วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2558

มาตรา 44 เผด็จการในผ้าคลุมประชาธิปไตย

ครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ 4 ภาค รวมทั้งภาคเหนือ ซึ่งบรรณาธิการลานนาโพสต์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้ประกาศสนับสนุนมาตรา 44 ด้วยตรรกะที่ผิดเพี้ยนไปจากหลักการเสรีภาพของสื่อ ซึ่งก็หมายถึงเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น
           
ไม่ว่า หัวหน้า คสช.จะใช้อำนาจนี้หรือไม่ จะใช้อย่างไร ก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะหัวใจของเรื่องนี้อยู่ที่การใช้อำนาจพิเศษในรัฐธรรมนูญ หลังการปฎิวัติ ซึ่งในเชิงวิชาการ นั่นคืออำนาจเผด็จการเต็มรูปแบบ และไม่ควรมีอยู่อย่างเด็ดขาด ไม่เกี่ยวกับประเด็นว่าจะมีการใช้หรือไม่
           
เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ยกเลิกการประกาศใช้ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2475 คล้ายกับว่าเส้นเชือกที่มัดผู้คนทั้งหลายในหมู่บ้านประเทศไทยถูกคลายออก เนื่องเพราะกฎอัยการศึกนั้น ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไว้อย่างกว้างขวางโดยยกเว้นขั้นตอนปกติ ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตั้งแต่การจับกุม คุมขัง ตรวจค้น  ห้าม
           
แต่เมื่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เลือกใช้การสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งเรียกว่าเป็น อำนาจพิเศษ ของหัวหน้าคณะปฏิวัติ นับจากรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2502 คำถามก็เกิดขึ้น
           
แน่นอนว่า อำนาจตามมาตรา 44 คงไม่ได้ใช้ไปสั่งประหารชีวิตใคร เช่น ยุคจอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์ และน่าจะพอเห็นแนวทางสร้างสรรค์ได้บ้าง เมื่อพูดถึงการใช้อำนาจไปเร่งแก้ปัญหา กรมการบินพลเรือนไม่ผ่านมาตรฐาน ไอซีเอโอ การแก้ปัญหาสลากแพง  แต่ตรรกะที่ว่า  เมื่อมีกฎหมายใช้บังคับแล้ว จะใช้ในขอบเขตเท่าที่จำเป็น  ไม่เกินเลยหรือหนักไปกว่าเก่า ก็ไม่ใช่หลักประกันว่าจะไม่ใช้ โดยเฉพาะในภาวะอารมณ์แปรปรวนของคนใช้ ที่ยังไม่เห็นใครสักคนจะทัดทานได้
           
หากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พอเข้าใจภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไปบ้าง  ก็คงไม่ไปเสียเวลาต่อยตี หรือต่อล้อต่อเถียง กับนักข่าวที่เขาต้องถาม ต้องสัมภาษณ์ตามหน้าที่ หรือไปใส่ใจกับการพาดหัวข่าวของสื่อต่างประเทศ ที่เป็นเพียงฟองอากาศเล็กๆในมหาสมุทรข่าวสารที่กว้างใหญ่
           
วิธีที่จะทำให้ภาวะอารมณ์เย็นลง ก็คือการให้สัมภาษณ์นักข่าวน้อยลง หรือตอบคำถามเฉพาะประเด็นที่ตอบได้ ถึงนาทีนี้แม้ผู้คนจำนวนหนึ่งอยากจะยกป้าย ออกไปๆ ใจจะขาด ด้วยความรำคาญใจในบทบาทท่าทีที่ค่อนข้างสาระน้อยของท่าน แต่ผมเชื่อว่า ต้นทุนความดีงาม ที่ท่านได้เสียสละมานำพาให้บ้านเมืองนี้ผ่านพ้นวิกฤติความขัดแย้ง จนใกล้จะเป็นรวันดาแห่งที่ 2  ก็ยังมีมากพอจะประคองให้พล.อ.ประยุทธ์ ได้ทำหน้าที่สมความตั้งใจจนกว่าจะถึงวันลงจากหลังเสือ
           
จากเดือนสิงหาคม 2557 ที่มีการสถาปนารัฐบาล คสช. จนถึงวันนี้  9  เดือน ถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีราคาคุณงามความดีที่สังคมไทยไม่สมควรลืมเลือน แม้ว่า สถาบันคนดีทั้งหลาย ที่พยายามแสดงราคาการเป็นแบบอย่างของคนดี มีคุณธรรม เช่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะแปดเปื้อนมัวหมองไปบ้าง จากการลากลูก ลากเมีย ลากโคตรเหง้าวงศ์ตระกูล มากินเงินเดือนราษฎร โดยไม่ละอายใจ แต่ก็พอทำความเข้าใจได้ในระบบอุปถัมภ์แบบไทยๆ ที่ถือพวกเป็นใหญ่ ความรู้ ความสามารถเป็นรอง
           
ว่ากันโดยหลักการ อำนาจพิเศษทั้งหลายในรัฐธรรมนูญหลังการปฏิวัติ เช่น มาตรา 17 ในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  มาตรา 21 สมัยรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร จนกระทั่งมาตรา 44 ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือสัญลักษณ์ของการใช้อำนาจเผด็จการ แม้จะถูกห่อหุ้มด้วยรัฐธรรมนูญที่เป็นเครื่องหมายของประชาธิปไตย การใช้อำนาจเช่นนี้ไม่ว่าจะอธิบายว่าอย่างไร ก็เรียกได้ว่าเป็นอำนาจเผด็จการทั้งสิ้น
           
แต่แน่นอน ในบริบททางสังคมที่แตกต่างกันแต่ละยุค พวกที่อิงแอบเผด็จการ ก็อาจมีชุดคำอธิบายที่ฟังแล้วเข้าใจง่าย คือถ้าไม่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามสามารถปลุกปั่น สร้างความเสียหายรุนแรง สร้างความแตกแยกขัดแย้งในสังคมจนไม่สามารถใช้เครื่องมือปกติจัดการได้ 
           
การให้อำนาจหรือดาบอาญาสิทธิ์กับบุคคลในการระงับเหตุอย่างฉับพลันทันทีจึงมีความจำเป็น  แต่ในทางตรงกันข้าม มีอำนาจพิเศษแล้ว มีกฎอัยการศึกแล้ว มีเงินทุนมีทุกสิ่งที่ต้องการแล้ว ก็ยังไม่สามารถลดทอนความขัดแย้ง หรือเหตุรุนแรงได้ เช่นในสถานการณ์ภาคใต้ หรือในใจกลางมหานคร ที่ฝ่ายต่อต้านก็ยังปล่อยของ ออกมารบกวนสมาธิผู้นำได้เป็นระยะ นี่จะเรียกว่าอะไร
           
อย่าไปใส่ใจสื่อให้มากนัก นักข่าวในภาคสนามเขามีหน้าที่ถาม และส่งข่าวเข้าไปในสำนักงาน การจัดการพาดหัวข่าว การให้น้ำหนักกับประเด็นข่าว ที่ส่งผ่านออกไปในช่องทางต่างๆ เป็นเรื่องของฝ่ายบริหารข่าว และอาจรวมทั้งนโยบายข่าวที่ท่านผู้นำ ว่าจะเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด เพราะแต่ละคนต่างก็มีแผลและมีเบื้องหลัง นี่ก็จะเป็นการให้ความสำคัญกับสื่อมากเกินไป จนถึงขนาดต้องใช้วิธีตาต่อตา ฟันต่อฟัน
           
ยกเว้นนายสมัคร สุนทรเวช ตลอดชีวิต 40 ปีของการเป็นคนข่าวการเมือง ผมยังไม่เคยเห็นนายกรัฐมนตรีคนใดสนใจมาต่อยตีกับสื่อเยี่ยงนี้
 
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1024 วันที่ 10 – 23 เมษายน 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์