วันเสาร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2558

ช่วยผู้ป่วยนอกคำสั่งศาล ชาวบ้านลงขัน


เครือข่ายผู้ป่วยแม่เมาะ ตั้งกองทุนช่วยเหลือเหยื่อผู้ป่วยที่ไม่ได้รับเงินเยียวยา ชาวบ้านยังหวัง กฟผ.จะเข้ามาช่วยเหลือถึงแม้ศาลจะพิพากษาให้จ่ายเงินแล้ว

หลังจากที่ ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาให้ยืนตามศาลปกครองชั้นต้น ให้ กฟผ.ชดใช้ค่าชดเชยให้แก่ผู้ฟ้อง ภายใน 60 วัน คดีระหว่างนายคำ อินคำปา กับพวกรวม 131 คน ผู้ฟ้องคดี กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ผู้ถูกฟ้อง กรณีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ โดยทางผู้ฟ้อง 131 คน ได้ยื่นฟ้องว่าทาง กฟผ.ละเลยไม่ควบคุมบำบัดฝุ่นหิน ฝุ่นละออง และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด  ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง ป่วยเป็นโรคนิวโมโคนิโอซิส หรือโรคปอดอักเสบจากฝุ่นหิน  โรคพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์  ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาตั้งแต่เริ่มป่วยจนถึงวันฟ้อง ซึ่งผู้ฟ้องรายใดจะได้รับค่าสินไหมทดแทน เพื่อความเสียหายจากการเสื่อมสมรรถภาพ สุขภาพ และอนามัย และความสูญเสียทางด้านจิตใจเป็นจำนวนเงินเท่าใดนั้น ต้องพิจารณาจากระยะเวลาที่ผู้ฟ้องรายนั้นอาศัยอยู่ในพื้นที่ อ.แม่เมาะจริงเป็นสำคัญ โดยผู้ฟ้องที่อยู่ในพื้นที่ตลอดระยะเวลาช่วงเดือน พ.ย.2535 ถึง เดือน ส.ค.2541  ให้มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนกรณีนี้เป็นเงินทั้งสิ้น 246,900 บาท  ส่วนผู้ฟ้องรายอื่นให้มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนกรณีนี้ตามระยะเวลาที่อยู่ในพื้นที่จริง แต่ต้องไม่เกินคำขอของผู้ฟ้องคดีแต่ละราย 

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นเป็น ให้ กฟผ.ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้ฟ้องบางรายที่ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยว่า ยื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีตามจำนวนที่ตนมีสิทธิได้รับ

นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 2 เม.ย.58 ที่ผ่านมา ทางกลุ่มชาวบ้านได้เดินทางไปรับเงินค่าเยียวยามาแล้ว โดยมีทั้งผู้ที่ผิดหวังและสมหวัง ซึ่งเป็นเงินที่ได้รับบนความสูญเสีย ถึงแม้ว่าบางรายจะได้เงินถึง 500,000 บาทแต่ก็ต้องนำมาใช้หนี้  หลังคำพิพากษาแล้วไม่ได้หมายความว่าชาวบ้านจะร่ำรวย แต่สิ่งที่ได้มาแลกกับสุขภาพ เรายังคงหาทางช่วยเหลือกันอยู่  หลังจากที่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวมาแล้วก็จะมาใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพจะแบ่งเงินดังกล่าวเป็นส่วน โดยส่วนหนึ่งจะนำไปใช้หนี้ที่ไปกู้ยืมมาเรื่องคดีฟ้องร้อง ส่วนที่สองจะนำไปใช้จ่ายในค่ารักษาพยาบาล ส่วนที่สาม จะแบ่งเข้าเป็นกองทุนเพื่อการช่วยเหลือเหยื่อผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการเยียวยา โดยในกลุ่มเครือข่ายที่รวมกันอยู่ประมาณ 70 กว่าคนมีมติตรงกัน คือไม่ว่าจะได้รับการเยียวยามาคนละเท่าไรต้อง แบ่งเข้ากองทุนบรรเทาทุกข์  ช่วยเหลือเครือข่ายผู้ป่วยที่ตั้งขึ้นมาใหม่ รายละ 3,000 บาท เพื่อที่จะไปช่วยเหลือผู้ป่วยรายอื่นที่ไม่ได้รับการเยียวยา ส่วนเรื่องการสนับสนุนอาชีพจะต้องผลักดันของบประมาณกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้า เบื้องต้นได้พูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ขอให้เห็นใจกลุ่มผู้ป่วยนี้ด้วย

ขณะที่นางชินกานดา ประดิษฐ์พุ่ม กล่าวว่า ตนเองได้รับเงินค่าเยียวยาเพียง 10,000 บาท แต่ก็มีความภูมิใจที่ สามารถเดินหน้าเดินเรื่องฟ้องร้ององค์กรขนาดใหญ่จนชนะ และจะเป็นแบบอย่างเพื่อคนที่จะเรียกร้องสิทธิ์ของตนเองต่อไป

ด้านนางจันทร์ วังศาล กล่าวว่า เงินที่ได้รับมานี้ อันดับแรกต้องไปใช้หนี้สินที่ไปกู้ยืมมาทั้งในการรักษาเยียวยาตัวเองตอนเจ็บป่วย และจัดแบ่งเข้ากองทุนเพื่อช่วยเหลือเหยื่อผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการเยียวยา  เพราะเราต่อสู้ร่วมกันมานานกว่า 10 ปี และหวังว่า กฟผ.จะเมตตาให้เงินสมทบเข้ามาช่วยเหลือคนที่ไม่ได้เงินค่าเยียวยาอย่างเต็มที่


นอกจากนั้น นายทวี พรมวิชัย เป็นหนึ่งในผู้ฟ้องคดี ซึ่งป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย กล่าวว่า เกือบไม่ได้ใช้เงินแล้ว เพราะเพิ่งตรวจทราบว่าตนเองป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย  จึงได้มอบเงินที่ได้รับค่าชดเชยเยียวยาจาก กฟผ.  3,000 บาท ให้ไปช่วยเหลือเพื่อนๆอีกหลายร้อยรายที่ไม่ได้รับค่าชดเชยเยียวยาด้วย

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1024 วันที่ 10 – 23 เมษายน 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์