วันจันทร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2558

ชี้ชะตาโรงไฟฟ้าขยะ ลงมติ26เมษา



นายก อบต.บ่อแฮ้วกำหนดประชามติโรงไฟฟ้าขยะแล้ว วันที่ 26 เม.ย.58  ขณะที่ชาวบ้านหวั่นถูกลักไก่ แห่ไปเฝ้าห้องประชุม ร.ร.เขลางค์นคร แต่ปรากฏว่าไม่มีหน่วยงานใดเข้ามา  ตัวแทนชาวบ้านเผยหากไปตั้งที่บ้านใครก็ต้องต่อต้าน ยันไม่คัดค้านโรงไฟฟ้าขยะ แต่ขอให้ออกไปตั้งนอกพื้นที่  ด้านนักวิชาการแนะต้องคุยกันให้ได้เพื่อหาทางออกที่ดี
           
เมื่อวันที่ 29 มี.ค.58 ที่ผ่านมา ตั้งแต่ช่วงเช้า กลุ่มชาวบ้านป่าเหียง หมู่ 1 ต.บ่อแฮ้ว อ.เมือง จ.ลำปาง ประมาณ 1,000 คน ได้แต่งชุดดำรวมตัวกันเดินทางไปที่โรงเรียนเขลางค์นคร หลังจากที่มีข่าวว่าทางบริษัท วีพีเอ็น แอนด์ ไซมิสทริค จำกัด จะเข้ามาทำประชามติในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ในวันดังกล่าว  โดยชาวบ้านได้เดินทางไปนั่งรอหน้าห้องประชุม ซึ่งได้มีการจัดโต๊ะและเก้าอี้เตรียมไว้ในห้องเรียบร้อยแล้ว แต่ได้นั่งรอไปถึงครึ่งวันก็ยังไม่มีใครเดินทางมาประชุมแต่อย่างใด มีเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหาร เข้ามาดูแลความเรียบร้อย ชาวบ้านจึงได้เดินทางกลับกันอย่างสงบ  แต่ปรากฏว่าในช่วงบ่าย กลุ่มชาวบ้านต้องเดินทางกลับมาที่ห้องประชุมอีกครั้ง เนื่องจากมีการแจ้งข่าวว่าจะมีการทำประชามติกันในเวลา 15.00 น.  แต่เมื่อมาถึงก็ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาเช่นเดิม มีนายเอกสิทธิ์ มานะรุ่งโรจน์  หรือทนายโจ้ เข้ามาให้ความรู้เรื่องกฎหมายแก่ชาวบ้านเท่านั้น โดยบรรยากาศในห้องประชุม ชาวบ้านต่างโห่ร้องยกมือทำสัญลักษณ์กากบาท ไม่เอาโรงไฟฟ้าขยะ
           
นายพยุงศักดิ์ อัคราเกื้อกูล  อาจารย์คณะวิศวกรรม มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนาเชียงใหม่  เป็นตัวแทนชาวบ้านป่าเหียง กล่าวว่า ในตอนนี้ชาวบ้านยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ เนื่องจากอีกฝ่ายก็ยังเงียบอยู่ การที่ชาวบ้านเดินทางไปที่ ร.ร.เขลางค์นครเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมานั้น เพราะมีข่าวมาว่าทาง อบต.บ่อแฮ้ว ขอใช้สถานที่ทำประชามติไว้ เมื่อสอบถามไปทางผู้บริหารโรงเรียนก็แจ้งว่า ยังไม่ได้มีการยกเลิกมาจึงจัดโต๊ะเก้าอี้เตรียมไว้  ชาวบ้านจึงพากันไปนั่งรออยู่ครึ่งวัน แต่ก็ไม่มีหน่วยงานหรือบริษัทเข้ามา จึงพากันกลับ แต่ก็มีเจ้าหน้าที่แต่งเครื่องแบบทหารเข้ามาพูดคุยอีกว่าจะมีการทำประชามติในเวลา 15.00 น. ชาวบ้านเลยได้พากันกลับมาที่โรงเรียนอีกครั้ง แต่ก็ไม่มีใครเข้ามาเหมือนเดิม ก็เท่ากับชาวบ้านโดนหลอก แต่ไม่เป็นไรเพราะถือว่าได้ปกป้องสิทธิของตัวเอง  และในตอนนี้ได้ข่าวมาว่าจะมีการทำประชามติในวันที่ 26 เม.ย.58 ที่สถาบันพลศึกษา แต่ยังไม่เห็นหนังสือที่ชัดเจน
           
เมื่อสอบถามถึงกระแสคนภายนอกที่มองว่าโรงไฟฟ้าขยะมีประโยชน์ แต่ชาวบ้านกลับออกมาคัดค้าน  นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า  ถ้ามองในมิติของประโยชน์ ยอมรับว่ามีประโยชน์จริง ชาวบ้านไมได้ขัดขวาง เพราะได้กำจัดขยะที่ล้นประเทศ แต่ตอนนี้ลำปางไม่ได้มีปัญหาขยะล้นเมือง ถ้าเทียบกับเชียงใหม่ยังพบว่าเชียงใหม่มีปัญหามากกว่า ในการจะนำโรงไฟฟ้าเข้ามามีเทคโนโลยีที่ดีจริง ต่างประเทศก็มีหลายประเทศ ถ้าบริษัทเปิดเผยเรื่องเทคโนโลยีที่แท้จริงก็อาจพอรับได้ แต่สิ่งที่บริษัทนำมาเสนอเป็นแค่เตาเผาขยะ ที่จะเกิดมลภาวะ เกิดผลเสียต่อชาวบ้าน งบประมาณ 1,600 ล้านบาทต้องสร้างเตาถึง 3 เตา ก็เท่ากับเตาละ 500 กว่าล้านบาท  ซึ่งถ้าเตาเผาที่มีคุณภาพจริงๆเตาเดียวราคากว่า 10,000 ล้านบาท แต่กลับไปอ้างระบบจากต่างประเทศซึ่งมันไม่ถูกต้อง นอกจากนั้นบริษัทยังไม่มีระบบสามารถกักเก็บและกำจัดไดออกซินได้เลย ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนด้านสุขภาพ ก่อให้เกิดมะเร็งคือสิ่งที่เราคัดค้านและย้ำแล้วย้ำอีก  เชื่อว่าหากเตาเผาขยะจะไปตั้งใกล้บ้านคุณ คุณก็จะต้องออกมาต่อต้านเช่นกัน
           
นายพยุงศักดิ์ กล่าวอีกว่า สนับสนุนให้เผา แต่ขอให้ไปตั้งในป่าห่างจากชุมชน 20-30 ก.ม. แต่ถ้าจะเอาเข้ามาในเมืองที่มีประชากรอยู่หนาแน่น เราไม่ยอมแน่นอน
           
ทั้งนี้ กลุ่มชาวบ้านยังมองว่า หากมีการตั้งโรงไฟฟ้าขยะบนพื้นที่บ้านป่าเหียงจริง จะต้องหนีไม่พ้นขยะอุตสาหกรรมที่มาจาก จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน ซึ่งสามารถใช้เส้นทางลัดจาก อ.ห้างฉัตรมายังจุดที่ตั้งโรงไฟฟ้าขยะได้โดยไม่ต้องผ่านตัวเมืองลำปาง หากมีการรับเผาขยะอุตสาหกรรมทางโรงงานก็จะมีรายได้มหาศาล ค่ากำจัดตันละ 4,500 บาท ถึงแม้ว่าจะรับกำจัดในราคาตันละ 2,000 บาท ก็ยังมีรายได้จำนวนมาก ซึ่งรถที่จะวิ่งไปส่งขยะเพื่อกำจัดที่ จ.ระยองก็จะนำมากำจัดที่แห่งนี้แทน ซึ่งชาวบ้านกลัวในเรื่องนี้มากที่สุด และเชื่อว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ที่หลายฝ่ายต้องการให้ตั้งโรงไฟฟ้าขยะบน พื้นที่นี้ นายพยุงศักดิ์ กล่าว
           
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง นายสถาพร วะเท นายก อบต.บ่อแฮ้ว เกี่ยวกับการทำประชามติโรงไฟฟ้าขยะ ได้รับการเปิดเผยว่า ทาง อบต.ได้ออกหนังสือเชิญร่วมทำประชามติในวันที่ 26 เม.ย.58 จริง โดยจะจัดที่สถาบันการพลศึกษาลำปาง และทยอยแจ้งให้ผู้นำชุมชนนำไปปิดประกาศ และแจ้งเสียงตามสายให้ชาวบ้านทราบแล้ว ทั้งหมด 19 หมู่บ้าน แยกเป็นในเขต ต.บ่อแฮ้ว 17 หมู่บ้าน  บ้านทุ่งกู่ด้าย ต.ปงแสนทอง 1 หมู่บ้าน และบ้านง้าวพิชัย ต.หน่องหล่ม อ.ห้างฉัตร 1 หมู่บ้าน
           
ในส่วนของวันที่ 29 มี.ค.58 ทาง อบต.ไม่ได้มีการออกหนังสือเชิญทำประชามติแต่อย่างใด มีเพียงแต่หนังสือที่ทางบริษัทส่งมาว่าขอให้ อบต.จัดทำประชามติเท่านั้น แต่ อบต.ยังไม่ได้มีการออกหนังสือ  ซึ่งกรณีที่ทางโรงเรียนได้จัดเตรียมเก้าอี้ไว้ เป็นการจัดการของทางโรงเรียนเอง ชาวบ้านเองก็อาจจะเข้าใจผิดว่าจะมีการทำประชามติจึงได้เดินทางไปกันในวันดังกล่าวเป็นจำนวนมาก  ในตอนนี้ก็ขอให้ชาวบ้านได้รับข้อมูลไปก่อน และไปร่วมกันลงประชามติในวันที่ 26 เม.ย.58 นี้ จะเอาหรือไม่เอาก็ขึ้นอยู่กับชาวบ้านเท่านั้น  นายก อบต.บ่อแฮ้ว กล่าว         
           
ด้าน ดร.รวิภา ยงค์ประยูร ประธานสาขาเทคโนโลยีพลังงาน คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง  กล่าวว่า  หลักของการตั้งโรง ไฟฟ้าต้องห่างจากชุมชนขึ้นอยู่กับกำหนดของการจัดตั้งซึ่งไม่ทราบแน่ชัดว่า ทางบริษัทที่จะมาจัดตั้งที่หมู่บ้านป่าเหียงมีการกำหนดไว้อย่างไร  หากถามความเห็นโดยไม่ได้มองถึงเรื่องความขัดแย้ง การจัดตั้งโรงไฟฟ้าขยะเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากเราได้นำสิ่งของเหลือใช้นำมาประยุกต์เป็นไฟฟ้า มีเทคโนโลยีหลายตัวที่มีมาตรฐานสำหรับนำมาสร้างเป็นโรงไฟฟ้าขยะ แต่ในความเป็นจริงจะทำได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับที่ตั้งและชุมชนว่าจะเห็นด้วยหรือไม่  ซึ่งผลกระทบต้องมีอยู่แล้วเป็นปกติ ขึ้นอยู่กับคนรอบข้างว่าจะรับได้หรือไม่  ต้องมีการคุยกันว่าการมาทำตรงนี้เพื่ออะไร และเมื่อมีการเสียสละจะได้ผลอะไรตอบแทน ซึ่งต้องมีการคุยกันในระดับชุมชน

อยากให้ใจเย็นทั้งสองฝ่าย เพราะทางบริษัทก็มีเจตนาที่ต้องการสร้างแหล่งพลังงานเพิ่มแทนที่แหล่งพลังงานเดิม แต่ต้องมีการให้ความรู้และต้องให้เวลาชาวบ้านในการสร้างความเข้าใจ ควรแบ่งระยะเวลาในการให้ความรู้ค่อยเป็นค่อยไป แต่ถามว่ามันจำเป็นต้องใช้หรือไม่  จำเป็นเพราะพลังงานเราใช้มากขึ้นทุกปี ทางบริษัทเองก็ต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจน อาจจะดูตัวอย่างการทำงานของบริษัท ปูนซิเมนต์ ว่าทำไมเขาถึงสร้างได้ เขามีภาพลักษณ์เช่นไร และมีการบริหารจัดการเช่นไร
             
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1023   ประจำวันที่ 3 - 9  เมษายน  2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์