วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2558

รวมกันเราแตก แยกกันเราอยู่ !?


น่าแปลกอย่างยิ่ง สำหรับสังคมไทย มิใช่เรียกร้องให้รักสามัคคีกันทั้งที่สังคมแห่งความหลากหลายนี้ไม่มีทางจะสมานกันเป็นเนื้อเดียวได้ หรือร้องเพลงว่าสังคมแห่งความสงบสุขจะกลับคืนมา คนไทยจะกลับมารักกัน
           
แต่ให้แยกแบ่งกันตามความคิด ตามอุดมการณ์ของแต่ละกลุ่ม ไม่ก้าวก่ายแทรกแซงกัน นี่แหล่ะคือความอยู่รอด
           
ปรากฏการณ์  แม่น้ำแยกสาย ไผ่แยกกอ” ที่เกิดขึ้นในวงการสื่อมวลชนก็เช่นกัน เป็นเรื่องปกติที่มีมาต่อเนื่องยาวนาน นับจากที่สมาคมนักข่าวแยกตัวออกมาจากสมาคมหนังสือพิมพ์ การเกิดขึ้นของสมาคมสื่อที่หลากหลาย ไม่ได้เป็นเรื่องความแตกแยก แตกต่าง
           
หากแต่เป็นการผลิดอก ออกใบ ในกลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกัน อุดมการณ์เดียวกัน เพื่อสร้างสังคมสื่อให้มีความน่าเชื่อถือ ไว้วางใจ โดยเฉพาะองค์กรสื่อที่มีเป้าหมายเพื่อยกระดับมาตรฐานทางจริยธรรม อันมีต้นกระแสธารจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
           
เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ 25 ชื่อฉบับ ได้ร่วมลงนามในบันทึกเจตนารมณ์ จัดตั้ง สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ” เมื่อ 18 ปีก่อน พวกเขามีความเห็นร่วมกันว่า ควรต้องมีองค์กรอิสระ เพื่อทำหน้าที่ควบคุมกันเองและส่งเสริมเสรีภาพและความรับผิดชอบของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์
           
ผู้ริเริ่มก่อตั้งสภา น.ส.พ.คือคนทำหนังสือพิมพ์ทั้งประเทศ ไม่แยกแบ่งที่ตั้งตามภูมิศาสตร์ หรือขนาดใหญ่-เล็ก
           
นับจากก่อตั้งสภา น.ส.พ.คนข่าวจากต่างจังหวัด ร่วมเป็นคณะกรรมการมาตั้งแต่ชุดแรก และต่อเนื่องมาทุกยุคสมัย รวมทั้งคณะอนุกรรมการซึ่งเป็นกลไกการทำงานสำคัญ คณะอนุกรรมการสมาชิกสัมพันธ์ในยุคสุดท้ายที่ผมเป็นกรรมการ เกือบทั้งหมดเป็นตัวแทนองค์กรสมาชิกจากต่างจังหวัด
           
สามปีที่ผมเป็นกรรมการ เรายกเว้นไม่เยี่ยมสมาชิกส่วนกลาง แต่ให้เวลาส่วนใหญ่ไปเยี่ยมเยือนถามไถ่ทุกข์สุของค์กรสมาชิกในต่างจังหวัด ยามเจ็บไข้ได้ป่วย ยามจากลาหรือสูญเสีย ตัวแทนสภา น.ส.พ.ถือเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องไปร่วมงานและให้ความช่วยเหลือเสมอ
           
เพราะนโยบายประกาศชัดเจนแต่แรกว่า สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เป็นสภาของคนข่าวทั้งประเทศ มิใช่สภาหนังสือพิมพ์แห่งกรุงเทพ และไม่แยกแบ่งว่าเป็นหนังสือพิมพ์ขนาดเล็กหรือใหญ่
           
นโยบายนี้ชัดเจน และถูกถ่ายทอดสู่คนข่าวต่างจังหวัดทุกครั้งที่มีโอกาสพบปะสนทนากัน จนถึงวันนี้องค์กรสมาชิกที่เป็นต่างจังหวัดมีจำนวน 31 องค์กร ในขณะที่องค์กรสมาชิกในกรุงเทพมี 16 องค์กร
           
เมื่อแรกตั้งสภา น.ส.พ.คงมีแต่คนทำสื่อหนังสือพิมพ์ล้วนๆ แต่ห้วงเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา กิจการสื่อในส่วนกลางเติบโตขยายตัวจนกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีความสลับซับซ้อนในแง่ของการทำสื่อและเกิดช่องทางใหม่ๆเพิ่มขึ้นในการสื่อสารทั้งออนไลน์
           
 และการปรับตัวขององค์กรสื่อสิ่งพิมพ์ ไปสู่สถานีโทรทัศน์ดิจิทัล
           
ขณะที่สื่อหนังสือพิมพ์ในภูมิภาค ก็อยู่ระหว่างทางแยกว่า จะคงรูปแบบเดิมไว้ หรือจะปรับตัวตามบริบทของสังคมยุคใหม่
           
แต่ไม่ว่าบริบทสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร สิ่งหนึ่งที่เป็นหัวใจของคนทำสื่อและไม่มีวันเปลี่ยนแปลง คือการทำงานตามหลักการวิชาชีพ
           
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เมื่อเดินมาถึง พ.ศ.นี้ ด้วยโครงสร้าง เป้าหมายและวิธีการทำงานที่ออกแบบสำหรับสภาพสังคมและภูมิทัศน์สื่อในยุคนั้น จึงไม่อาจรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการสื่อสาร และผู้ผลิตเนื้อหา ที่มีทั้งผู้ผลิตที่เป็นสื่ออาชีพ
           
กับผู้ผลิตที่เป็นเพียงผู้ใช้เครื่องมือสื่อสาร แต่ไม่ได้เป็นสื่อที่อาจคาดหวังสิ่งใดได้
           
หากสภา น.ส.พ.ยังต้องการเวลาปรับตัว ปรับองค์กรให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น แต่ภารกิจการทำงานที่ต้องมีความรับผิดชอบตามวิชาชีพ เป็นสิ่งที่รอไม่ได้ การแบ่งหน้าที่กันทำ จึงเป็นเรื่องที่มีความเป็นไปไม่ได้
           
โดยเฉพาะในยุคที่มีการส่งเสริมให้รวมกลุ่มกัน เพื่อกำกับดูแลกันเองในเรื่องจริยธรรม ซึ่งในกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มีกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มาตรา 39
           
ให้คณะกรรมการดำเนินการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เป็นองค์กรในรูปแบบต่างๆ เพื่อทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ..
           
ผมรับชวน กสทช.ไปอธิบายความสำคัญ และความจำเป็นในการรวมกลุ่มกัน เพื่อกำกับดูแลกันเองต่อเนื่องสองปีแล้ว โดยใช้ สภานสพ.เป็นกรณีศึกษา

มีกลุ่มผู้ประกอบการโดยเฉพาะสื่อวิทยุ เคเบิลทีวี จำนวนมากตื่นตัวที่จะรวมกันเป็นองค์กร หรือสภาวิชาชีพจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นผลดีต่อความเชื่อถือในสื่อทั้งระบบ
           
การรวมตัวกันของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในต่างจังหวัด ในนามสภาวิชาชีพนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งชาติ จึงมีนัยสำคัญไม่แตกต่างกัน
           
เมื่อคำนึงถึงวิธีการเลือกเนื้อหาข่าว วิธีการนำเสนอของหนังสือพิมพ์ในต่างจังหวัดโดยส่วนใหญ่ที่มุ่งตอบสนองสัญชาตญาณความอยากรู้ อยากเห็นของมนุษย์ ด้วยข่าวประเภทอาชญากรรม ข่าวการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งล้วนแต่เป็นข่าวที่หมิ่นเหม่ต่อการละเมิดจริยธรรม
           
การรวมตัวเพื่อทบทวนบทบาทและศึกษาวิธีการจัดการบริหารหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ให้เป็นสื่อที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ในขณะเดียวกันก็สามารถอยู่รอดได้ในทางธุรกิจจึงเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ 
           
แต่ก็ต้องแยกบทบาท และความรับผิดชอบให้ชัดเจน หากกรรมการสภาใหม่ ยังคงบทบาทหน้าที่อยู่ในสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ก็สมควรต้องทบทวน เพื่อมิให้กลายเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน เหมือนบทบาทความเป็นเจ้าของและบรรณาธิการในต่างจังหวัด ซึ่งอยู่ในคนๆเดียวกัน
           
หากทุกองค์กรมีเป้าหมายชัดเจน ไม่จุกจิกหยุมหยิมในเรื่องไร้สาระ หรือใช้เหตุผลส่วนตัวมากำหนดงานที่เป็นประโยชน์สาธารณะ การปฏิรูปสื่อก็จะเดินหน้าไปได้
           
แต่วันนี้ลานนาโพสต์ยังไม่เปลี่ยนทิศทาง ยังคงเป็นลานนาโพสต์ องค์กรสมาชิกหนึ่งเดียวในลำปาง ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1041 วันที่ 14 - 20 สิงหาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์