กลุ่มออมทรัพย์ธนาคารหมู่บ้าน ชุมชนบ้านฟ่อนวุ่น ชาวบ้านขอปิดบัญชีแต่ไม่มีเงินจ่าย ร้องศูนย์ดำรงธรรมเข้าเคลียร์ปัญหา ด้านประธานกลุ่มฯเผยมีสมาชิกขอปิดบัญชีมากเกินไป จึงขาดสภาพคล่องทางการเงิน ขอเวลา 1 ปี ฟื้นฟูสภาพคล่องและหาเงินหมุนเวียนมาจ่ายยอดปิดบัญชี
เมื่อวันที่ 5 ก.ค.58 เวลาประมาณ 13.00 น. ที่ศาลาเอนกประสงค์ วัดบ้านฟ่อน ม. 2 ต.ชมพู อ.เมือง จ.ลำปาง เจ้าหน้าที่จากศูนย์ดำรงธรรม จ.ลำปาง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จาก กองสวัสดิการสังคม ฝ่ายส่งเสริมสวัสดิการสังคม เทศบาลเมืองเขลางค์นคร เจ้าหน้าที่กองทุนแห่งชาติ ได้ร่วมประชุมเพื่อแก้ปัญหากลุ่มออมทรัพย์ ธนาคารหมู่บ้านชุมชนบ้านฟ่อน หลังจากที่ชาวบ้านสมาชิกออมทรัพย์ธนาคารหมู่บ้าน บ้านฟ่อน ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรม ว่าได้รับความเดือดร้อน ถอนเงินจากเงินที่ฝากไม่ได้ และไม่ได้รับสวัสดิการตามที่ตกลงไว้ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.58 ที่ผ่านมา โดยมีนายวีระเดช สมวรรณ ปลัดจังหวัดลำปาง เป็นผู้รับหนังสือ และรับปากว่าจะได้นำเรื่องเสนอแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และมอบให้ศูนย์ดำรงธรรม เรียกผู้ที่เกี่ยวข้อง มาชี้แจง
ทั้งนี้ ในการประชุม ได้มีกลุ่มชาวบ้าน ที่เป็นสมาชิกของกลุ่มออมทรัพย์ ธนาคารหมู่บ้าน และ คณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ฯ นำโดย นายถวัลย์ โชติงาม ประธานกลุ่มออมทรัพย์ฯ เข้าร่วมกว่า 200 คน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ, ชุดสืบสวนฯ และเจ้าหน้าที่ตำรวจบ้าน คอยควบคุมดูแลความเรียบร้อย
นายถวัลย์ โชติงาม ประธานกลุ่มออมทรัพย์ ธนาคารหมู่บ้าน บ้านฟ่อน ได้นำเอกสารชี้แจงการสรุปผลการดำเนินงานของกลุ่มออมทรัพย์ ธนาคารหมู่บ้าน ตั้งแต่ปี 2550-2558 มาแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 342 ราย มีผู้ปิดบัญชีขอเข้าใหม่ 22 ราย รวม 364 ราย โดยในเอกสารได้ชี้แจงการจ่ายเงินในหลายประเภทด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น สวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ปี 2550-2558 จ่ายเงินทั้งสิ้น 455,500 บาท , จ่ายทุนการศึกษาให้บุตรสมาชิกระดับอนุบาล-ปริญญา ครอบครัวละ 1 ทุน ตั้งแต่ปี 2548-2556 รวมเป็นเงิน 664,440 บาท , จ่ายเงินตามโครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ เก็บเงินสมาชิกเข้ากองทุนปีละ 50 บาท คุ้มครองกรณีเสียชีวิต 30,000 บาท หลังจากหักหนี้คงค้างแล้ว ทางธนาคารฯจะจ่ายเงินกองทุนพร้อมหุ้นคืน เพื่อไม่ให้ผู้เสียชีวิตทิ้งภาระต่างๆไว้ โดยจ่ายตั้งแต่ปี 2550-2557 เป็นเงิน 898,253 บาท , จ่ายเงินช่วยเหลือชุมชน ทั้งงานประเพณี กลุ่มเยาวชน ด้านกีฬา กลุ่ม อสม. โรงเรียน และวัด ปี 2550-2556 รวมกว่า 166,000 บาท รวมเงินที่จ่ายเกี่ยวกับสวัสดิการและช่วยเหลือชุมชน ตั้งแต่ปี 2550-2558 เป็นเงิน 2,184,193 บาท
นอกจากนี้ยังมีส่วนของเงินถอนหุ้นและปิดบัญชี ซึ่งธนาคารหมู่บ้าน ให้สมาชิกที่มีหุ้นเกิน 20,000 บาท ถอนส่วนที่เกินได้ บางครั้งอนุโลมให้รายที่มีความจำเป็นถอนบางส่วนคืนได้ ตั้งแต่ปี 2550-2558 รวมเงินถอนหุ้นบางส่วนและปิดบัญชี เป็นเงิน 7,969,114 บาท โดยประธานกลุ่มออมทรัพย์ฯต้องสำรองจ่ายไป 150,000 บาท เนื่องจากเงินธนาคารหมู่บ้านไม่เพียงพอ และเนื่องจากสมาชิกบางส่วน ขอปิดบัญชี ในปี 2555-2557 รวม 325 ราย ทางธนาคารหมู่บ้านได้จ่ายปิดบัญชีตามลำดับ โดยจ่ายไปถึงรายที่ 186 เป็นเงิน 1,407,135 บาท ทำให้ระบบการเงินขาดสภาพคล่อง
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านยังคงสงสัยในเรื่องของเงินในระบบ เช่น มีเงินฝากเท่าไร มีการปล่อยกู้ไปเท่าไร โดยทางคณะกรรมการฯแจ้งว่าจะต้องสรุปยอดออกมาเป็นรายปี ตอนนี้ยังไม่ได้มีการสรุป ชาวบ้านจึงได้แจ้งความประสงค์ขอตรวจสอบบัญชีธนาคาร ซึ่งทางคณะกรรมการฯ ได้รับปากจะส่งบัญชีให้ตัวแทนชาวบ้านตรวจสอบ ส่วนกรณีการเก็บสมุดบัญชีไว้ คณะกรรมการฯกล่าวว่า เก็บรักษาไว้ให้เพื่อกันหาย ไม่ได้เปลี่ยนแปลงใดๆในสมุดบัญชีแต่อย่างใด
สำหรับแนวทางการหาทางออกร่วมกัน สรุปได้ว่า ธนาคารหมู่บ้าน ต้องทำรายงานเป็นปัจจุบัน และสมาชิกจะขอตรวจสอบบัญชีรายรับ-จ่าย ทั้งหมด , สมาชิกสามารถมารับสมุดบัญชีคืนได้ ส่วนการแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน และบริหารผิดพลาด ทางคณะกรรมการฯขอเวลา 1 ปี ในการฟื้นฟูสภาพคล่อง โดยการ ขอเงินทุนสถาบันอื่น มาหมุน เพื่อปล่อยเงินกู้ นำดอกเบี้ยมาหมุน และเมื่อครบ 1 ปี จะคืนเงินให้สมาชิกที่ปิดบัญชีไปแล้ว ซึ่งในช่วงนี้ให้ลดรายจ่ายทุกอย่าง ทั้งงดถอนเงิน งดปันผล งดปิดบัญชี งดดอกเบี้ย เงินช่วยเหลือต่างๆ และงดถอนหุ้น
ด้านชาวบ้านที่ปิดบัญชีไปแล้ว ได้ขอเยียวยา เนื่องจากขอปิดบัญชีไปกว่า 1 ปีก็ยังไมได้เงินคืน เงินต้องไปจมอยู่ในส่วนนี้ไม่สามารถนำมาใช้ได้ จึงขอให้ดอกเบี้ยด้วย ซึ่งทางคณะกรรมการฯ ขอประเมินผลอีก 6 เดือน ว่าสามารถจะนำผลกำไรจากเงินที่ปล่อยกู้ มาจ่ายเป็นดอกเบี้ยได้หรือไม่ โดยจะให้คำตอบอีกครั้งตอนสิ้นปีนี้
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1036 วันที่ 10-16 กรกฏาคม 2558)