วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ปักหมุดลำปาง-แพร่ ศูนย์กระจายสินค้าเออีซี

    
เดินหน้าศึกษาโครงการรถไฟทางคู่เด่นชัย เชียงใหม่ สนข.จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 ภาครัฐและเอกชน แพร่- ลำปางหวังเป็นศูนย์ขนถ่ายกระจายสินค้าสินค้ารองรับอาเซียน
           
จากกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มีมติ(วันที่ 29 กรกฎาคม 2557) เห็นชอบในหลักการยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งทางราง โดยปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรถไฟทางคู่ในเส้นทางรถไฟเดิมในช่วงที่มีปัญหาความคับคั่งของการเดินรถจากขบวนรถไฟท้องถิ่น 6 เส้นทาง เพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าซึ่งกระทรวงคมนาคม ได้จัดทำแผนการดำเนินงานโครงการการลงทุนพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง ปี พ.ศ.2558 โดยมีเส้นทางรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ รวมอยู่ในแผนดำเนินการระยะที่ 2 (พ.ศ.2559-2563) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 
           
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กำลังดำเนินงานโครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบระบบรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย เชียงใหม่ ดังกล่าว เพื่อส่งเสริมบทบาทและศักยภาพในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งเป็นรถไฟทางคู่ขนาดราง 1 เมตร ซึ่งเป็นโครงข่ายระบบรางพื้นฐานหลักของประเทศไทย ดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 และแผนการดำเนินงานโครงการการลงทุนพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง ปี 2558 (พ.ศ.2559 – 2563) ระยะที่ 2 โดยมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนการขนส่ง ทางรางจากร้อยละ 2.5 เป็นร้อยละ 5
           
ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ได้นำรายละเอียดข้อมูล เหตุผลความจำเป็น สาระสำคัญ ขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินการ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานเอกชน ผู้นำทางความคิด ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการ ตลอดจนตัวแทนภาคประชาชนและสื่อมวลชนในพื้นที่จังหวัดแพร่ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการศึกษาของโครงการให้มีความสอดคล้องและเหมาะสม เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวมสนข. จึงจัดให้มีการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2558 และ จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 30 เม.ย. 2558 ณ ห้องอิมพีเรียลบอลลูม โรงแรมดิเอ็มเพลส เพื่อนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้ ไปประกอบผลการศึกษาโครงการ หลังจากนั้น จะมีการจัดกิจกรรมการประชุมกลุ่มย่อย การสัมภาษณ์เชิงลึก และการสัมมนารับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 เพื่อนำเสนอผลการคัดเลือกแนวเส้นทางที่มีความเหมาะสม จากนั้นจึงเป็นการสัมมนาสรุปผลการศึกษาของโครงการ ในส่วนของจังหวัดลำปาง มีนาย สำเริง ไชยเสน  หัวหน้าสำนักงานจังหวัดลำปาง เดินทางไปร่วมประชุมที่จังหวัดเชียงใหม่ดังกล่าวด้วย
           
การสัมมนาครั้งนี้ มีการนำเสนอรายละเอียด 3 แนวเส้นทางเลือก ประกอบด้วย แนวทางเลือกที่ 1 ใช้เส้นทางที่อยู่ในเขตทางรถไฟเดิม ซึ่งรถไฟสามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วสูงสุด 90 กม./ชม. ระยะทางประมาณ 217 กม. แนวทางเลือกที่ 2 ใช้เส้นทางเหมือนทางเลือกที่ 1 เป็นหลัก แต่มีบางช่วงที่ปรับแนวเส้นทางให้เป็นทางตรงหรือเพิ่มรัศมีโค้งมากขึ้น เพื่อให้รถไฟสามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม. ระยะทางรวมอยู่ที่ 206 กม. ส่วนแนวทางเลือกที่ 3 เป็นแนวเส้นทางตัดใหม่เป็นส่วนใหญ่ รถไฟสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 160 กม./ ชม. ระยะทางรวม 170 กม. โดยทั้ง 3 แนวทางเลือก จะผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด คือ จังหวัดแพร่ จังหวัดลำพูน จังหวัดลำปาง และจังหวัดเชียงใหม่ มีจุดเริ่มต้นที่สถานีเด่นชัย และสิ้นสุดที่สถานีเชียงใหม่ เชื่อมต่อรถไฟทางคู่สาย ลพบุรี - ปากน้ำโพ เด่นชัย(แพร่)
           
ซึ่งข้อมูลจาก สนข.ระบุว่า หากมีการพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย - เชียงใหม่ จะส่งผลให้เส้นทางรถไฟสายเหนือมีการเชื่อมต่อโครงข่ายระบบรางที่สมบูรณ์มากขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดแพร่ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีการขยายตัว ทางด้านการผลิตและอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง และกำลังได้รับการพัฒนาเสริมศักยภาพให้สามารถเป็นศูนย์กลางในการขนถ่ายสินค้าหลักของภาคเหนือตอนบนในอนาคตได้ เพิ่มขีดความสามารถด้านการขนส่งสินค้าและเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคเหนือได้อีกทางหนึ่งด้วย
           
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จังหวัดแพร่ให้ความสนใจโครงการนี้ค่อนข้างสูง เพราะ แพร่ได้วางตัวเองเป็นชุมทางรถไฟหรือ Rail Hub และมีแนวทางปรับปรุงแนวเส้นทางรถไฟเดิมที่ยังคงอยู่พัฒนาเป็นเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยว และในส่วนของจังหวัดลำปางก่อนหน้านี้ ทั้งภาครับและเอกชน ให้ความสนใจเกี่ยวกับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะสนับสนุนเอต่อการรองรับเศรษฐกิจอาเซียน โดยลำปางวางตัวเองเป็น ศูนย์กลางคมนาคมขนส่งทางบก และเป็นจุดพักกระจายสินค้า (Land Logistic Hub) โดยก่อนหน้านี้มีแผนโครงการศูนย์กระจายและคลังสินค้า ที่อำเภอเกาะคา และแผนการสร้างคลังเชื้อเพลิงเพื่อการขนส่ง โดย ปตท.ที่เขต ผาลาด แนวเชื่อต่อ อำเภอแม่ทะและอำเภอแม่เมาะ ภาคเอกชนและนักลงทุนบางส่วนเริ่มให้ความสนใจ รถไฟความเร็วสูง และ โครงการรถไฟทางคู่ ที่จะตัดผ่านพื้นที่จังหวัดลำปาง อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายยังคมรอความชัดเจนจากภาครัฐก่อน และมีเพียงกระแสการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจท่องเที่ยวแต่ยังไม่พบข้อมูลการลงทุนภาคการขนส่งขนาดใหญ่แต่อย่างใด   
 (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1026 วันที่ 1  -  7  พฤษภาคม  2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์