วันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

หวั่นโรงไฟฟ้าใหม่ ชบ.ไม่พ้นพิษ กฟผ.ยันสะอาด ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม



ปลัดกระทรวงพลังงานลงเสาเข็มต้นแรกโรงไฟฟ้าทดแทน ยันใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดไม่กระทบสิ่งแวดล้อม  พร้อมติดตามความคืบหน้าเรื่องคดี และลงพื้นที่ตรวจสอบขุมเหมืองที่ต้องฟื้นฟูตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด  ด้านประธานเครือข่ายฯผู้ป่วย เผยชาวบ้านยังคงไม่เชื่อมั่นถึงแม้จะยืนยันว่าดักจับสารพิษได้ วอนย้ายผู้ป่วยที่เหลืออยู่ออกจากรัศมีโดยเร็ว อย่าเอาชีวิตชาวบ้านไปทดลองกับเครื่องจักร
           
เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายสุนชัย คำนูญเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมพิธีลงเสาเข็มต้นแรก โรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-7 ที่ได้หมดอายุลงหลังจากใช้งานมานาน  33 ปี  สำหรับโรงไฟฟ้าทดแทนดังกล่าว ก่อสร้างทางทิศใต้ถัดจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 13 ใช้พื้นที่ 63 ไร่  มีวงเงินลงทุนกว่า 36,800 ล้านบาท เน้นระบบการดูแลสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็น เครื่องกำจัดก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนด้วยอุปกรณ์ SCR (Selective Catalyst Reduction) เครื่องดักจับฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต และเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นต้น
           
ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนว่า  โรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นแหล่งพลังงานใหญ่ของภาคเหนือ เพราะฉะนั้นอยู่ในแผนพัฒนาผลิตไฟฟ้าที่จะต้องดูแลรักษาให้มีความมั่นคง ตอนนี้มีโรงไฟฟ้าโรงที่ 4-7 หมดอายุลง จึงต้องมีโรงไฟฟ้าทดแทนขึ้นมาให้ทำงานต่อเนื่องต่อไป เทคโนโลยีที่นำมาสร้างทดแทน 600 เมกะวัตถ์ เป็นเทคโนโลยีที่ใหม่ที่ดียิ่งขึ้นไปอีก  วันนี้เป็นการเริ่มต้นการลงเสาแรกของโรงไฟฟ้าทดแทน ดีใจที่ กฟผ.ได้เริ่มทำโครงการต่อเนื่องเพื่อเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าหลักของภาคเหนือ เทคโนโลยีที่นำมาใช้พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ และที่ใช้อยู่ก็ได้ทดสอบกันแล้วว่าเป็นเทคโนโลยีที่สะอาดและมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องและดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าที่แม่เมาะหรือที่จังหวัดอื่นที่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ก็จะมีการดูแลการใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า 

ด้านนายสุนชัย คำนูญเศรษฐ์  ผู้ว่าการ กฟผ.ได้กล่าวยืนยันว่า โรงไฟฟ้าใหม่นี้ จะใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้สามารถลดการใช้ถ่านหินจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4-7 เดิม 13,536 ตันต่อวัน เหลือเพียง 8,504 ตันต่อวัน  นอกจากนี้ยังมีการควบคุมมลสารให้ดีขึ้น เช่น การระบายก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ จากปล่องโรงไฟฟ้าไม่เกิน 90 ส่วนในล้านส่วน จากค่ามาตรฐาน 180 ส่วนในล้านส่วน  การระบายก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน จากปล่องโรงไฟฟ้าไม่เกิน 90 ส่วนในล้านส่วน จากค่ามาตรฐาน 200 ส่วนในล้านส่วน เป็นต้น โดยโรงไฟฟ้าแม่เมาะมีการควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมแบบเรียวไทม์(Real Time) ผ่านระบบออนไลน์ของกรมควบคุมมลพิษ จึงมั่นใจได้กว่า กฟผ.มีการควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าให้ดีกว่าเกณฑ์มาตรฐานตลอดเวลา  สำหรับโรงไฟฟ้าทดแทนแห่งนี้จะใช้เวลาก่อสร้าง 46 เดือน และจะสามารถเปิดจ่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561

ในโอกาสเดียวกันนี้ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้นำคณะสื่อมวลชนเข้าตรวจสอบพื้นที่ขุมเหมืองที่ต้องฟื้นฟูตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เพื่อติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการตามคำสั่งศาลภายใน 90 วัน 

โดยทางคณะได้สำรวจพื้นที่ในแต่ละจุดที่สำคัญ ตามที่ระบุอยู่ในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ประกอบด้วย พื้นที่การทำขุมเหมืองซึ่งปัจจุบันยังคงดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังมีแร่ลิกไนต์ที่สามารถนำไปผลิตไฟฟ้าได้เป็นเวลาอีกกว่า 30 ปี  , พื้นที่ให้ทำการติดตั้งม่านน้ำเพื่อลดฝุ่นละออง , จุดบำบัดซัลเฟตในน้ำ หรือ Wetland โดยการปลูกพืชในน้ำให้รากดูดซับแบททีเรีย และจุดที่จัดทำเป็นสนามกอล์ฟและสวนพฤกษชาติ ซึ่งทาง กฟผ.ยืนยันว่าไม่ได้อยู่ในเขตของขุมเหมืองแต่อย่างใด    สำหรับความคืบหน้าทางคดีนั้น ผู้บริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวย้ำว่า ได้ดำเนินการตามคำสั่งศาลปกครองอย่างเคร่งครัด และคาดว่าจะดำเนินการเรียบร้อยภายในเดือนพฤษภาคมนี้

นายสุนชัย  ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวถึงความคืบหน้าตามคำสั่งศาลว่า มีหลักๆอยู่ 5 เรื่องที่ศาลมีคำสั่ง คือ เรื่องการบำบัดน้ำ ในสิ่งแวดล้อมเดิมในการอนุมัติทำเหมืองได้ระบุว่าจะปลูกหญ้ากก และใช้แบตทีเรียที่รากย่อยสลายซัลเฟต ทุก 18 เดือนจะมีการขุดลอก แต่หากทำเช่นนั้นต้นกกที่ใช้บำบัดจะใช้เวลาฟื้นตัวนานถึง 2 ปี จึงทำให้ประสิทธิภาพในการบำบัดลดลง เริ่มเห็นปัญหาตั้งแต่ปี 42 จึงได้หาวิธีที่จะบำบัดน้ำซึ่งมีการทดลอง วิเคราะห์ วิจัย และดำเนินการขออนุมัติเปลี่ยนแปลงต่อ สผ.ในปี 42 ในรับอนุมัติปี 53   สำหรับการทำม่านน้ำป้องกันการฝุ่นละออง ในระหว่างใช้ม่านน้ำมีการปลูกต้นไม้ไปด้วยเพื่อช่วยกรองฝุ่นละออง และมีการตรวจวัดฝุ่นในหมู่บ้านควบคู่ไป  ผ่านไประยะหนึ่งต้นไม้สูงเกิน 20 เมตร ซึ่งการตรวจวัดค่าฝุ่นเป็นไปตามมาตรฐานจึงขอยกเลิกม่านน้ำ แก้ไขไปพร้อมกับเรื่องแรกเมื่อปี 42  ส่วนเรื่องการให้ขนส่งเปลือกดินโดยใช้ระบบสายพานที่มีการติดตั้งสเปรย์น้ำตามแนวสายพาน วางแปนจุดปล่อยดินไม่อยู่ในตำแหน่งต้นลมที่พัดผ่านไปยังชุมชนโดยรอบ จัดทำบังเกอร์ให้จุดปล่อยดินต่ำกว่าความสูงของบังเกอร์ ในเรื่องนี้ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว

ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวต่อไปว่า  การอพยพราษฎรออกไปให้พ้นระยะ 5 ก.ม. ก่อนทำเหมืองได้ประมาณการไว้ว่าโรงไฟฟ้าแม่เมาะน่าจะมีกำลังผลิตได้ประมาณ 4,000 เมกกะวัตถ์ มีถึงโรงที่ 19  ต้องมีการขุดหน้าดิน 145 ล้านลูกบาศก์เมตร ใกล้หมู่บ้านระยะ 50 เมตร ตามมาตรฐานการทำเหมือง หากใกล้ต้องมีการตั้งคณะกรรมการอพยพขึ้นมาให้ย้ายชาวบ้านออกจากรัศมี แต่เมื่อดูแล้วว่า กฟผ.แม่เมาะไม่น่าจะขยายไปถึงโรงที่ 19  โดยปริมาณที่คำนวณอายุโรงไฟฟ้าและถ่านหินที่เหลืออยู่น่าจะใช้ได้ถึงปี 2594  ประมาณ 36 ปี  คิดว่าคงไม่ความจำเป็นขุดขนดินถึง 145 ล้านลูกบาศก์เมตร  ตอนนี้มีอยู่ 90 ล้านลูกบาศก์เมตรที่จะต้องขนออก และระยะห่างสุดจากที่ทิ้งดินถึงหมู่บ้านใกล้สุดเกือบ 1 กิโลเมตร ความจำเป็นในการอพยพราษฎรจึงไม่มีแล้วจึงได้ขอแก้ไขไป   อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่ขออนุมัติ สผ.ไปแล้วก็จะทำให้ถูกต้อง เนื่องจาก สผ.เห็นชอบแล้ว สผ.แจ้งไปยังอธิบดี กพร. โดยอุตสาหกรรมได้แจ้งมายัง กฟผ.แล้วว่ามาตรการที่จะขอแก้ไขไปต้องทำอย่างเคร่งครัด แต่ข้อตามกฎหมาย พ.ร.บ.แร่ ถ้ามี EIA แนบท้ายประทานบัตรคนที่อนุญาตให้แก้ไขได้คือ อธิบดี กพร. จึงต้องย้อนไปทำใหม่ให้ถูกต้อง อยู่ระหว่างปรึกษากับอธิบดี กพร.อยู่ ในเรื่องนี้คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดบอกว่า ถ้า กฟผ.มีมาตรการทีดีกว่าก็ทำให้ถูกต้อง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ กฟผ.ต้องทำภายใน 90 วันตามที่ศาลสั่ง ประมาณการว่าจะเสร็จในเดือนพฤษภาคมนี้

เรื่องสุดท้ายคือ เรื่องสนามกอล์ฟ ในคำพิพากษาเขียนไว้ชัดเจนว่า กรณีที่นำพื้นที่ฟื้นฟูขุมเหมืองไปสร้างสวนพฤกษชาติหรือสนามกอล์ฟ ต้องเอากลับไปทำเป็นป่าฟื้นฟูธรรมชาติให้เหมือนเดิม ซึ่งในข้อเท็จจริงในการทำเหมือง การขอประทานบัตรมีมาสเตอร์แพลนว่าพื้นที่หลังจากขอจบสัมปทานแล้วหน้าตาจะเป็นอย่างไร  พื้นที่ไหนที่ต้องฟื้นฟูขุมเหมือง และพื้นที่ไหนต้องทำเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ อยู่ในแผนประทานบัตรแนบท้ายชัดเจน  พื้นที่สนามกอล์ฟยืนยันว่าไม่ได้อยู่ในพื้นที่ฟื้นฟูขุมเหมือง และเป็นพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตถูกต้องจากกรมป่าไม้ ให้ปรับเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ  ทาง กพร.ได้มารังวัดแล้วชัดเจนว่าไม่ได้ล้ำเข้าไปในขุมเหมือง เรื่องทั้งหมดภายในสิ้นเดือนจะเรียบร้อยและจะรายงานให้ศาลทราบต่อไป
           
กฟผ.ได้ให้ข้อมูลกับทางศาลไปแล้ว แต่ศาลเห็นว่ากระบวนการยังไม่ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย ถึงแม้จะเห็นว่ามาตรการที่ทำดีแล้ว แต่ยังไม่ถูกต้องจึงต้องกลับมาทำให้ถูกต้อง ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าว
           
ด้านนางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ  กล่าวว่า  ในตอนนี้ชาวบ้านก็ยังไม่เชื่อมั่น กฟผ.แม่เมาะ เนื่องจากที่ผ่านมา กฟผ.ไม่ยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง การสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทางชาวบ้านเองก็ไม่สามารถคัดค้านอะไรได้ ถึงแม้จะบอกว่าเป็นเทคโนโลยีสะอาด สามารถดักจับก๊าซต่างๆได้ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ขอร้องให้ช่วยย้ายผู้ป่วยที่ยังคงอยู่ในรัศมีออกมาโดยเร็ว อย่าเอาชีวิตของผู้ป่วยไปทดลองกับเครื่องจักรเหล่านี้ ส่วนใครที่อาศัยอยู่ได้ก็ให้เขาอยู่ต่อไป คนที่ไม่ไหวก็ต้องช่วยปกป้องและป้องกันไม่ให้ได้รับผลกระทบไปมากกว่านี้


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1026 วันที่ 1  -  7  พฤษภาคม  2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์