ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของคนแม่เมาะ คนลำปาง และคนไทยตลอดไป
 
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1021  ประจำวันที่ 20 – 26  มีนาคม 2558)

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์