นั่ งล้อมวงกันมา วันนี้จะเล่าเรื่อง “ศรีธนญชัย” ที่สะท้อนถึงศรีธนญชัยยุคใหม่ ที่เจ้าเล่ห์แสนกล พลิกลิ้นหาช่องทางให้ตัวเองได้ประโยชน์อยู่ร่ำไป แม้จะรู้เห็นด้วยสติปัญญาเช่นคนปกติว่า เป็นคนผิดเต็มประตูก็ตาม
เคยได้ยินคำกล่าวว่า เมื่อแก่ตัวขึ้นเรามักจะคิดถึงเรื่องเก่าๆ ซึ่งน่าจะเป็นจริงอย่างที่เขาว่ากัน เพราะระยะนี้เจอเหตุการณ์ที่ทำให้ย้อนคิดถึงนิทานพื้นบ้านเรื่องหนึ่งในสมัยที่ แร็ค ลานนา ยังเป็นเด็ก ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเด็กๆในยุคดิจิทัล เกิดมาพร้อมเทคโนโลยีสมาร์ทโฟน เขี่ยๆหน้าจออย่างในยุคปัจจุบันจะรู้จัก ศรีธนญชัย กันหรือไม่
เมื่อเอ่ยนาม ‘ศรีธนญชัย’ ขึ้นมาคนเก่าแก่ ย่อมรู้จักดี เพราะเป็นตัวละครลือชื่อในนิทานพื้นบ้านที่มีนิสัยฉลาดแกมโกง มีสติปัญญาปราดเปรื่อง ฉลาดเป็นเลิศ และมีเล่ห์เหลี่ยม ไม่เคยแพ้ผู้ใด แต่อวสานด้วยเชาว์ปัญญาของเณรน้อย
ชีวิตของศรีธนญชัยซัดเซพเนจรเรื่อยไป ไปอยู่กับใครก็สร้างปัญหาหนักอกหนักใจกับผู้นั้นเพราะความฉลาดแกมโกงของตัวเอง เช่น ไปสู่ขอหญิงมาเป็นภรรยาแต่พ่อแม่เขาไม่อยากยกลูกสาวให้จึงแกล้งเรียกสินสอดแพงๆ โดยเรียกสินสอดเป็น “ทองพันชั่งกับเงินร้อยหาบ” ศรีธนญชัยก็จัดเตรียมสินสอดไปให้เป็น “ใบทองพันชั่งใส่เต็มหาบ ส่วนอีกหาบหนึ่งนั้นมีเงินร้อยไว้ที่หาบเต็มไปหมด” ขุนพิพากษาตัดสินว่าเป็นสินสอดที่ถูกต้องแล้ว
และอีกเรื่องศรีธนญชัยไปเยี่ยมเพื่อนที่เป็นท่านขุนผู้หนึ่ง พบลูกสาวของเพื่อนนึกต้องตา ต้องใจจึงเอ่ยปากว่า “ขอลูกสาวของท่านขุนไปทําลูก” เพื่อนและลูกสาวเข้าใจว่าขอไปเป็นบุตรบุญธรรมจึงยอมยกให้ แต่แท้จริงแล้วขอไปเป็นภรรยา เมื่อลูกสาวท้องโตขึ้นมา ท่านขุนโวยวายมีเรื่องราวขึ้นสู่ศาลหลวง ศรีธนญชัยก็ชนะเพราะขอลูกสาวของท่านขุน ไปทำลูก เมื่อลูกสาวท่านขุนมีลูกให้ศรีธนญชัยจึงถูกต้องแล้ว แต่การใช้เชาว์ปัญญาก็มี เช่น พระเจ้าแผ่นดินเสด็จประพาสอุทยาน เมื่อเสด็จไปถึงสระน้ำจึงพูดกับศรีธนญชัยว่า “ถ้าเจ้าสามารถหลอกให้ข้าลงสระน้ำได้จะให้รางวัลอย่างงาม”
ศรีธนญชัยจึงตอบว่า “ขอเดชะ ตอนนี้พระองค์รู้ตัวอยู่แล้วว่าจะถูกหลอก ดังนั้นมิว่าข้าพระพุทธเจ้าจะทำอย่างไรก็คงไม่สำเร็จเป็นแน่แท้ เอาอย่างนี้ดีกว่าขอให้พระองค์เสด็จลงไปในสระน้ำแล้วดูสิว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะหลอกพระองค์ให้ขึ้นมาจากสระน้ำได้หรือไม่”
ทันใดนั้นพระเจ้า แผ่นดินก็ลงไปในสระน้ำรอให้ศรี ธนญชัยหลอกขึ้นมา แต่ศรีธนญชัยพูดขึ้นว่า “ข้าพระพุทธเจ้าชนะพระองค์แล้ว เพราะสามารถหลอกให้พระองค์ลงสระน้ำได้แล้ว”
จากที่กล่าวมาเป็นเพียงเศษเสี้ยวความฉลาดของ “ศรีธนญชัย” แต่นิทานไทยย่อมมีคติแฝงไว้สอนอนุชนคนรุ่นหลังเสมอ “เหนือฟ้ายังมีฟ้า” และ “คลื่นลูกใหม่ย่อมแรงกว่า คลื่นลูกเก่า”
นิทานเรื่องนี้ให้ความปราดเปรื่องของศรีธนญชัยถึงกาลอวสานด้วยเชาว์ปัญญาของเณรน้อย ซึ่งเรื่องมีอยู่ว่า เนื่องจากศรีธนญชัย ก็คือคนธรรมดาที่มีความโลภ โกรธ หลง เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป บางครั้งชีวิตก็ตกต่ำ บางครั้งชีวิตก็สุขสบายสูงส่ง และเมื่อออกบวชแล้วลาสิกขากลับมาอยู่ที่บ้าน ทราบข่าวว่าพระเจ้าแผ่นดินมีเณรน้อยผู้หนึ่งลาสึกจากเณรมาถวายเป็นทาสรับใช้ใกล้ชิดกับพระเจ้าแผ่นดินเป็นที่ร่ำลือว่าผู้นี้มีสติปัญญาเลิศล้ำยิ่งนัก เป็นที่โปรดปรานจึงตั้งให้เป็นผู้ดูแลมหาดเล็กในวัง คราวหนึ่ง ชีวิตศรีธนญชัยไปกู้เงินยายมี บอกจะชำระคืนให้ภายใน 2 เดือน แต่เมื่อถึงกำหนดแล้ว กลับบิดพลิ้วต่างๆนานา ไม่ยอมคืนหาว่ายายมีนับวันผิดไปบ้างยังไม่ครบกำหนดบ้าง
ยายมีนำคดีไปฟ้องศาลหลวงโดยมีอดีตเณรน้อยผู้รับหน้าที่เป็นนายเวร เรียกคู่กรณีมาไต่สวน แต่ศรีธนญชัยก็ไม่ชำระหนี้ อ้างว่ายังไม่ครบกำหนด 2 เดือน ในคืนวันหนึ่งอดีตเณรน้อย พบศรีธนญชัยที่ข้างสระน้ำ จึงถามศรีธนญชัยว่าเดือนของท่านมิได้หมายถึงวันแต่ละวันที่รวมกันเป็นหนึ่งเดือนใช่หรือไม่ ศรีธนญชัยตอบว่าเดือนของข้าอยู่บนท้องฟ้า วันต่อมาอดีตเณรน้อยจึงเรียกคู่ความทั้งสองมาพร้อมกันบอกว่าบัดนี้ ถึงกำหนดชำระหนี้แล้ว เพราะครบกำหนด 2 เดือน พร้อมชี้นิ้วไปยังดวงจันทร์ที่อยู่บนท้องฟ้าว่าเป็นหนึ่งเดือน และชี้นิ้วไปยังเงาดวงจันทร์ที่อยู่ในน้ำรวมเป็นสองเดือน
ศรีธนญชัยได้รับความอับอายที่ต้องมาเสียทียอมแพ้แก่นักปราชญ์น้อยผู้ซึ่งเสมือนเป็นเด็กเมื่อวานซืน จึงตรอมตรมใจด้วยริษยาที่นักปราชญ์น้อยได้รับพระราชทาน ทั้งแก้วแหวนเงินทองมากมายก่ายกองอีกทั้งยังได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่ง มียศถาบรรดาศักดิ์สูงขึ้นแทนศรีธนญชัย จนถึงกลับเป็นลมสิ้นสติไปและท้ายที่สุดศรีธนญชัยก็เสียชีวิต
และในหลายครั้งที่นิทานเรื่องนี้ ได้กล่าวถึงความฉลาดแกมโกงที่แฝงด้วยความโหดร้ายของศรีธนญชัยที่มักแกล้งทำเถรตรง เหมือนที่แม่บอกว่าให้ขายดีแบบเทน้ำเทท่า ก็เอาขนมไปเททิ้งน้ำที่ท่าจริงๆ เพราะขี้เกียจขายของ ครั้นแม่บอกให้อาบน้ำน้องล้างให้หมดใส้หมดพุง ให้สะอาดก็ผ่าท้องน้องเอามาล้างจริงๆ ทั้งที่รู้ว่าผิดแต่ก็ยังทำเพราะเกลียดน้องที่แม่ให้ความรักมากกว่า เอาความฉลาดมาใช้ในทางที่ผิด และอีกหลายต่อหลายความผิดแต่ที่เอาตัวรอดด้วยความฉลาดแต่ไร้มนุษยธรรม
หลายต่อหลายครั้ง ที่เรามักจะเห็นผู้ที่มีความฉลาดหลักแหลม นำความฉลาดทางภาษา มาตีความเพื่อหาลู่ทางเอาเปรียบคนที่ไม่มีทางสู้ หลายต่อหลายครั้งที่ความถูกต้องมักพ่ายแพ้เพียงเพราะไม่มีหลักฐานเพียงพอ และหลายต่อหลายครั้งที่อำนาจเงินผลประโยชน์ทำให้หลายองค์กรกลายเป็นศรีธนญชัยที่เล่นคำ เพื่อไม่ทำตามคำสั่งคำตัดสิน
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1033 วันที่ 19 - 25 มิถุนายน 2558)