วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

เธอเห็นท้องฟ้านั่นไหม



กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง

นานแค่ไหนแล้ว ที่เราไม่ได้แหงนมองท้องฟ้ายามค่ำคืน หรือแหงนมองบ่อย ๆ ทว่าไม่เห็นอะไรเลย อย่าว่าแต่ดาวล้านดวง ทางช้างเผือกเป็นอย่างไรก็แทบนึกไม่ออก ใครอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ ที่ไม่เห็นดวงดาว ก็เพราะถูกบดบังโดยมลพิษจากแสงไฟฟ้า (Light Pollution)
           
พ่อเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยเด็ก ๆ อาศัยอยู่ที่อำเภอวังเหนือ กลางดึกคืนหนึ่งตื่นขึ้นมาก็ต้องสะดุ้งสุดตัว เพราะเห็นดวงจันทร์ขนาดมหึมาลอยเด่นอยู่กลางฟ้า ใกล้จนแทบจะเอื้อมมือจับถึง เป็นดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตที่พ่อเคยเห็น และไม่เคยลืมดวงจันทร์ดวงนั้นเลย
           
ผ่านไปหลายสิบปี พ่อมาถึงยุคที่นักวิทยาศาสตร์ออกมาส่งเสียงเตือนดังขึ้นเรื่อย ๆ ว่า เรากำลังสูญเสียความมืดมิดของราตรีไปแล้ว...จากภาพถ่ายดาวเทียมที่ชี้ชัดว่า ชั้นบรรยากาศโลกเกลี่ยแสงไฟฟ้าเจิดจ้าของเมือง ให้เป็นแสงแวววาวปกคลุมโลกจนดูเหมือนลูกแก้วสีดำมะเมื่อม
           
โครงการ Globe at Night โครงการอาสาสมัครภาคพลเรือน จึงถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อรณรงค์ให้สาธารณชนตระหนักในปัญหาและผลกระทบจากมลพิษแสง ด้วยการเชิญชวนให้คนรักดาวทั่วโลก วัดความสว่างของท้องฟ้ากลางคืนในเมืองของตนเอง มีคนลองใช้เกณฑ์วัดตามตาราง ปรากฏว่ากรุงเทพฯ มีมลพิษแสงระดับ 1 คือ แย่กว่านี้ไม่มีอีกแล้ว
           
หนึ่งในโครงการที่พยายามแก้ปัญหามลพิษแสงอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด คือ การประกาศ เขตสงวนท้องฟ้ายามราตรี (Dark Sky Reserve) โดยมุ่งพิทักษ์ท้องฟ้าสุกสกาวยามค่ำคืนจากมลพิษแสง (ไม่ใช่พิทักษ์ระบบนิเวศจากการทำลายของมนุษย์)
           
ทั่วโลกในวันนี้มีเขตสงวนท้องฟ้ายามราตรีหลายแห่ง แต่ที่ได้รับการยอมรับที่สุดในแง่ของมาตรฐาน คือ เขตสงวนท้องฟ้ายามราตรีนานาชาติ ดำเนินการโดยสมาคมท้องฟ้ายามราตรีนานาชาติ ซึ่งมีเกณฑ์การสมัครที่ชัดเจน รางวัลแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ทอง เงิน และทองแดง นอกจากระดับนานาชาติแล้ว ทางสมาคมฯ ยังให้รางวัลอีก 2 ระดับ คือ ระดับชุมชนและระดับอุทยาน เพื่อสนับสนุนความพยายามที่จะสงวนท้องฟ้ายามวิกาลในระดับย่อยลงมา
           
เขตสงวนระดับทอง ต้องมีสภาพกลางคืนใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด ถ้ามีแสงไฟประดิษฐ์ก็ต้องทำตามหลักเกณฑ์ คือ ไม่ส่องขึ้นฟ้าถ้าไม่จำเป็น แม้แต่เขตสงวนระดับทองแดง ก็ต้องสามารถเห็นทางช้างเผือกอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไขสำคัญข้อหนึ่ง คือ จะต้องเปิดให้ผู้มาเยือนได้ซึมซับความงามของท้องฟ้ายามราตรีอย่างเท่าเทียม และต้องระบุ ท้องฟ้ายามราตรี ว่าเป็นทรัพยากรสำคัญในแผนงานของเมืองนั้น ๆ เพื่อจะมั่นใจได้ว่า ท้องฟ้ายามราตรีจะได้รับการปกป้องตลอดไป โดยผู้มีอำนาจในเมืองต้องรับผิดชอบต่อแผนงานรักษาท้องฟ้ายามราตรีที่วางไว้ด้วย
           
ปัจจุบัน เขตสงวนทุกระดับที่สมาคมท้องฟ้ายามราตรีนานาชาติให้การรับรองมีกว่า 40 แห่งทั่วโลก ในจำนวนนี้มีเขตสงวนท้องฟ้ายามราตรีระดับนานาชาติที่ได้ระดับทองเพียง 2 แห่งเท่านั้น ได้แก่ เขตสงวนธรรมชาตินามิแบรนด์ ประเทศนามิเบีย และเขตสงวนท้องฟ้ายามราตรีอาโอรากิ แม็กเคนซี ประเทศนิวซีแลนด์ ทั้งสองแห่งกลายเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของนักดาราศาสตร์และคนรักดวงดาวจากทั่วโลก เมืองเหล่านี้ยังพบว่า สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ปีละหลายสิบหลายร้อยล้านบาท ทั้งยังมีรายได้จากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาชื่นชมความงามของดวงดาวและศึกษาดาราศาสตร์ (Astro Tourism)
           
การตระหนักในแสงไฟส่วนเกินเริ่มส่งแรงกระเพื่อมมากขึ้น ล่าสุด รัฐนิวยอร์กตัดสินใจลดแสงไฟที่ไม่จำเป็นลงในยามค่ำคืน เพื่อลดผลกระทบที่มีต่อนกอพยพ ซึ่งส่วนใหญ่อพยพในเวลากลางคืน โดยใช้แผนที่ดาวเป็นระบบนำทาง แสงไฟเหล่านี้ ส่งผลต่อระบบนำทางของพวกเขา กรุงเทพฯ เองก็เป็นทางผ่านของนกอพยพจำนวนมาก และมีรายงานการพบนกอพยพบางชนิดตกลงมาอยู่เสมอ น่าคิดว่าเราควรจะลดกิจกรรมของมนุษย์ เพื่อช่วยเหลือธรรมชาติหรือยัง
           
พูดถึงการท่องเที่ยวแบบ Astro Tourism นึกถึงเมืองลำปางของเรา มาช่วยกันจินตนาการถึงกล้องดูดาวทรงประสิทธิภาพตั้งอยู่ที่ไหนสักแห่ง ตรงตำแหน่งที่เหมาะสมสำหรับการดูดาว อาจเป็นวนอุทยานม่อนพญาแช่ที่ปรับพื้นที่เพื่อรองรับนักดูดาวจากทุกสารทิศ เวลามีปรากฏการณ์อย่างฝนดาวตก จันทรุปราคา หรือแม้แต่วันธรรมดา ๆ ที่ฟ้ากระจ่าง ทุกคนจะมารวมตัวกันที่นั่น ดื่มด่ำความงามบนท้องฟ้า โดยมีนักดาราศาสตร์คอยบรรยายให้ความรู้ เราคงได้เฝ้ามองกลุ่มดาวและทางช้างเผือกกันอย่างโรแมนติก

และแล้วก็ต้องตื่นจากความฝัน ลำพังมลพิษจากแสงไฟฟ้า บ้านเราคงไม่ค่อยเท่าไร มลพิษทางอากาศนี่สิ เฮ่อ..ฝุ่นควันนี่นอกจากจะทำลายสุขภาพแล้ว ยังทำลายความสุนทรีย์ของชีวิตจนแทบไม่เหลือหรอ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1026 วันที่ 1  -  7  พฤษภาคม  2558)
           
                       

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์