วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2558

ก่อนการสูญหายของสายอาชีพ



สมศักดิ์ อินบุญส่ง

อาชีพ : ถีบสามล้อ
           
บ้านหลังน้อยในซอยแคบ ๆ ดูร่มรื่น สะอาดสะอ้าน มีรถสามล้อคู่ใจจอดอยู่อย่างสงบเสงี่ยม บอกให้รู้ว่า นี่คงเป็นบ้านของ สมศักดิ์ อินบุญส่ง หรือที่ใคร ๆ เรียกกันว่า ลุงหล่า
           
ลุงหล่าคือคนถีบสามล้อที่เหลืออยู่เพียงคนเดียวในย่านหัวเวียง และน่าจะเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่เหลืออยู่ในเมืองลำปาง ทุกวันนี้ ลุงหล่ามีอาการกระดูกทับเส้น ซึ่งบั่นทอนให้การถีบสามล้อเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงไม่ได้ออกรับจ้างทั่วไปเหมือนเมื่อก่อน จะรับก็เพียงลูกค้าประจำที่โทรศัพท์มาว่าจ้างให้ไปส่งใกล้ๆเท่านั้น โดยส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุที่พอใจจะไปถึงจุดหมายอย่างไม่เร่งรีบ
           
เมื่อก่อนยังรับ-ส่งเด็กนักเรียนโรงเรียนอนุบาลลำปาง พอโตขึ้นเขาก็ไม่นั่งสามล้อแล้ว เขาอายเพื่อนๆ เวลาไปส่งก็ให้ลุงไปจอดไกลๆ เขาบอกว่าจะเดินเข้าโรงเรียนเอง ถึงเวลาไปรับก็ให้เราจอดอยู่ตรงโน้น... ลุงหล่าเล่าอย่างอารมณ์ดี
           
ลุงหล่าในวัย 75 ปี ถีบสามล้อมาไม่ต่ำกว่า 30 ปีแล้ว ยุคนั้นเมืองลำปางมีเพียงพาหนะรับจ้างอย่างรถสามล้อถีบและรถม้า ลุงหล่าจะเช่ารถกับเถ้าแก่วันละ 5 บาท ส่วนอัตราค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 5 บาท โดยส่วนใหญ่รถสามล้อถีบจะไปจอดกันอยู่ที่ห้าแยกประตูชัย ซึ่งเป็นชุมทางรถโดยสารจากทุกสารทิศ นอกจากนี้ คนถีบสามล้อยุคนั้น ยังต้องใส่เครื่องแบบ อันประกอบด้วยชุดเสื้อ-กางเกงขาสั้นสีน้ำตาล รองเท้าหุ้มส้น และหมวก โดยทุกคันจะมีป้ายทะเบียน เมื่อทำผิดกฎจราจร ตำรวจจะยึดเบาะรถไว้ ไปเสียค่าปรับเมื่อไรจึงจะคืนเบาะให้
           
สมัยนั้นรายได้วันละ 30 บาทนี่หรูแล้ว ชายสูงวัยย้อนความหลัง รายได้งาม ๆ ทำให้ลุงหล่าตัดสินใจผ่อนรถสามล้อถีบเองวันละ 20 บาท ผ่อน 11 เดือนก็หมด ได้รถเป็นของตนเอง ซึ่งก็กลายมาเป็นรถคู่ใจที่จอดอยู่หน้าบ้านในวันนี้
           
รถสามล้อของลุงหล่ามีป้ายเล็กๆ พร้อมข้อความ วันไชย โรงเลี้ยงเด็ก ถนนบำรุงเมือง พระนคร แม้จะไม่ได้ออกไปโลดแล่นบนถนนเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็ยังทำเงินให้ลุงหล่าอยู่บ้างจากการไปจอดโชว์ตามงานต่างๆ แม้กระทั่งงานกีฬาสีของเด็กๆ
           
มีคนมาขอซื้อหลายคนครับ ผมไม่ขาย สงสารมัน แม้เราจะไม่รวย แต่ก็พออยู่พอกิน ทุกวันนี้ก็ได้อาศัยมันนี่แหละ มือที่ลูบไปมา บวกกับสภาพที่ยังดูสมบูรณ์ บ่งบอกให้รู้ว่าชายชรารักรถคันนี้มากแค่ไหน
           
ใครๆก็คิดว่ามันถีบง่าย ไม่ง่ายนะครับ มันจะเอียงซ้าย เอียงขวา ไม่ตรง แล้วเบรกนี่อยู่ตรงเท้าซ้าย เบรกมือไม่มี เลี้ยวเร็วไปก็คว่ำเลย ลุงหล่าหัวเราะชอบใจที่ใครๆก็มักจะมาขอลองถีบ แล้วก็พบว่า มันไม่ได้ถีบง่ายดังใจคิด
           
ทุกวันนี้ ลุงหล่าเองก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเหลือเรี่ยวแรงถีบสามล้อไปอีกนานแค่ไหน คงน่าเสียดายไม่น้อย หากพาหนะชนิดหนึ่งจะหายไปจากท้องถนน พาหนะที่จะว่าไปแล้ว ไม่มีพิษไม่มีภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

บัวน้อย ศรีแสง
อาชีพ : ทำหม้อห้อมย้อมมือโบราณบ้านบ่อแฮ้ว
           
หากบ้านทุ่งโฮ้ง เมืองแพร่ ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตผ้าหม้อห้อมแหล่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บ้านบ่อแฮ้ว เมืองลำปาง อาจได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตผ้าหม้อห้อมแหล่งเล็กที่สุด เพราะที่นี่ไม่ใช่โรงงาน แต่เปรียบดังแกลเลอรีที่ผลิตงานศิลปะตามแต่ใจของศิลปิน
           
กลุ่มหม้อห้อมย้อมมือโบราณบ้านบ่อแฮ้วไม่ได้ขึ้นชื่อในเรื่องความใหญ่โตของขนาดอุตสาหกรรม แต่บรรดาลูกค้าประจำกลุ่มเล็กๆต่างรู้ดีว่า นี่คืองานทำมือในทุกขั้นตอน และแน่นอน มันย่อมมีคุณค่ามากมายนัก
           
บัวน้อย ศรีแสง วัย 75 ปี นั่งอยู่ในบ้าน หญิงชราผู้สวมเสื้อคลุมหม้อห้อมปักลายดอกไม้กระจิริด กำลังสาละวนกับการตระเตรียมเสื้อหม้อห้อมเพื่อส่งให้ทันตามออเดอร์
           
ช่วงเทศกาลจะขายดีหน่อยค่ะ ส่วนวันธรรมดาก็มีลูกค้าประจำมาซื้อบ้าง แม่บัวน้อยพูดขณะคลี่เสื้อหม้อห้อมที่บ่งบอกถึงความประณีตในการตัดเย็บ การย้อม และการปักลายดอกไม้ไล่โทนสีอย่างงดงาม จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่เห็นเมื่อไรก็จำได้ว่าเป็นของแม่บัวน้อย
           
น่าใจหายเมื่อได้รู้ว่าบ้านบ่อแฮ้วเคยเป็นแหล่งผลิตผ้าหม้อห้อมที่ทำกันแทบทุกหลังคาเรือน สมัยก่อนหมู่บ้านเราเคยมีเสื้อหม้อห้อมตากกันเป็นพันๆตัว เดี๋ยวนี้เหลือแม่ทำอยู่คนเดียว
           
พื้นเพของแม่บัวน้อยเป็นคนเมืองพะเยา แต่ออกเรือนและย้ายมาอยู่กับสามีที่บ้านบ่อแฮ้วเมื่อปี พ.ศ. 2509 ทันได้เห็นยุคที่หม้อห้อมบ้านบ่อแฮ้วรุ่งเรืองเฟื่องฟู ซึ่งแม่บัวน้อยก็ได้เรียนรู้ภูมิปัญญาเหล่านี้จากแม่สามี คือ คุณทวดอ้ม ศรีแสง และสืบทอดการทำหม้อห้อมย้อมมือโบราณมานับตั้งแต่นั้น
           
เมื่อก่อนชาวบ้านแถวนี้ใส่เสื้อหม้อห้อมไปทำไร่ทำนา ช่วงสงกรานต์ผู้ชายจะใส่เสื้อกุยเฮง กางเกงสะดอ หรือไม่ก็เชิ้ต ส่วนผู้หญิงใส่เสื้อแขนยาว หม้อห้อมเราขายดีมาก ส่งไปขายถึงฝาง แม่อาย ที่เชียงใหม่ ฝากส่งทางรถโดยสาร จากนั้นจะมีเกวียนมารับต่อ
           
จากยุคที่เสื้อหม้อห้อมตัวละ 12 บาท ทุกวันนี้ราคาอยู่ที่ตัวละ 200 บาท สวนทางกับความนิยมที่ลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ เพราะคนส่วนใหญ่คิดว่าพวกเขาต้องจ่ายแพงเกินไป ขณะที่เสื้อสมัยใหม่มีเยอะแยะ โดยลืมนึกไปถึงคุณค่าว่านี่คืองานทำมือแท้ๆ แต่ละตัวถูกผลิตขึ้นมาอย่างใส่ใจ ไม่ใช่ผ่านกระบวนอุตสาหกรรมแบบเน้นปริมาณเข้าว่า
           
กระบวนการทำเสื้อหม้อห้อมเริ่มที่แม่บัวน้อย ซึ่งจะออกแบบ ตัดเย็บเสื้อ-กางเกงด้วยตนเอง จากนั้นส่งไปเย็บกับช่างเย็บผ้า เมื่อเสร็จแม่บัวน้อยจะนำมาถักรังดุมเอง แล้วจึงเข้าสู่ขั้นตอนย้อมผ้าในน้ำหม้อห้อม จากนั้นนำผ้ามาลงแป้ง ส่งโรงงานซักผ้า ก่อนจะนำผ้าส่งให้ช่างปักลวดลายดอกไม้ด้วยมือ
           
ในโรงย้อมหม้อห้อมระอุอ้าว อบอวลไปด้วยกลิ่นครามอันเป็นเอกลักษณ์ น้ำหม้อห้อมข้นคลั่กสีครามเข้มสงบนิ่งอยู่ในโอ่งมังกรเรียงรายกว่า 40 โอ่ง
           
น้ำหม้อห้อมทำจากครามสกัดสำเร็จรูป ปูนขาว โซดาซักผ้า มะขามเปียก น้ำอ้อย และขมิ้น แม่บัวน้อยอธิบาย

กระบวนการย้อมผ้าด้วยมือแบบโบราณ เริ่มด้วยการนำผ้าที่แช่น้ำจนนิ่ม มาจุ่มลงในน้ำหม้อห้อม ขยำสัก 5 นาที ตากแดดจนแห้ง แล้วก็นำมาจุ่มในหม้ออีก ทำแบบเดิมซ้ำๆกัน 15 ครั้ง

หม้อห้อมที่ย้อมด้วยมือจะทำให้สีเข้าเนื้อผ้าดีกว่าการใช้เครื่องจักร ผ้าของเราจะคงทน ยิ่งซักก็ยิ่งสวย แม่บัวน้อยเชื้อเชิญให้เข้าบ้าน พลางเปิดตู้บิลต์อินแบบโบราณ ในนั้นมีเสื้อหม้อห้อมสวยๆจัดวางอย่างเป็นระเบียบ

หญิงชราถือผ้าแต่ละชิ้นออกมาอย่างทะนุถนอม ราวกับมันคือสมบัติล้ำค่า ก่อนจะบรรจงคลี่ออก เผยให้เห็นงานฝีมือที่น่าภาคภูมิใจหลากหลายรูปแบบ

แม่รักของแม่แบบนี้ ลูกชายก็ขอให้หยุดทำ เพราะเราอายุมากแล้ว รายได้ก็ใช่ว่าจะเป็นกอบเป็นกำ บางคืนนอนไม่หลับ ครุ่นคิดเสียดายโรงหม้อห้อม แม่บัวน้อยถอนหายใจถ้าเราตายใครจะสืบทอด เสียงนั้นล่องลอยท่ามกลางกองเสื้อหม้อห้อม เป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบจากบ้านบ่อแฮ้ว

กมลชัย   รัตนมณีอุดมเดช
อาชีพ : ครูสอนพิมพ์ดีด
           
เครื่องพิมพ์ดีด Olympia และ Olivetti กว่า 40 เครื่อง ตั้งเรียงรายอยู่ในห้องแถวคูหาเดียวย่านวัดน้ำล้อม หากเป็นเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน ที่นี่คงดังก้องไปด้วยเสียงพิมพ์ดีดของเหล่านักเรียนที่มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การสอบเข้ารับราชการ ทหาร ตำรวจ ไปจนถึงพนักงานบริษัท แต่ในวันนี้ภายในห้องกลับดูเวิ้งว้าง ไร้ความเคลื่อนไหวใดๆ มีเพียงเครื่องพิมพ์ดีดเก่าคร่ำที่ยังคงตั้งอยู่บนโต๊ะไม้เหมือนเช่นเดิม กับชายชราวัยใกล้ 70 ปี ตรงโต๊ะประจำตำแหน่งครูผู้สอน
           
ปี พ.ศ. 2519 กมลชัย  รัตนมณีอุดมเดช ตัดสินใจเปิดโรงเรียนกมลชัยพิมพ์ดีด  ย่านวัดน้ำล้อม ควบคู่ไปกับการรับราชการครู ด้วยเล็งเห็นถึงลู่ทางสดใสของธุรกิจโรงเรียนสอนพิมพ์ดีด ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในตอนนั้น ถึงกับเปิดสาขาที่อำเภองาว อำเภอแจ้ห่ม และอำเภอแม่ทะอีกด้วย
           
เมื่อก่อนในการสอบเข้าทำงานจะมีการกำหนดเลยว่า ต้องพิมพ์ดีดทั้งไทย-อังกฤษให้ได้นาทีละ 45 คำ จึงจะผ่าน ลุงกมลชัยเล่า การจะเปิดโรงเรียนสอนพิมพ์ดีดจะต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ ที่นี่เรารับนักเรียนรอบละ 40 คน เรียนวันละ 1 ชั่วโมง เลือกช่วงเวลาได้ตั้งแต่แปดโมงเช้าจนถึงสองทุ่ม ค่าเรียนเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือนจึงจะจบหลักสูตร ลุงกมลชัยอธิบายอย่างละเอียด
           
คนเยอะมากๆ เลยครับ อดีตครูสอนพิมพ์ดีดเน้นเสียง ทั่วเมืองลำปางนี่มีไม่รู้กี่แห่ง ก่อนผมเปิดก็มีอยู่แล้วหลายโรงเรียน  ผมทุ่มเททั้งกาย วาจา ใจ ให้นักเรียนเต็มที่ ผมเลยเป็นครูที่ค่อนข้างเข้มงวด ลุงกมลชัยหัวเราะเบาๆพลางชี้มือไปยังตรอกวัดน้ำล้อมที่อยู่ฝั่งตรงข้าม บางคนแฟนมายืนรออยู่ในตรอกโน่น ผมบอกเขาเลยว่า ตั้งใจเรียนนะ อย่าไปตั้งใจรักอย่างเดียว
           
ครั้นเมื่อโลกเข้าสู่ยุคคอมพิวเตอร์ มันคือวิกฤตของโรงเรียนสอนพิมพ์ดีดอย่างแท้จริง สิบกว่าปีมานี้ โรงเรียนสอนพิมพ์ดีดทั่วเมืองลำปางทยอยปิดกิจการลง ที่ยังเปิดสอนอยู่ก็เห็นจะมีแต่โรงเรียนกมลชัยพิมพ์ดีดเท่านั้น แม้ทุกวันนี้จะมีนักเรียนไม่ถึง 10 คน แต่ลุงกมลชัยก็ยังยืนยันที่จะเปิดสอนต่อไปเรื่อยๆตราบใดที่ยังมีนักเรียนมาเรียนกันอยู่
           
ส่วนใหญ่เขามาเรียนเพื่อเป็นพื้นฐานในการเรียนคอมพิวเตอร์ต่อไป ไม่ได้เรียนจนจบหลักสูตรเหมือนสมัยก่อน ลุงกมลชัยโคลงศีรษะ คอมฯ มันพิมพ์ได้ แต่มันสัมผัสไม่ได้นะครับ ไม่เหมือนพิมพ์ดีด พอพิมพ์เป็นแล้ว คุณไม่ต้องดูแป้นพิมพ์เลย คอมฯ ยังทำให้สายตาเสียด้วย
           
ใกล้เที่ยง ถนนหน้าโรงเรียนคลาคล่ำไปด้วยรถรา ชายชราเร่งทำเทียนสืบชะตาให้ทันเวลาที่ลูกค้าจะมารับ นี่คืออาชีพเสริมของลุงกมลชัยในวันที่ห้องเรียนปราศจากเสียงพิมพ์ดีดระรัว แบบฝึกหัดกองพะเนินอยู่บนตู้เอกสาร
           
ผมภูมิใจที่มีส่วนทำให้หลายๆคนได้ทำงานอย่างที่เขาฝันไว้ หลายคนตอนนี้มีหน้าที่การงานใหญ่โต มันเป็นความสุขเล็กๆของคนที่เป็นครูทุกคนน่ะครับ ลุงกมลชัยกล่าวทิ้งท้าย
 
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1024 วันที่ 10 – 23 เมษายน 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์