เรียกว่าไม่มีชาติพัฒนาชาติไหน จะสร้างความน่าทึ่ง ที่เด็กนักเรียนต้องเรียนซ้ำเป็นหลักในโรงเรียนกวดวิชา โดยมีโรงเรียนประจำเป็นฝ่ายทำหน้าที่สอนเสริม และอึ้งไปในเวลาเดียวกัน เมื่อพบว่าเด็ก ม.3 หลายคนแก้โจทย์เลขง่ายๆไม่ได้ ทั้งที่ลงแรง ลงทุนกันมาไม่น้อย
ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย พอถึงช่วงเทศกาลเปิดเทอม จะเป็นช่วงที่แต่ละครอบครัวต้องประหยัด เพราะค่าใช้จ่ายจะหมดไปกับค่าเทอม ค่าชุดนักเรียน ชุดพละ ชุดลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด กระเป๋า รองเท้า ที่อาจจะแทนของเก่าที่ชำรุดไปตามสภาพการใช้งาน อุปกรณ์การเรียน สมุด-หนังสือเรียน สำหรับแต่ละเทอม นั่นคือภาระที่ผู้ปกครองต้องจ่าย แต่ปีนี้กลายเป็นภาระที่ดูจะหนักอึ้งกว่าทุกปีเพราะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ทุกการใช้จ่ายดูจะหนักอึ้งไม่น้อย
นโยบายเรียนฟรี 15 ปี ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2552 คือ โดยรัฐจะช่วยเหลือในส่วนค่าเล่าเรียน แบบเรียน เสื้อผ้าชุดนักเรียน 2 ชุดต่อปี ค่าอุปกรณ์การเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ในแต่ละหมวดก็จะมีเพดานสูงสุดที่รัฐจะอุดหนุนให้ ส่วนต่างที่เหลือผู้ปกครองก็รับหน้าที่ดูแลต่อไป
นโยบายนี้ก็ช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครองไปได้ไม่น้อยเมื่อเทียบกับสมัย 20 ปีที่แล้ว จำได้ว่าช่วงนั้นบ้านไหนที่มีฐานะแย่ถึงขั้นยากจน ถึงขั้นเอาทองหยอง ของที่พอจะมีค่า หรือแม้กระทั่ง หม้อหุงข้าว เตารีด ครก ไปตึ๊งไปฝากไว้ที่โรงจำนำก็มี หนักกว่านั้นบางบ้านต้องหันหน้าไปกู้หนี้นอกระบบเพื่อให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอม ถึงได้พูดกันว่า มีลูก 1 คน จนไป 10 ปี
แต่ในโลกของความเป็นจริงผู้ปกครองทั้งหลายต่างก็มุ่งหวังให้ลูกหลานได้มีโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียนชั้นนำกันทั้งนั้น แม้ว่าจะสอบไม่ติดโรงเรียนประจำจังหวัดแต่ก็พยายามส่งเสียให้เรียนโรงเรียนเอกชน สนนราคาค่าเทอมที่ลำปางเบาะๆก็ 2-3 หมื่นบาท/เทอม ไม่รวมค่ากิจกรรม ผ้าป่า ส่วนโรงเรียนที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐก็มักจะบอกกับผู้ปกครองว่าเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา จึงต้องเก็บค่าบำรุงเพิ่ม โดยต้นสังกัดก็มีช่องว่างให้ทำเรื่องขออนุมัติเก็บเพิ่มโดยมีเพดานเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น
ค่าสอนคอมพิวเตอร์ ที่แม้แต่โปรแกรมมาตรฐานที่ควรจะใช้คล่องอย่างไมโครซอฟออฟฟิต จนจบป.ตรี ก็ยังเห็นหลายคนใช้ไม่คล่อง ทั้งที่จ่ายค่าเรียนมาตั้งแต่ชั้นมัธยม รวมไปถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่หลายโรงเรียนสเปคเก่าแก่ ระบบไอทียังไม่พัฒนาแต่ใช้วิธีการลงทะเบียน เลือกชุมนุมทางอินเตอร์เนตจนเว็บล่มทุกครั้งไป
ค่าจ้างครูต่างประเทศ แต่จนแล้วจนรอด เด็กๆบ้านเราเรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ชั้นประถมยันมัธยมปลาย ภาษาอังกฤษแทบไม่กระดิก พิสูจน์ได้จากคะแนนสอบ O-NET ฉะนั้นภาษาอื่นไม่ต้องพูดถึง แต่ก็จำเป็นต้องจ่าย เพราะเรากำลังจะเดินหน้าเข้า ACE
ค่าสาธารณูปโภคสำหรับเรียนในห้องปรับอากาศ ช่วงหน้าร้อนเราถึงได้มีวันปิดเทอม เพราะมันร้อนมาถึงมากที่สุด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะติดเครื่องปรับอากาศทุกห้อง ดังนั้นเด็กๆต้องลุ้นว่าชั่วโมงไหนจะได้เรียนในห้องแอร์ บางห้องก็มีแอร์ไม่เสีย ไม่มีการซ่อมบำรุง แต่มีการเรียกเก็บค่าสาธารณูปโภคเพิ่ม
ค่าจ้างบุคลากรที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษา ค่าบำรุงสมาคม และอื่นๆอีกจิปาถะ รวมๆแล้ว ผู้ปกครองต้องควักกระเป๋าจ่ายอีกราวๆ 3-5 พันบาท สำหรับห้องปกติ และ ราวหนึ่งหมื่น บาท สำหรับห้องพิเศษ
ค่าโสหุ้ยทั้งหลายผู้ปกครองยอมจ่ายเพราะอยากให้ลูกหลานได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด แต่ไม่ได้หมายถึงการยินยอมอย่างเต็มใจที่จะต้องจ่ายไปกับการเรี่ยไรเงินเพื่อระดมทุนสร้างตึก ค่าใช้จ่ายกิจกรรมที่งอกเงยโผล่ในระหว่างเทอม เสื้อกีฬา เสื้อกิจกรรมที่ปีๆหนึ่งมี 3-4 ครั้ง หรือชุดครุยของเด็กเล็กที่จบระดับอนุบาลที่กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้ว ค่าใช้จ่ายค่าต่างๆเหล่านี้เราย่อมหวังว่าลูกหลานจะได้ผลตอบแทนที่ดีในรูปของคุณภาพการศึกษา แต่กลับกลายเป็นว่าต้องไปเสียค่าเรียนพิเศษอีกเทอมละเป็นหมื่น
แร็ค ลานนา เคยเจอเด็กนักเรียนชั้น ม.3 แก้สมการเลขง่ายๆไม่ได้ นี่รู้สึกว่าแย่แล้ว ที่แย่นี่ไม่ได้หมายถึงตัวเด็ก แต่หมายถึงระบบการเรียนการสอนที่ไม่สามารถให้มีความรู้ตามชั้นเรียนได้ แต่เหนือฟ้ายังมีฟ้า เพราะมีโอกาสได้เจอเด็กนักเรียนชั้น ม.2 ที่ความรู้วิชาคณิตศาสตร์อยู่ในขั้นโคม่า เพราะท่องสูตรคูณ คูณ หารเลขไม่ได้ พอสอบถามกลับไปว่าเรื่องพวกนี้เรียนตั้งแต่ตอน ป.5 แล้วตอนนั้นเรียนอยู่ที่ไหน เด็กคนนั้นตอบว่าจบจากโรงเรียนเทศบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดลำปาง ฟังแล้วนึกย้อนไปถึงสมัยแร็ค ลานนา ยังเด็ก สมัยนั้นเราก็ทำตามกฎกติกาว่าคะแนนไม่ผ่านเกณฑ์ ก็ต้องเรียนซ้ำชั้น ยิ่งในสมัยพ่อแม่ยิ่งชัดเจน หลายคนในสมัยนั้นเรียนซ้ำชั้นกันจริงๆไม่ใช่แค่ขู่
การศึกษาก็เหมือนโดมิโน่ ถ้าหมากตัวหนึ่งล้ม มันก็จะล้มต่อๆกัน ถ้าความรู้พื้นฐานไม่ดีการจะต่อยอดให้เฉียบคมก็คงเป็นไปได้ยาก
จริงอยู่ว่าคนเรียนดีเรียนเก่ง ไม่ได้หมายความว่าคนคนนั้นจะประสบความสำเร็จในชีวิตเสมอไป แต่นั่นก็เป็นมายาคติเอาไว้ปลอบใจคนที่ไม่ใส่ใจเรียน
แต่ถึงกระนั้นความใส่ใจ ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันความสำเร็จของการศึกษา เมื่อระบบการบริหารล้มเหลวตั้งแต่ปลายยอด มันก็พร้อมล้มครืนลงมาทั้งหมด
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1029 วันที่ 22 - 28 พฤษภาคม 2558)