วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ผู้ร้ายออนไลน์


นที่เอางานของคนอื่น ไปทำมาหากิน โดยไม่ยอมลงทุน ลงแรง นับเป็นความเลวร้ายชนิดหนึ่ง ไม่ต่างไปจากโจรที่ฉกชิง วิ่งราวของชาวบ้านไปเป็นของตนเอง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการฉกชิง ข่าวลานนาโพสต์ไปใช้ อธิบายชัดเจน ถึงพฤติกรรมทำนาบนหลังคน ไม่แตกต่างจากโจรออนไลน์ที่กรุงเทพ ซึ่งกำลังได้รับบทเรียนที่เจ็บปวดขณะนี้

ณัฐวุฒิ บำรุงสรณ์ เจ้าของเว็บไซต์ และแอพ Ohozaa  ที่มักมีถ้อยคำคล้ายหัวข่าว เชิ­ชวนให้คนอ่านต้องคลิกเข้าไปดูเนื้อข่าวของเขา อธิบายว่า เขาทำเว็บไซต์ และแอพ  เพียงคนเดียว และตั้งใจจะให้เป็นที่นิยม  ด้วยการใช้คำบางคำซึ่งเกิด โดน” และทำให้คนเข้ามาอ่าน เข้ามาดู มากมาย
    
ชายคนนี้ไปทำงานสาย เกือบโดนเจ้านายว่า แต่พอรู้ว่าเขาทำเช่นนี้ ถึงกับอยากขึ้นเงินเดือนให้
      
แน่นอนว่า ด้วยกลวิธีการใช้ภาษา ที่ทิ้งคำถามไว้ให้คนสนใจใคร่รู้ ในสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้ นับเป็นความสามารถของณัฐวุฒิที่ต้องยอมรับนับถือ แต่วิธีการได้มาด้วยการฉกชิงเอาซึ่งหน้าจากงานสร้างสรรค์ของคนอื่น  ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง  ดังนั้น เมื่อณัฐวุฒิคิดว่า เขามีครีเอทีฟที่จะทำให้ ข่าวของเขา โดน เขาก็สมควรจะโดนสั่งสอนในการคิดละเมิดลิขสิทธิ์คนอื่นโดยไม่ละอายด้วย
      
การรวมตัวของบรรดาผู้ผลิตเนื้อหาทั้งหลาย  ในนามของสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ที่ได้ฟ้องผู้ละเมิดลิขสิทธิ์  จึงเป็นกรณีตัวอย่าง ที่จะเป็นบรรทัดฐานจากนี้ จากที่ผู้ถูกละเมิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งข่าว บทความ ไม่ได้ติดใจเอาความ และอาจจะเป็น “สารตั้งต้น” ในการที่สื่ออาชีพทั้งหลาย จะจัดการสื่อจอมปลอม หรือสื่อที่หากินแบบฉาบฉวย เช่น การลงทุน 10 บาท แต่เอาข่าวของเขาไปอ่าน ไปต่อยอดหากินด้วยชั่วโมงค่าตัวหน้าจอแพงลิบลิ่ว ทั้งที่ไม่ได้ลงแรงทำข่าวนั้นเลย
        
กรณีของเว็บไซต์ และแอพ Ohozaa  จำนวนคนที่เข้าไป ส่งผลให้ เจ้าของสามารถสร้างรายได้มหาศาล แม้จะแสดงข้อความว่า นำมาจากแหล่งใด แต่ก็ไม่ได้เป็นข้อยกเว้น  ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์  และถึงแม้จะเป็นข่าวที่ได้มาเหมือนๆกัน  ซึ่งเข้าข้อยกเว้น แต่เมื่อนำมาเรียบเรียงใหม่ ก็น่าคิดว่า จะเข้าข่ายงานอันมีลิขสิทธิ์ ตามกฎหมายหรือไม่ 
        
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ..2537 บอกว่างานใน 5 กลุ่มต่อไปนี้ ถือว่าเป็นงานที่ไม่มีลิขสิทธิ์ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ  เป็นข้อยกเว้น  ไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายลิขสิทธิ์ ซึ่งรวมทั้งงานข่าวด้วย
       
(1) ข่าวประจำวัน ข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เป็นเพียงข่าวสาร ที่ไม่ใช่งานในแผนกวรรณคดีวิทยาศาสตร์ หรือศิลปะ  (2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย (3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง  ทบวง กรม หรือหน่วยงานใดของรัฐหรือของท้องถิ่น  (4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ  และ (5) คำแปล และการรวบรวมสิ่งต่างๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานรัฐจัดทำขึ้น
        
แต่ในความเป็นจริง ข่าวทุกข่าวที่ตีพิมพ์ หรือออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง แพร่ภาพออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์  ล้วนเป็นข่าวที่ถูกเรียบเรียงขึ้นใหม่ มีประเด็นใหม่ ซึ่งควรจะเป็นงานวรรณกรรม ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์
      
ผมจึงมีความเห็นว่า หากไม่ได้เป็นข่าวแถลงเป็นทางการ หรือเป็นข่าวที่ได้มาจากราชกิจจานุเบกษา ซึ่งน่าจะเป็นหนังสือราชการ หรือรายงานของทางราชการตามข้อ (4) ก็ควรจะถือเป็นข่าวที่มีลิขสิทธิ์ทั้งสิ้น คดีที่สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ฟ้อง นายณัฐวุฒิ บำรุงสรณ์ ก็อาจจะนำไปสู่การวินิจฉัยในประเด็นนี้ให้ชัดเจนเสียที
        
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือการแชร์ข้อมูลอันมีลิขสิทธิ์ ในเว็บไซต์ facebook.com  ถ้าเป็นเรื่องทั่วไป น่าจะไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น บทสนทนา พูดคุย แต่ถ้าเป็นข้อความที่คิดขึ้นมาใหม่ เขียนใหม่ ก็ควรจะจัดเป็นงานวรรณกรรม ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์
     
นอกจากนั้น ยังมีปั­หาการทำลิงค์ (Linking) การรายงานข่าว นักข่าวมักใช้วิธีการแสดงผลข้อมูลโดยการทำลิงค์ เชื่อมต่อไปยังฐานข้อมูลของเว็บไซต์ หรือที่เรียกว่า Hyperlink ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากไม่มีการทำซ้ำ ดัดแปลงหรือเผยแพร่ซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์มายังเครื่องคอมพิวเตอร์ของสำนักข่าวโดยตรง แต่ในทางปฏิบัติ สำนักข่าวหลายแห่งต้องการให้ดาวน์โหลดข้อมูลมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น จึงมีการลิงค์เชื่อมต่อเก็บสำเนาข้อมูลไว้ชั่วคราวอยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์ของสำนักข่าวโดยตรง เช่นนี้อาจเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้
       
ตั้งแต่ต้นปีนี้ ผมถูกฟ้องคดีอาญาทั้งหมด 4 คดี หนึ่งในนั้นคือคดีละเมิดลิขสิทธิ์ จากการใช้ภาพบางภาพในเว็บไซต์  youtube มาประกอบงานเผยแพร่กิจกรรมสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร  ถึงแม้จะยืนยันว่าไม่มีเจตนา และไม่ได้เอาไปเป็นประโยชน์ทางธุรกิจ แต่ก็ต้องยอมรับว่าละเมิดลิขสิทธิ์เขาจริง  ในที่สุดก็ต้องจ่ายค่าเสียหาย เพื่อให้คดีจบไป

         
แล้วบรรดาเว็บไซต์ที่ทำมาหาเงิน จากงานของคนอื่นอย่างเป็นล่ำเป็นสัน  ควรต้องคิดและละอายใจหรือไม่ หรืออาจต้องการได้รับบทเรียนเช่นเดียวกับ โอโหซ่าสส

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1029   วันที่  22  -  28  พฤษภาคม  2558) 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์