คนทำสื่อบ้านนอกทั้งระบบ
กำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหม่
ระหว่างการรักษาความเป็นสื่อหรือหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นกับการเคลื่อนย้ายไปสู่สื่อวิทยุ
โทรทัศน์ และสื่ออิเล็คทรอนิคส์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อความอยู่รอด
คนอ่านหนังสือพิมพ์น้อยลง
อิทธิพลของหนังสือพิมพ์น้อยลง ขณะที่สื่อสังคมออนไลน์ กำลังจะเป็นสื่อกระแสหลัก
นี่เป็นข้อที่แทบจะไม่ต้องถกเถียงกันอีก
ยกเว้นหนังสือพิมพ์ที่มีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น หนังสือพิมพ์บันเทิง
หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น และธุรกิจ ที่นักลงทุนยังต้องพึ่งพาข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการลงทุน ยังพอประคับประคับประคองไปได้
เมื่อพูดถึงอนาคตของสื่อหนังสือพิมพ์
แม้จะมุ่งหมายถึงหนังสือพิมพ์ระดับชาติ
หรือ National
Newspaper ซึ่งทำให้คนอ่านทั่วประเทศ
แต่ก็มักจะไม่ได้แยกหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นออกจากสมมติฐานนี้ ความเข้าใจก็คือ
พังก็พังด้วยกันทั้งหมด ไม่มีหนทางอื่น นอกจากขยายไปสื่ออื่นๆ เช่น
วิทยุและโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ ที่สื่อส่วนกลาง
หรือสื่อที่มีลักษณะการทำงานแบบอุตสาหกรรมเท่านั้น ที่มีศักยภาพ
2 – 3 ปีมานี้
เมื่อมีโอกาสไปเยี่ยมยามถามข่าว คนทำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเกือบทั่วประเทศ ในฐานะผู้นำองค์กรสื่อ
ผมพบประเด็นในเชิงบริหารจัดการ ที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างหนังสือพิมพ์ระดับชาติ
และหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น
ยกเว้นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่เป็นรายวัน
3 ฉบับในประเทศไทย คือ ไทยนิวส์ เชียงใหม่นิวส์ และเสียงใต้รายวัน
จังหวัดภูเก็ต ที่มีลักษณะการบริหารงานใกล้เคียงกับหนังสือพิมพ์ส่วนกลาง
คือมีฝ่ายจัดการ ฝ่ายโฆษณา ฝ่ายกองบรรณาธิการแยกจากกันชัดเจน ถัดจากนั้นก็เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์
รายปักษ์ ที่มีการจัดการค่อนข้างเป็นระบบ และหนังสือพิมพ์รายสะดวกที่ไม่มีระบบบริหารจัดการ
และไม่ได้เป็นองค์กรสมาชิกสภา นสพ.แห่งชาติ เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์
เกือบทั้งหมด
เน้นการนำเสนอเนื้อหาเช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์กลุ่มประชานิยมในส่วนกลาง
คือการเสนอข่าวอาชญากรรม ข่าวอุบัติเหตุ ข่าวแปลกประหลาด มหัศจรรย์
ข่าวบอกใบ้ให้หวย แต่ที่หนักไปกว่านั้น คือการเสนอภาพศพ ภาพลามก อนาจาร
โดยไม่มีเซ็นเซอร์ รวมทั้งการให้หัวข่าวที่หลายครั้ง
เป็นการซ้ำเติมชะตากรรมผู้สูญเสีย หรือผู้เคราะห์ร้าย เช่นข่าวข่มขืน
ข่าวการล่วงละเมิดทางเพศ
แน่นอนว่า
ข่าวและภาพที่มีเนื้อหาเช่นนี้
ตอบโจทย์ทางธุรกิจได้ แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่เพียงพอ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจำนวนไม่น้อย
จึงจำเป็นต้องอิงระบบอุปถัมภ์ ทั้งจากนักการเมือง ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่
หรือการรบนอกรูปแบบ เช่น การเขียนข่าวโจมตีบุคคล หน่วยงาน แลกกับค่าปิดปาก
ในกรณีที่บุคคลหรือหน่วยงาน ไม่อยากยุ่งยากมีเรื่องกับหนังสือพิมพ์
เช่นนั้น
หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ที่เสนอข่าวคุณภาพ หรือข่าวประเภท Hard news จะอยู่รอดได้หรือ หากมุ่งแต่นำเสนอข่าวที่เน้นเนื้อหาสาระ ไม่เสนอภาพศพ
ภาพหวาดเสียว ภาพลามกอนาจาร หรือการให้หัวข่าวที่ละเมิดคนอื่น
สมมติฐานของผม
ก็คือในท่ามกลางภาวะล่มสลายของหนังสือพิมพ์ระดับชาติ ที่เสนอข่าวเดียวกัน
ภาพเดียวกัน ถึงแม้จะมีพื้นที่อธิบายความมากกว่า
แต่พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ก็ไม่ต้องการอ่านข่าวยาว หรือต้องการคำอธิบายมากไปกว่า
ใคร อะไร ที่ไหนแล้วนั้น หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจะมีทางเลือกใดบ้าง
ในยุคที่มีการพูดถึงการปฏิรูปสื่อขณะนี้
ข้อสังเกตของผมก็คือ
หนังสือพิมพ์ระดับชาติ มักไม่ให้ความสำคัญ
หรือเข้าใจบางเรื่องราวในท้องถิ่นมากไปกว่าคนทำข่าวในท้องถิ่น แม้ว่าฉบับใหญ่ๆ
จะมีนักข่าวประจำในต่างจังหวัด แต่ด้วยความไม่เข้าใจและเข้าถึงแหล่งข่าว
พื้นที่ข่าวอย่างแท้จริง การประเมินคุณค่าข่าว หรือการสั่งประเด็นของหัวหน้าข่าวในส่วนกลาง
จึงไม่สามารถเรียกข่าวที่ดีมีคุณภาพจากท้องถิ่นมาได้
คนข่าวท้องถิ่นเท่านั้น
ที่จะเข้าถึงคุณภาพของข่าวท้องถิ่นได้
ในขณะเดียวกันหากประเมินผู้บริโภคข่าวสารในท้องถิ่น
ผมเข้าใจว่าพวกเขาคงอยากเรียกร้องข่าวที่ใกล้ตัว ข่าวที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของเขา
ข่าวที่ทั้งสื่อท้องถิ่นและสื่อส่วนกลางอาจมองข้ามไป
นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นในการเสนอแนวคิด
หนังสือพิมพ์ชุมชน หรือ Community Newspaper คือการทำข่าวท้องถิ่นที่มีเนื้อหาสาระ
และมีความใกล้ชิดกับคนอ่าน
อาจจะยังไม่ถึงขั้นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ
แต่ผมใช้เวลาราว 3
ปี เลือกหนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ จังหวัดลำปาง
ซึ่งเป็นตัวอย่างงานวิจัยเรื่อง “ลานนาโพสต์
ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น” ของ ผศ.รุจน์
โกมลบุตร แห่งคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เช่นเดียวกัน เป็น “หนูทดลองยา” เพื่อหาคำตอบว่า หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจะอยู่รอดได้หรือไม่
หากไม่เสนอข่าวและภาพตามขนบของ หนังสือพิมพ์ต่างจังหวัด
หนังสือพิมพ์ฉบับนี้
ผู้ก่อตั้งจบเทคนิคการแพทย์
จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เริ่มต้นทำงานในโรงพยาบาลมากว่า 20 ปี บรรณาธิการจบปริญญาตรีเทคโนโลยีชีวภาพ มหิดล
ปริญญาโทสาขาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
เรียกว่าไม่มีใครมีพื้นฐานด้านนิเทศศาสตร์ และวารสารศาสตร์มาเลย
ผลการทดลอง
ในห้วงระยะเวลาสามปี ที่กองบรรณาธิการ
ให้ความสำคัญในการรายงานข่าวสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ที่เคยถูกมองข้าม
เช่นปัญหาน้ำวังเน่าเสีย ปัญหาจอกหูหนูที่เขื่อนกิ่วลม
ทั้งสองข่าวได้รับรางวัลสิ่งแวดล้อมติดต่อกันสองปี จากชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และปีนี้
พวกเขากำลังทำข่าวเกาะติดการต่อต้านโรงไฟฟ้าที่ป่าเหียงอย่างเอาจริงเอาจัง
ข่าวคุณภาพเช่นนี้สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้สนับสนุนและผู้อ่าน
ยิ่งทำให้ผมมีความเชื่อมั่นในแนวทางการทำหนังสือพิมพ์ชุมชน
และคงค้นหาคำตอบที่นำไปสู่ความสำเร็จทั้งในเชิงธุรกิจและเนื้อหาได้สักวันหนึ่ง
ทุนท้องถิ่น
ผู้ประกอบการในท้องถิ่น ผู้บริโภคข่าวสารในท้องถิ่นซึ่งอาจยังไม่คุ้นเคยกับการเสนอข่าวที่มุ่งเน้นเนื้อหาสาระ
และมีความรับผิดชอบ จะเป็นพลังสำคัญทำให้ลานนาโพสต์ได้เป็นสื่อตัวแทนของคนลำปาง
และได้รับการประกาศเกียรติคุณอย่างเต็มภาคภูมิบนเวทีระดับชาติเช่นในห้วงระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา
เสรีภาพบนความรับผิดชอบ
นั่นคือคำมั่นสัญญาที่จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1026 วันที่ 1 - 7 พฤษภาคม 2558)