ในนาทีนี้ ม้าสีหมอกคงห่มคลุมไว้แล้วด้วยผ้าขาวสองชิ้น ยืนอยู่บนแผ่นดินหะรอม มหานครมักกะห์ โดยคำเชิญของกษัตริย์ซัลมาน แห่งซาอุดิอาระเบีย ประเทศที่เคยมีประวัติศาสตร์บาดแผลกับรัฐบาลไทยมายาวนาน ซึ่งถึงวันนี้ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติก็ยังไม่ดีขึ้นนัก
ซาอุฯ ลดระดับความสัมพันธ์กับประเทศไทยลงอีก หลังจากศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตจเรตำรวจ ในคดีอุ้มฆ่า นายมูฮัมหมัด อัลรูไวรี่ นักธุรกิจชาวซาอุฯ โดยเรียกอุปทูตกลับประเทศ และให้เลขานุการโทรักษาการแทนเมื่อปีก่อน
สมคิด บุญถนอม ที่ข่าวบางกระแสบอกว่า เป็นกุนซือใหญ่ของโรงไฟฟ้าป่าเหียง
ระยะห่างระหว่างประเทศไทย และซาอุดิอาระเบีย ห่างออกไปเรื่อยๆ คงเหลือเพียงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ไม่เป็นทางการ การเดินทางไปซาอุดิอาระเบียครั้งนี้ในฐานะอาคันตุกะของกษัตริย์ของม้าสีหมอก ก็เป็นความสัมพันธ์ในแง่ตัวบุคคลอีกทางหนึ่งที่อาจสร้างความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้น
ในอดีตความเกี่ยวข้องกับประเทศซาอุดิอาระเบีย ที่ใกล้ชิดที่สุดในชีวิตการเป็นนักข่าว คือการสัมภาษณ์พิเศษ นายมูฮัมมัด ซาอิด โคจา อดีตอุปทูตซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทย เมื่อหลายปีก่อน ท่านทูตโคจา มีบุคลิกค่อนข้างแข็งกร้าว ดุดัน สมกับภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้ติดตามคดีฆาตกรรมทูตซาอุฯ และติดตามเครื่องเพชรที่ถูกคนงานไทยโจรกรรมมาจากพระราชวังของกษัตริย์
เรื่องของเพชรซาอุฯ เป็นเรื่องยืดเยื้อยาวนาน และเป็นจุดพลิกผันในชีวิตของอดีต พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ ซึ่งน่าจะมีอนาคตที่รุ่งโรจน์ในชีวิตการรับราชการ ให้กลายเป็นนักโทษหลายสิบปี จนกระทั่งได้รับอิสรภาพในวัยชราเมื่อปีก่อน
หนังสือพิมพ์ “ลานนาโพสต์” ได้ตามไปดูชีวิตของนายเกรียงไกร เตชะโม่ง คนลำปาง คนต้นตำนานเพชรซาอุฯ เมื่อไม่นานมานี้ มีแง่มุมน่าสนใจ โดยเฉพาะบทเรียนของความโลภ ที่สุดท้ายเหลือเพียงอดีตที่เรียกคืนเอามาไม่ได้
เกรียงไกร เตชะโม่ง ผู้โจรกรรมเครื่องเพชรของกษัตริย์ไฟซาล แห่งซาอุดิอาระเบีย ซึ่งถ้าเขายังอยู่ที่นั่นในเวลาที่กระทำความผิดและถูกจับได้ โทษคือการตัดมือ ตามกฎเหล็กของศาสนา แต่โชคดีที่เขาได้กลับมาประเทศไทยและรับโทษจำคุกฐานลักทรัพย์เท่านั้น
ชีวิตความเป็นอยู่ของเกรียงไกร เตชะโม่ง วันนี้อาศัยอยู่กับภรรยาเพียง 2 คนในหมู่บ้านแม่ปะหลวง ต.แม่ปะ อ.เถิน จ.ลำปาง บ้านของเขาใช้ไม้เก่ายกพื้นสูง มีรถกระบะดัดแปลงเป็นรถดั๊มไว้รับจ้างบรรทุกหิน ดิน ทราย อยู่เพียง 1 คัน ชีวิตความเป็นอยู่ของเกรียงไกรไม่ได้ร่ำรวย ยึดอาชีพทำไร่ทำนาเหมือนกับชาวบ้านทั่วไป
“ผมมีอาชีพทำไร่ข้าวโพด ทำนา โดยที่ดินของตัวเองมีอยู่ 4 ไร่ ที่เหลือก็เช่าที่ดินของคนอื่นทำ และมีรถดั๊มเล็กไว้รับจ้างขนลากทรายอยู่ 1 คัน ถ้ามีคนสั่งหิน ทราย ก็จะไปรับที่ท่าทรายนำมาส่งให้กับเพื่อนบ้านก็เข้ากันได้ดีเวลามีกิจกรรมในหมู่บ้านก็ร่วมกันทำ เท่าที่ดูแล้วคิดว่าเพื่อนบ้านเห็นว่าผมได้รับโทษแล้ว เมื่อพ้นโทษออกมาก็ไม่ประพฤติตัวแบบนั้นอีก ไม่เคยทำเรื่องไม่ดี จึงไม่มีใครพูดถึงเรื่องนั้นอีก”
เกรียงไกร บอกเล่าด้วยน้ำเสียงใสซื่อ เหมือนเขาไม่ใช่เกรียงไกร ที่เคยคิดคดลักทรัพย์ข้ามชาติมาก่อน
“ถึงตอนนี้ก็มีคนเชื่อว่า ผมยังมีเงินมีเพชรซ่อนอยู่ การที่ไปรับจ้างทำนาทำสวนก็คิดว่าผมแกล้งจน ความจริงแล้วเราไม่มีจริงๆ แต่ผมก็ไม่ได้คิดอะไร เพราะไมได้มีทรัพย์สินอะไรอยู่แล้ว ตอนนี้อายุมาก 55 ปีแล้ว อยู่กับภรรยาด้วยกันสองคนก็ต้องเข้าใจกัน ชีวิตความเป็นอยู่ทุกวันนี้ก็พอมีพอกิน ไม่ได้ทุกข์ใจอะไร ทำไร่ทำสวนไปเรื่อยๆ จะบอกว่าร่ำรวยก็คงไม่ใช่ ตอนนี้คิดอยากจะทำบ้านใหม่ก็ยังไม่เงิน ต้องปรึกษาลูกก่อน บ้านหลังนี้ก็อยู่มากว่า 20 ปีแล้ว เคยโดนน้ำท่วมหนักเมื่อปี 2544 ทรุดโทรมไปมาก ส่วนลูกทำงานอยู่กรุงเทพฯ”
“หากย้อนเวลากลับไปได้จะไม่ทำแบบนี้ ตอนนั้นไม่ได้คิดเลยว่าจะเกิดอะไร พอเกิดเรื่องลำบากมาก ตอนที่ไปอยู่ในเรือนจำแทบจะเป็นบ้า เป็นคดีที่อื้อฉาวใครพ่วงกับคดีนี้ก็เดือดร้อนกันเกือบทั่วหน้า”
ชีวิตของเกรียงไกร ที่ฝากบาดแผลไว้บนผืนทราย บอกเล่าเรื่องราวที่หลายคนในยุคสมัยนี้อาจลืมเลือนไปแล้ว
บทสรุปที่บอกเรื่องราวทั้งหมด นั่นคือความโลภตัวเดียวแท้ๆ ที่นำหายนะมาให้ชีวิตๆหนึ่งอย่างคาดไม่ถึง
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1032 วันที่ 12 - 18 มิถุนายน 2558)
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1032 วันที่ 12 - 18 มิถุนายน 2558)