วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2558

สันลมจอยแตกไลน์ธุรกิจ สร้างฟาร์มม้าครบวงจร



ม้าเป็นของสัญลักษณ์เมืองลำปาง ตามชื่อที่ถูกขนานนามว่าเป็น “เมืองรถม้า” ฟาร์มม้าสันลมจอย บนพื้นที่ 300 ไร่ ติดถนน ลำปาง-เชียงใหม่ ต.ปงยางคก อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ถือเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ ที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ม้าสายพันธุ์ต่างๆ เพื่อรองรับความต้องการม้าเพื่อใช้ในกิจการรถม้าและม้าเลี้ยงเพื่อการแข่งขัน และการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ  นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งผลิตรถม้าครบวงจรเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

เถลิง ต๊ะวิชัย เจ้าของฟาร์มสันลมจอย เล่าว่า ฟาร์มแห่งนี้เกิดจากความรักและชอบด้านปศุสัตว์ เป็นการส่วนตัว โดยเริ่มต้นทำฟาร์มโคเนื้อร่วม 10 ปี แต่ยังมีพื้นที่ฟาร์มเหลืออีกมาก ประกอบกับกลุ่มคนเลี้ยงม้าที่รู้จักกัน ได้คุยกันเรื่องการทำฟาร์มม้าสำหรับวงการรถม้าและการท่องเที่ยวและกีฬา  จึงตัดสินใจขยายพื้นที่ส่วนที่เหลือเป็นฟาร์มม้า และศูนย์หัตถกรรมรถม้าครบวงจร เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ควบคู่ไปกับงานปศุสัตว์ และกำลังมีแผนจะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดลำปาง

“ผมเป็นคนลำปางโดยกำเนิด เมื่อเติบโตมาก็ไปทำธุรกิจด้านวิศวกรรมในอุตสาหกรรมมันและก๊าซ ที่ชลบุรี แต่ด้วยความชอบและสนใจงานด้านปศุสัตว์ ก็ใช้เวลาว่างจากธุรกิจหลักมาทำฟาร์มวัว (โคเนื้อ) ประมาณ 100 ตัว เลี้ยงแพะเนื้อประมาณ 50-100ตัว ซึ่งก็เป็นธุรกิจเล็กๆที่มีความสุข ขยายโครงการมาทำฟาร์มม้า เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาก็ยิ่งทำให้ผมค้นพบว่า ม้าที่ดี คือมีลักษณะดี สุขภาพดี สวยงาม เป็นที่ต้องการของวงการรถม้าและการท่องเที่ยวและกีฬาทั่วไป เมื่อเรามีความเชี่ยวชาญและพันธมิตรด้านปศุสัตว์ที่หลากหลายเป็นทุนเดิม เราก็สามารถเพาะพันธุ์ม้า ระหว่างสายพันธุ์ดีต่างประเทศกับสายพันธุ์พื้นเมืองให้เป็นม้าที่มีลักษณะเหมาะสมกับการใช้งานที่หลากหลาย มีมาตรฐานปศุสัตว์ ขณะนี้มีม้าในฟาร์ม ราว 70 ตัว แต่เหนือกว่านั้น เราเป็นศูนย์กลางของการแลกเปลี่ยนด้านการเลี้ยง การดูแลสุขภาพม้าในภาคเหนือด้วย”

เมื่อลำปางเป็นเมืองรถม้า นอกจากมีกลุ่มคนเลี้ยงม้าแล้ว ยังมีกลุ่มคนที่มีทักษะในการผลิตรถม้าด้วย พื้นที่อาคารเลี้ยงม้าจึงถูกแบ่งให้เป็นโรงงานเล็กๆสำหรับหัตถกรรมรถม้า ที่ผนวกงานฝีมือจากภูมิปัญญารุ่นบรรพบุรุษมาถึงรุ่นลูกหลาน กับงานด้านวิศวกรรมจากเครื่องมือที่ทันสมัยเข้าด้วยกันอย่างลงตัว และจุดเด่นของการผลิตรถม้าที่นี่ คือรถม้าสไตล์คาวบอยที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ

“แม้ฟาร์มม้าที่นี่ ยังถือว่าเป็นโครงการเล็กๆที่ไม่ได้มุ่งหวังเป็นเชิงธุรกิจมากมายนัก แต่เป็นพื้นที่ของแลกเปลี่ยนพัฒนาสายพันธ์ม้า ในอนาคตจะเป็นเหมือนเป็นคลินิกม้า และยังเป็นพื้นที่การฟูมฟักอาชีพผลิตรถม้า เรื่องการตลาดนั้นผมยังพอมีช่องทางเพราะมีเพื่อนในธุรกิจมากมายทั้งคนไทยและ ชาวต่างประเทศที่ชื่นชอบสไตล์คาวบอย ดังนั้น การตลาดหัตถกรรมรถม้าเราจึงสร้างความโดดเด่นเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการผลิตรถม้าทั่วไป คือการผลิตรถม้าแบบคาวบอย ซึ่งกำหลังเป็นที่ต้องการของตลาดกลุ่มคนที่ชอบแต่งบ้าน และในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว รถม้า 1 คันราคา 50,000-60,000 บาทใช้เวลาผลิตประมาณ 1 เดือน ในระยะ 2 ปี ขายไปแล้วประมาณ 20 คัน และความต้องการตลาดยังมีอีกมากและเราจะก้าวสู่ตลาดตลาดยุโรปและอเมริกาใน อนาคต”  เจ้าของฟาร์มเล่าไปพร้อมกับรอยยิ้มที่มีความหวัง

สุรกิจ เสาร์ใจ ผู้จัดการฟาร์มสันลมจอย ลูกลำปางที่อยู่กับวิถีชีวิตรถม้ามากตั้งแต่เด็ก เล่าว่า ม้าเป็นหัวใจสำคัญและเป็นชีวิตของธุรกิจรถม้า ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของลำปางมายาวนาน และการผลิตรถม้าก็ จิตใจของจุดเริ่มต้นของฟาร์มสันลมจอย คือการอนุรักษ์รถม้า อีกรูปแบบหนึ่ง ที่เน้นความเป็นรูปธรรม คือเพาะพันธ์ม้า การแลกเปลี่ยนเรื่องปัญหาการเลี้ยงและสุขภาพม้า ไปจนถึงซ่อมแซมรถม้า และผลิตรถม้าขายเป็นเชิงธุรกิจ

“งานผลิตรถม้าเป็นทักษะเฉพาะที่ส่งช่วงต่อ มาถึงคนรุ่นหลังน้อยเต็มที ช่างหรือ สล่าที่มีผีมือบางอย่าง เช่น งานผลิตวงจากไม้ก็หาคนทำยากมาก โรงงานเล็กๆที่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการสานต่อภูมิปัญญาสู่คนรุ่นใหม่ นี่นี่จึงเป็นเหมือนชุมชนเล็กๆที่เป็นบ้านของคนรักม้า และเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เรามีเพื่อนที่รักม้ามาเยี่ยมเยือน เป็นพันมิตรแลกเปลี่ยนกัน มีชาวต่างประเทศหลายคนที่มีความรู้เรื่องม้าเข้ามาแบ่งปันในเรื่องที่เราไม่ รู้ ทำให้เราเป็นศูนย์กลางที่มีศักยภาพ” ผู้จัดการฟาร์มสันลมจอยกล่าว

จากการบอกเล่าของเจ้าของและผู้จัดการฟาร์ม ระบุว่า หลังจากนี้จะเริ่มว่างแผนและค่อยๆพัฒนาให้ ฟาร์มม้าสันลมจอย เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เปิดกว้างให้นักท่องเที่ยวเข้ามาชมบรรยากาศของการ เลี้ยงม้า รวมไปถึงกิจกรรมขี่ม้า และกระบวนการผลิตรถม้าที่หาดูได้ยาก โดยจะต้องจัดผังและรูปแบบของพื้นที่ฟาร์มให้เป็นสัดส่วนเอื้อต่อการท่อง เที่ยวโดยไม่มีผลกระทบต่อระบบอนามัยปศุสัตว์  แบ่งพื้นที่ด้านหน้าฟาร์มเป็นร้านอาหาร และกาแฟแบบคาวบอย ชมแปลงปลูกผักปลอดสารพิษ ชิมผลไม้ท้องถิ่นหายากของภาคเหนือ ไปจนถึงการพักแคมป์ และจัดเลี้ยงนอกสถานที่แบบคาวบอย เป็นสีสันและทางเลือกของของการท่องเที่ยวของเมืองลำปาง ให้คนต่างบ้านได้มาสัมผัสวิถีคนเลี้ยงม้า ให้สมกับการมาเยือน"ลำปางเมืองรถม้า" ในอนาคตอันใกล้นี้
 
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1021  ประจำวันที่ 20 – 26  มีนาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์