วันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

สองเขื่อนใหญ่วิกฤติ นอกเขตชลฯงดทำนา


สองเขื่อนใหญ่ลำปาง เหลือนำใช้ได้อีก 40 วัน  ผอ.โครงการฯยันส่งให้เกษตรกรในเขตชลประทานทำนาได้ ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร้องขอให้งดทำนาไปก่อน และให้ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน รองผู้ว่าราชการฯ เผยเจ้าหน้าที่เร่งนำเครื่องสูบน้ำกว่า 29 เครื่องไปติดตั้งตามหมู่บ้านที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคเร่งด่วน ด้าน อ.เถิน และวังเหนือ แล้งหนัก ข้าวโพดยืนต้นตายหลายพันไร่ กล้าข้าวที่เตรียมไว้ทำนาก็เริ่มแห้ง อบต.ต้องสูบน้ำจากแม่น้ำวังมาช่วยรดต้นกล้า โชคดีฝนตกในพื้นที่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นมาเล็กน้อย

สถานการณ์น้ำใน เขื่อนใหญ่ของ จ.ลำปาง คือเขื่อนกิ่วลม และเขื่อนกิ่วคอหมา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปางยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากต้องระบายออกช่วยเหลือเกษตรกรที่เตรียมแปลงนาที่อยู่ในเขตประทานอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ไม่มีน้ำไหลเข้าในเขื่อนเพียงพอที่จะเก็บกักไว้ได้ ทำให้น้ำใน 2 เขื่อนใหญ่เหลือใช้ได้อีก 40 วันเท่านั้น

-สองเขื่อนเหลือน้ำ 40 วัน

นายฤทัย พัชรานุรักษ์ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำ ณ วันที่ 15 ก.ค.58 น้ำในเขื่อนกิ่วลมความจุ 106 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำเหลืออยู่ 32 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 30 ของความจุ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 29 ล้านลูกบาศก์เมตร  ส่วนเขื่อนกิ่วคอหมามีความจุเก็บกับได้ 170 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีน้ำเหลืออยู่ 29 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 16.7 ของความจุ  น้ำใช้การได้ 23 ล้านลูกบาศก์เมตร  โดยรวมมีน้ำใช้ได้ประมาณ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร  น้ำที่เหลืออยู่ขณะนี้สามารถวางแผนบริหารจัดการน้ำได้ โดยการจัดส่งเป็นรอบเวรไปยังคลองสายใหญ่ของเขื่อนกิ่วลมฝั่งขวา ไปยังพื้นที่ปลายคลองที่ อ.เกาะคา  และพื้นที่เขตชลประทานแจ้ห่มที่จะรับน้ำโดยตรงจากเขื่อนกิ่วคอหมา  จะใช้น้ำในอัตราเฉลี่ยวันละ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร  สามารถรองรับการใช้น้ำได้อีกประมาณ 40 วัน  คาดการณ์ว่ากลางเดือน ส.ค.58 จะมีฝนเข้ามาเติมน้ำในเขื่อนทั้งสองมากขึ้น สภาวะวิกฤติจะหมดไป  แต่หากว่าในปีนี้ฝนยังน้อยอยู่ ในปีต่อไปจะเกิดผลกระทบหนักกว่านี้แน่นอน ดังนั้นจึงต้องรอประเมินสถานการณ์ช่วงเดือน ส.ค. ก.ย. และต.ค. ซึ่งเป็น 3 เดือนสุดท้ายของฤดูฝนด้วย

-ยังส่งน้ำพอทำนา

ที่น้ำกิ่วคอหมาลดน้อยลงมาก เพราะระบายมาเพิ่มเติมให้เขื่อนกิ่วลม ถ้าเทียบกับปี 35 ที่ไม่มีเขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนกิ่วลมเหลือน้ำ 24 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบันมีเขื่อนกิ่วคอหมาซึ่งสามารถระบายน้ำมาเติมให้เขื่อนกิ่วลมได้ จึงยังไม่ถึงขั้นวิกฤติมากนัก  หากในปีนี้ฝนยังทิ้งช่วงยืดยาวไปก็มีความเสี่ยงมาก แต่ว่าเราใช้มาตรการส่งน้ำเพื่อลดการสูญเสียน้ำและยืดระยะเวลาการระบายน้ำให้ยาวขึ้น เชื่อมันว่าพื้นที่ชลประทานที่อยู่ในความรับผิดชอบ จะส่งน้ำให้เตรียมแปลงปลูกได้เพียงพอ  ผอ.โครงการฯ กล่าว

-แล้งซ้ำซาก 83 หมู่บ้าน

ด้านนายมงคล สุกใส รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง  กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดลำปาง ถือว่าโชคดีที่ยังไม่ประสบปัญหาภัยแล้งในขณะนี้ แต่มีภัยแล้งเกิดขึ้นซ้ำซากทุกปีตามรายงานมีอยู่ 83 หมู่บ้าน กระจายไปทั่วทั้ง 13 อำเภอในจังหวัดลำปาง ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวและระยะสั้นไว้แล้ว

-ติดตั้งเครื่องสูบน้ำช่วย

โดยระยะสั้นได้มีการนำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ไปติดตั้ง เพื่อทำการสูบน้ำไปให้หมู่บ้านดังกล่าวใช้ในครัวเรือนไปก่อน  โดยสำนักชลประทานลำปาง ได้นำเครื่องสูบน้ำไปติดตั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำแล้ว ส่วนระยะยาวตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ปลอดหมู่บ้านภัยแล้งภายในปี 2561 ทั่วทั้งประเทศนั้น ในส่วนของจังหวัดลำปาง ได้กำหนดแผนการทำงานคือ ให้ตรวจสอบพื้นที่แหล่งน้ำว่าหมู่บ้านดังกล่าวมีระบบการผลิตน้ำประปาหรือไม่ หากไม่มีให้ดำเนินการตรวจสอบหาแหล่งขุดเจาะน้ำและติดตั้งระบบประปาหมู่บ้าน ส่วนที่สอง คือ แหล่งน้ำที่ใช้ในการเกษตร ให้ตรวจสอบว่าพื้นที่แห้งแล้งซ้ำซากเพาะปลูกพืชชนิดไหน จากนั้นนำมาวิเคราะห์และหาแหล่งน้ำทางธรรมชาติ เพื่อกักเก็บไว้ใช้เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2560 นี้  นายมงคล กล่าว

-นอกเขตชลประทานงดเพราะปลูก

รองผู้ว่าฯ กล่าวอีกว่า  ส่วนการเพาะปลูกข้าวของชาวนาในพื้นที่จังหวัดลำปาง ยังคงเดินหน้าทำนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ระบบชลประทานเข้าถึง ชาวนาได้มีการเตรียมพื้นที่และเพาะปลูกข้าวกันแล้ว ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานได้มีการร้องขอให้ชาวนาเลื่อนการทำนาออกไปก่อน เพราะจะต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก และคาดการณ์ไว้ว่าปลายเดือน ก.ค.นี้ในพื้นที่ภาคเหนือจะโชคดีที่มรสุมหรือพายุจะพัดเอาเมฆฝนมาตกในพื้นที่ภาคเหนือย่างแน่นอน  ซึ่งจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนและแหล่งน้ำต่างเพื่อให้ในการอุปโภคบริโภค ซึ่งในช่วงนั้นชาวนาที่อยู่นอกเขตชลประทานก็สามารถทำการเพาะปลูกได้  

-แม่พริกน้ำวังแห้งขอด

ขณะที่ อ.แม่พริก จากสถานการณ์ภัยแล้งจากภาวะฝนทิ้งช่วงในพื้นที่ ทำให้แม่น้ำวังได้แห้งขอดลงอย่างมากจนเห็นพื้นทราย และสันดอนโผล่ขึ้นมาตลอดสายน้ำ โดยสถานการณ์เข้าใกล้ภาวะวิกฤตแล้ว ทางอำเภอแม่พริก โดย นายอรรถวุฒิ พึ่งเนียม นายอำเภอแม่พริก และ นายวินัย  วงค์ษา ปลัดอำเภอแม่พริก ได้รุดออกตรวจสอบสายน้ำในแม่น้ำวังเขตพื้นที่ อ.แม่พริก  เพื่อประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดทุกระยะ ซึ่งพบว่าแม่น้ำวังได้แห้งขอดลงเรื่อย ๆ จนในบางจุดเกิดสภาพที่เรียกว่า แม่น้ำวังแห้งขาด เป็นสภาพที่เหลือแต่พื้นทราย และสันดอนโผล่ขึ้นมาให้เห็นเท่านั้น โดยแม่น้ำวังที่สายน้ำแห้งขาดเกิดขึ้นที่เขตบ้านท่าด่าน ม.2 ต.แม่พริก อ.แม่พริก จ.ลำปาง

-นายอำเภอห้ามสูบน้ำ

ด้าน นายอรรถวุฒิ  พึ่งเนียม นายอำเภอแม่พริก เปิดเผยว่า สถานการณ์ในช่วงนี้ถือว่าอยู่ในช่วงก่อนเข้าสู่ภาวะวิกฤตน้ำในพื้นที่ ทางอำเภอได้มีการประชุมร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำนัน และผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านใน 3 ตำบลของอ.แม่พริก ว่า ได้มีการประกาศระเบียบของการสูงน้ำในช่วงสถานการณ์ที่น่าห่วงนี้ ว่าเพื่อให้พื้นที่ผ่านวิกฤตนี้ไปได้ โดยเฉพาะป้องกันกันปัญหาการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ จึงออกประกาศให้ทุกพื้นที่งดการสูบน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค.58 จนถึงสิ้นเดือน ก.ค. 2558 นี้ เป็นระยะเวลา 20วัน ซึ่งน้ำที่เหลืออยู่ในแม่น้ำวังขณะนี้ ขอให้เก็บไว้ใช้ในการผลิตน้ำประปาเป็นหลักเพื่อให้ทุกหมู่บ้านเพียงพอต่อการใช้น้ำ ซึ่งจะมีความสำคัญในการดำรงชีพของชาวบ้าน และให้ทุกครัวเรือนใช้น้ำกันอย่างประหยัดให้มากที่สุด ส่วนชาวนาก็ขอให้ชะลอการทำนาออกไปจนถึงปลายเดือนนี้ เป็นระยะเวลา 20 วัน เช่นกัน และอยากที่จะให้ชาวนาปรับเปลี่ยนการทำนาแบบปักดำ เป็นนาหว่านหรือนาหยอด หรือปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน

-วังเหนือแล้ง 7 ตำบล

ขณะที่ อ.วังเหนือ มีหลายพื้นที่ประสบปัญหาแห้งแล้ง ไม่ว่าจะเป็น ต.วังแก้ว ต.ทุ่งฮั้ว ต.วังทรายคำ ต.วังทอง ต.ร่องเคาะ ต.วังเหนือ และ ต.วังใต้  ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร ทำนา และปลูกข้าวโพดเป็นหลัก

-ข้าวโพดตายกว่าพันไร่

นายชัช วางท่า นายก อบต.วังทรายคำ  เปิดเผยว่า  พื้นที่ ต.วังทรายคำ ได้ประสบปัญหาแล้งอย่างหนักเมื่อช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากฝนทิ้งช่วง ทำให้ต้นข้าวโพดที่ชาวบ้านปลูกไว้แห้งตายไปกว่าพันไร่ นอกจากนั้นยังมีต้นกล้าที่เตรียมไว้ปลูกข้าวทำนาเริ่มแห้งตาย ทาง อบต.จึงนำรถดับเพลิงไปสูบน้ำในแม่น้ำวังมารดต้นกล้าให้เกษตรกรเพื่อหล่อเลี้ยงให้มีความชุ่มชื่น โชคดีที่ในสัปดาห์นี้มีฝนตกลงมา จึงทำให้ช่วยคลี่คลายปัญหาได้บ้าง แต่ในส่วนพืชผลที่แห้งตายไปแล้ว เกษตรก็ต้องเสียเงินลงทุนไป ต้องมาเริ่มลงทุนใหม่ทั้งหมด เห็นใจเกษตรกร เนื่องจากทาง อบต.ก็ไม่มีงบประมาณที่จะช่วยเหลือในส่วนนี้

-ผลักดันแหล่งเก็บกักน้ำ

ด้านนายสำคัญ วรรณบวร ว่าที่ผู้แทนเกษตรกรภาคเหนือ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องแหล่งน้ำและการช่วยเหลือเรื่องภัยแล้งของเกษตรกร ตนเองเคยผลักดันมายาวนาน โดยได้เสนอความคิดเรื่องการวางท่อส่งตรงจากเขื่อนกิ่วคอหมาให้ส่งน้ำมาเก็บกักไว้ที่อ่างเก็บน้ำวังเฮือ ชาวบ้านจะได้สามารถมีน้ำไว้ใช้ในการเกษตรได้ตลอดปี แต่ก็ยังติดปัญหาในเรื่องพื้นที่และอีกหลายๆเรื่อง ซึ่งต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนอีกมากมาย สิ่งที่จะช่วยกันได้ในตอนนี้คือ ชาวบ้านเองก็ต้องหันมาปลูกป่า อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เมื่อมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์แล้ว น้ำก็ย่อมมาเติมเต็มเช่นกัน

-ยังไม่พบถนนทรุด

ส่วนกรณีถนนทรุดที่เกิดจากน้ำแห้งแล้งในพื้นที่ จ.ลำปาง ยังไม่พบว่าเกิดปัญหาแต่อย่างใด นายลิขิต ทิฐิธรรมเจริญ ผอ.แขวงการทางหลวงชนบท  กล่าวว่า  ในพื้นที่ภาคเหนือเป็นพื้นที่ภูเขา พื้นดินจึงเป็นดินดานที่มีความแข็งแรงอยู่แล้ว จึงไม่ประสบปัญหาถนนแตก หรือถนนทรุด เหมือนในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งดินข้างใต้เป็นดินอ่อน ที่ จ.ลำปางก็ยังไม่พบว่าเกิดปัญหานี้ แต่อย่างไรก็ตาม ได้มีการเฝ้าระวังอยู่โดยเฉพาะถนนที่อยู่ติดกับคลองชลประทาน ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1037 วันที่ 17 - 23  กรกฏาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์