วันจันทร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2558

อพยพแม่เมาะ หนึ่งปีไร้บ้านผู้ว่าฯขีดเส้น6เดือนได้ที่



แผนอพยพราษฎรแม่เมาะ  5 หมู่บ้าน ตามมติ ครม. 15 ตุลาคม 2556 ผ่านไป 1 ปีไม่คืบหน้า  ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง สั่งตั้งคณะทำงานชุดใหม่ ดึงมืออาชีพเข้าร่วม ลงพื้นที่สำรวจทรัพย์สินชาวบ้าน 1,458 หลังคาเรือน และขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน


นายมงคล สุกใส รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง  เปิดเผยว่า  กรณีราษฎร 5 หมู่บ้านในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ประกอบด้วย บ้านห้วยคิง หมู่ที่ 6  ตำบลแม่เมาะ, บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 1 บ้านดง หมู่ที่ 2 บ้านสวนป่าแม่เมาะ หมู่ที่ 7 และบ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านดง  จำนวน 1,458 ครัวเรือน ร้องเรียนขออพยพหมู่บ้านเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองของโรงไฟฟ้าแม่เมาะลำปาง คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556 โดยให้ให้ กฟผ. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักด้านงบประมาณจำนวน 2,970.5 ล้านบาท เวลาผ่านไป 1 ปี การดำเนินการไม่มีความคืบหน้าเพราะบริษัทที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยว่าจ้างให้ไปสำรวจทรัพย์สินของชาวบ้านสำรวจได้เพียง 19 หลังคาเรือน และทิ้งงานไป ทำให้ทุกอย่างต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่

นายมงคล กล่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางได้มีคำสั่งยกเลิกคณะกรรมการชุดเก่า ตั้งคณะทำงานขึ้นมาใหม่ 5 ชุด โดยให้ชุดที่หนึ่ง รับผิดชอบ บ้านห้วยคิง 476 ครัวเรือน ชุดที่สอง บ้านหัวฝาย 301 ครัวเรือน ชุดที่สาม บ้านดง 206 ครัวเรือน ชุดที่สี่ บ้านสวนป่าแม่เมาะ 217 ครัวเรือน ชุดที่ห้า บ้านหัวฝายไหล่ทุ่ง 258 ครัวเรือน โดยใช้วิธีการตามแนวทางที่รัฐบาลได้กำหนดไว้สำหรับการชดเชยการสร้างเขื่อน ของกรมชลประทานซึ่งเป็นมืออาชีพในการทำเรื่องค่าชดเชยราษฎร  คณะทำงานทั้ง 5 ชุด จะเริ่มลงพื้นที่สำรวจตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนเป็นต้นไป สำรวจที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง อาคารบ้านเรือน ต้นไม้ หรือ สัตว์เลี้ยงที่มีอยู่ก่อน 24 พฤศจิกายน 2557  ให้แล้วเสร็จภายใน 30 มิถุนายน 2558 หากไม่เสร็จก็จะขยายเวลาออกไปอีก 90 วัน ทุกอย่างจะต้องแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนกันยายน

รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า เมื่อสำรวจบัญชีสำรวจทรัพย์สินและค่าชดเชยเสร็จทั้งหมดจะส่งให้คณะกรรมการระดับอำเภอ ซึ่งมีนายอำเภอเป็นประธาน มี กฟผ. และตัวแทนราษฎรแต่ละหมู่บ้าน ช่วยกันตรวจสอบ จากนั้นจะนำไปติดประกาศในชุมชนทั้ง 5 ชุมชน หากไม่มีการทักท้วงเพิ่มเติม แสดงว่าราษฎร 5 หมู่บ้านยืนยันตามนั้น คณะกรรมการระดับอำเภอก็จะรายงานคณะกรรมการอำนวยการระดับจังหวัดให้ความเห็นชอบ สุดท้ายคณะกรรมการจังหวัดก็จะอนุมัติบัญชีและส่งให้การไฟฟ้าฝ่ายลิตแห่งประเทศไทยจ่ายเงินชดเชยให้กับราษฎรทั้งหมด

ในส่วนการเตรียมที่ดินปลายทางรองรับการอพยพราษฎร 5 หมู่บ้าน แบ่งเป็น 3 แปลง แปลงที่ 1 เนื้อที่ 160 ไร่ อยู่บริเวณบ้านท่าสี  ตำบลบ้านดง ใช้สำหรับสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เฟือง เพื่อนำน้ำมาหล่อเลี้ยงที่แปลงที่ 2 และ 3 ที่จะให้เป็นที่อยู่อาศัย โดยได้ส่งเรื่องขอใช้พื้นที่ทั้งหมดนี้จากกรมป่าไม้แล้ว คาดว่าอีก 2 - 3 เดือนน่าจะอนุมัติ ส่วนแปลงที่ 2 เนื้อที่ทั้งหมด 1,407 ไร่ อยู่บริเวณบ้านท่าสี เพื่อจะรองรับราษฎรตำบลบ้านดง 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 1 บ้านดง หมู่ที่ 2 บ้านสวนป่าแม่เมาะ หมูที่ 7 และบ้านหัวฝายไหล่ทุ่ง หมู่ที่ 8 ซึ่งเป็นพื้นที่ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้รอการอนุมัติเช่นกัน แปลงสุดท้ายอีก 688 ไร่ อยู่ที่บ้านเมาะหลวง ตำบลแม่เมาะ หมู่ที่ 8 พื้นที่รองรับราษฎรบ้านห้วยคิง 400 กว่าหลังคาเรือน ซึ่งอยู่ในเขต พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 และ พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ราษฎรทั้งหมดร้องขออพยพเอง โดยไม่มีการบังคับ มีเพียง 190  ครัวเรือนที่ขออยู่ที่เดิม จังหวัดลำปางจึงต้องเร่งดำเนินให้ราษฎรได้อพยพ ตามมติ ครม. เพราะ มติคณะรัฐมนตรีถือเป็นการบริหารราชการแผ่นดินขององค์คณะผู้บริหารราชการแผ่นดิน หน่วยงาน และองค์กรในระดับล่างจำเป็นต้องปฏิบัติตามไม่ว่าจะเป็นใครก็แล้วแต่ การไม่ปฏิบัติตามก็จะมีบทลงโทษตามที่กฎหมายเขียนไว้

ถ้า เราสามารถใช้เวลา 6 เดือนจากนี้ทำ 2 เรื่อง คู่ขนานกัน ทั้งการสำรวจทรัพย์สินของราษฎร์ และขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้คิดว่าในเรื่องการก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐานซึ่งมีงบประมาณอยู่แล้วการใช้งบประมาณต้องเป็นไปตามหลักการ ด้วยความโปร่งใสและสุจริต สำหรับพื้นที่ของครัวเรือนที่ยืนยันไม่ต้องการขออพยพ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหาบริการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการพื้นฐานดัง กล่าวให้กับครัวเรือนในพื้นที่ต่อไปตามสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนพึงได้รับจาก ภาครัฐ   นายมงคลกล่าว
 
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1023   ประจำวันที่ 3 - 9  เมษายน  2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์