ท่ามกลางเสียงกรีดปีกของเหล่าแมลงฤดูร้อน
และเสียงแตกกรอบแกรบของใบไม้แห้ง ๆ ใต้เท้าของเรา โมเดลแมลงชนิดต่าง ๆ ที่ถูกจัดวางอยู่ตรงนั้นตรงนี้
เรียกความสนใจและรอยยิ้มให้คนที่เพิ่งเข้ามาใน “บ้านแมลง” ครั้งแรกได้ไม่น้อย

ศูนย์วิจัยกีฏวิทยาป่าไม้ที่
1 ลำปาง สังกัดสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ
สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทั้งนี้ ในประเทศไทยมีศูนย์วิจัยกีฏวิทยาป่าไม้ทั้งหมด 3
ศูนย์ โดยศูนย์ฯ ลำปางได้รับการจัดตั้งเป็นแห่งแรก ส่วนศูนย์ฯ ที่ 2
อยู่ที่จังหวัดขอนแก่น และศูนย์ฯ ที่ 3 จังหวัดจันทบุรี
ศูนย์วิจัยกีฏวิทยาป่าไม้ที่
1 ลำปาง มีภารกิจหลักด้านการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับงานด้านแมลงป่าไม้
โดยเฉพาะการศึกษาด้านชีววิทยา
การเพาะเลี้ยงแมลงหายากและแมลงที่ได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
พ.ศ. 2535
ทว่าแรกเริ่มเดิมทีเน้นไปที่การปราบแมลงเป็นส่วนใหญ่


ที่น่าตื่นตาตื่นใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ
เหล่าแมลงและผีเสื้อสตัฟฟ์ที่อยู่ในอาคารด้านหลัง ซึ่งรวบรวมความเป็น “ที่สุด” ไว้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแมลงตัวจิ๋วที่สุด ที่ถึงกับต้องใช้แว่นขยายส่อง
หรือแมลงตัวหนักที่สุด นอกจากนี้ ยังมีด้วงมีเขานานาชนิด และเหล่าผีเสื้อสตัฟฟ์
ซึ่งในจำนวนนี้ มีผีเสื้อสมิงเชียงดาวที่ถูกระบุว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว
เนื่องจากไม่พบมากว่า 30 ปี
ในส่วนของคุ้มผีเสื้อเป็นการเลี้ยงแบบเปิด
โดยเราไม่อาจคาดหวังได้ว่าจะเห็นผีเสื้อชนิดใดบ้าง แต่นี่คือแนวคิดที่ไม่ใช่การกักขังความงาม
ผีเสื้อควรได้โบยบินอย่างอิสระ นั่นเหมาะสมแล้ว

สำหรับบ้านแมลงลำปาง
โลกแห่งการเรียนรู้ใบนี้อาจไม่ได้ดูทันสมัย เป็นระบบระเบียบเนี้ยบไปเสียทุกอย่าง หากเทียบกับการดำเนินงานแบบเอกชน
แต่ที่นี่อบอวลไปด้วยความเป็นกันเอง เราจะเห็นความตั้งอกตั้งใจของเจ้าหน้าที่ทุกคน
ตั้งแต่วิทยากรนำชมในวัน-เวลาราชการ และวิทยากรจำเป็นในวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ล้วนแล้วแต่เต็มอกเต็มใจให้บริการเสมอ
.........................
บ้านแมลงลำปาง
เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 นาฬิกา โดยมีวิทยากรนำชมเฉพาะวันและเวลาราชการ
ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์เปิดให้เข้าชม แต่อาจไม่มีวิทยากร
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1021 ประจำวันที่ 20 – 26 มีนาคม 2558)