วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

พลังชาวบ้าน พลังบริสุทธิ์



           
ม้ในหลายครั้งจะมีข้อสงสัยในการต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิชุมชนของชาวบ้าน แต่หากชาวบ้านไม่มีแผล และมุ่งมั่นที่จะปกป้องรักษาถิ่นเกิดของเขาอย่างสุดกำลัง ร้อยพันข้อสงสัยก็ไม่สามารถทลายกำแพงนี้ได้ ปรากฏการณ์ป่าเหียง และที่อื่นๆก็เช่นเดียวกัน 
           
บทเรียนจากการพิจารณารับฟ้องคดีเหมืองแร่หินดงมะไฟ สะท้อนให้เห็นว่าหน่วยงานรัฐยังต้องรับฟังเสียงของประชาชนแม้ในภาวะกฎอัยการศึก ข้อบ่งชี้ภายหลังศาลใช้มาตรา 66 และ 67 รัฐธรรมนูญปี 2550 พิจารณารับฟ้องคดีชาวบ้านขอให้เพิกถอนใบอนุญาตเอกชนทำเหมืองแร่หิน      
           
แม้ชาวบ้านในพื้นที่จะต่อต้านขนาดไหน แต่วันนี้บริษัทหนึ่งได้เริ่มดำเนินการขุดเจาะสำรวจพื้นที่ปิโตรเลียมใน ต.กุงเก่า อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐคุ้มกันแน่นหนา เป็นคำถามว่าเสียงของประชาชนจะได้รับการรับฟังมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะเมื่อหลังรัฐประหาร ที่มีผลให้สิทธิมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและคุ้มครองรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อให้สามารถดำรงชีพอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ตามมาตรา 66 และ 67  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 ต้องสิ้นสุดลงทันที
           
แต่การรับฟ้องของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 17 มีนาคม  2558 ในคดีที่ชาวบ้านฟ้องขอให้เพิกถอนใบอนุญาต ให้เอกชนเข้าใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอย-ป่านากลาง ในพื้นที่ ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา  จ.หนองบัวลำภู เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรม
           
ชี้ชัดว่าสิทธิชุมชนยังคงถูกรับรอง และได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ เพราะมาตรา 5 วรรค 1 ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 ยังคงคุ้มครองสิทธิชุมชนมาตรา 66 และ 67 อยู่ด้วย
           
เมื่อกฎหมายยังคงคุ้มครอง ประชาชนจึงสามารถลุกขึ้นมาปกป้องชุมชน และรักษาการได้รับประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น  และการรับรู้ข้อมูลที่จะเกิดขึ้นในชุมชนของตนเอง ซึ่งเมื่อชาวบ้านมีเรื่องไปร้องเรียน หน่วยงานรัฐเองก็ต้องรับฟัง และเคารพสิทธิตามกฎหมาย มาตรา 66 และ  67 เป็น สิ่งที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองอยู่ในปัจจุบัน โดยยังยึดโยงกับตัวรัฐธรรมนูญของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เอง ดังนั้นต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐทั้งหลายที่จะเคารพสิทธิของชุมชน ซึ่งโครงการใดๆ แม้จะเกิดขึ้นในภาวะกฎอัยการศึกของทหารก็ต้องคำนึงถึงหลักสิทธิชุมชนให้มาก ที่สุด
           
เพราะชุมชนท้องถิ่นมักจะมีวิถีชีวิต จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นของตนเองที่ปฏิบัติมาตั้งแต่บรรพบุรุษถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน จึงทำให้ผู้คนในท้องถิ่นมีความผูกพัน รัก และหวงแหนในท้องถิ่นของตน
           
การให้สิทธิบุคคลมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และใช้ทรัพยากรธรรมชาติ จะเป็นประโยชน์ไม่เพียงแต่ประชาชนในท้องถิ่นนั้น แต่ยังนำมาซึ่งประโยชน์ของประเทศชาติ เพราะคนในท้องถิ่นย่อมจะทราบความเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่นของตน เช่น หากมีโรงงานมาตั้งในหมู่บ้านและปล่อยน้ำเสีย คนในชุมชนย่อมทราบว่า โรงงานทำให้เกิดมลพิษ ซึ่งหากปล่อยให้ภาครัฐเข้ามาตรวจสอบ อาจไม่ทันการณ์ เพราะหลายครั้งเราจะได้ยินว่าจำนวนเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เพียงพอ  การแก้ปัญหาจึงไม่คืบหน้าแต่อย่างใด
           
ย้อนกลับมามองที่ กรณีโรงไฟฟ้าขยะป่าเหียง ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิชุมชนอย่างชัดเจน เพราะชาวบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินมานานตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่เมื่อจะมีการเปลี่ยนแปลง มีการเข้ามาตั้งโรงงานไฟฟ้าที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงเผาไหม้ พวกเขาเหล่านั้นอาศัยอยู่ในพื้นที่มานานแต่กลับเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ได้รู้เรื่อง หลังจากที่มีการศึกษาพื้นที่ พาผู้นำท้องถิ่นไปดูงานพร้อมค่าเสียเวลาติดกระเป๋า แต่ไม่ได้มีการให้ข้อมูลแก่ชาวบ้านในพื้นที่ จึงไม่แปลกหาเขาเหล่านี้จะมีความวิตกกังวล
           
นับ จากต้นเดือนมีนาคม ที่กลุ่มชาวบ้านป่าเหียงได้มีรวมตัวกันเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการสร้างโรง ไฟฟ้าในพื้นที่ที่อยู่ใกล้บ้านของพวกเขา ไม่ใช่คัดค้านแบบหัวชนฝา เพราะทุกคนล้วนแต่ยอมรับถึงข้อดีของการมีโรงไฟฟ้าจากขยะ แต่ข้อเสียที่มีและตำแหน่งของการก่อสร้างคือประเด็นหลักที่นำมาซึ่งการคัด ค้านในครั้งนี้ 
           
เป็นระยะเวลา 2 เดือน ที่ชาวบ้านป่าเหียงและชุมชนใกล้เคียงที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการตั้งโรงงาน นับได้ว่าเป็นการรวมตัวกันเพื่อปกป้องสิทธิของชาวบ้าน โดยชาวบ้าน และเพื่อชาวบ้านในพื้นที่อย่างแท้จริง แม้ว่าหลายครั้งจะมีข่าวลือ ลับ ลวง พราง เพื่อสร้างความแตกแยก เพื่อทำลายความเชื่อมั่นในตัวแกนนำ เพราะประเทศไทยเรามีตัวอย่างหลายต่อหลายครั้งว่าเมื่อมีการประท้วง ก่อม็อบ ไม่ว่าจะด้วยชาวบ้าน หรือ NGO นอกพื้นที่มักจะมีแกนนำที่มีมวลชนอยู่ในมือเรียกร้องผลประโยชน์ เรียกหาเงินอันมิชอบ  และการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ก็เช่นกัน มีกระแสข่าวว่าแกนนำบางคนระดมคนเพื่อเรียกผลประโยชน์ในหลักแสนบาท
           
แต่สุดท้าย ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน ผลสรุปที่แกนนำและชาวบ้านทุกคนร่วมแรงร่วมใจเพื่อรักษาสิทธิที่ไม่ได้เกินขอบเขต   ผลที่ออกมาเป็นการแสดงถึงความสามัคคีอันเป็นพลังบริสุทธิ์อย่างแท้จริงที่อิทธิพลยากที่จะทำลาย 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1026 วันที่ 1  -  7  พฤษภาคม  2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์