วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2558

รวมกันเราแตก แยกกันเราอยู่

           
มีความเคลื่อนไหวในแวดวงสื่อมวลชน ที่คนนอกอาจไม่ได้รับรู้มากนัก คือความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างสื่อเมืองกรุง กับสื่อบ้านนอก ฝ่ายหนึ่งซึ่งประกอบด้วย องค์กรสื่อหลัก ฝ่ายหนึ่งเรียกตัวเองว่า สภาวิชาชีพนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งชาติ
           
คล้ายช่วงชิงการนำในองค์กรสื่อ ในฐานะสื่อบ้านนอกมีจำนวนที่มากกว่า เมื่อมองในแง่ของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ในขณะที่สื่อเมืองกรุงก็แสดงบทบาทการเคลื่อนไหวระดับชาติ ในหลายเรื่องที่ผ่านมา ตั้งแต่การคัดค้านประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนกระทั่งมีตัวแทนไปร่วมปฏิรูปสื่ออย่างเป็นทางการในสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยนัยนี้พวกเขาก็ถือว่าได้ทำงานเพื่อสื่อทั้งระบบ มิได้แยกแบ่งที่มาหรือชนชั้นสื่อใด
           
ความเห็นที่แตกต่างนี้ มาจากการเกิดขึ้นจากกฏหมายฉบับหนึ่ง
           
พลันที่ปรากฏร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน อันจะนำไปสู่การจัดตั้ง สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ขาใหญ่ในบรรดากลุ่มองค์กรวิชาชีพ ก็เกิดคำถาม
           
คำถามว่า นี่จะนำมาสู่มาเฟียตัวใหม่ นำบรรดาผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ยึดอาชีพนี้เป็นอาชีพหลัก เข้าไปอยู่ใต้ปีกอำนาจรัฐ  ในขณะเดียวกันก็อาจไปลดทอนบทบาทขององค์กรวิชาชีพที่มีอยู่ หรือทำให้ปัญหาการกำกับ ดูแลกันเองของสื่อมวลชนในเรื่องจริยธรรม จะต้องใช้กฎหมายบังคับ
           
ต้องยอมรับว่า สังคมทั่วไปตั้งคำถามถึงบทบาทของสื่อมวลชน ที่ใช้เสรีภาพจนเกินขอบเขต และคำถามนั้นก็พุ่งเป้าไปที่สภาวิชาชีพทั้งหลาย ที่มีหน้าที่โดยตรงภายใต้แนวทาง การกำกับดูแลกันเอง
           
คนจำนวนไม่น้อย ตัดสินว่า สภาวิชาชีพล้มเหลวในการกำกับ ดูแลกันเอง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องบังคับให้สื่อทำงานอย่างมีจริยธรรม ด้วยอำนาจของกฎหมาย
           
ตรรกะนี้ อาจจำเป็นต้องถกเถียงกันต่อไป เพราะยังไม่มีบทพิสูจน์ว่าการเกิดขึ้นของพี่ใหญ่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนนั้น จะได้ผลมากน้อยเพียงใด แต่เท่าที่สืบค้นข้อมูล ไม่มีองค์กรวิชาชีพใดในโลกนี้ ใช้อำนาจกฏหมายควบคุม บังคับให้สื่อต้องมีจริยธรรมโดยตรง
           
ประเด็นที่อาจไม่จำเป็นต้องโต้แย้งมากนัก และเป็นส่วนที่ดีของกฎหมายฉบับนี้ คือการส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อให้มีการกำกับ ดูแลกันเองในเบื้องต้น
           
“ม้าสีหมอก” ได้รับชวนจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ไปพูดคุยแลกเปลี่ยน เรื่อง ความสำคัญของการรวมกลุ่มเป็นองค์กรวิชาชีพอย่างมีมาตรฐาน เพื่อนำไปสู่การกำกับดูแลกันเอง เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
           
ผู้ฟังส่วนใหญ่ เป็นผู้ประกอบการ เป็นสื่อที่มีความตั้งใจดี ในการรวมกลุ่มเพื่อยกระดับมาตรฐานวิชีพสื่อมวลชนในต่างจังหวัด ซึ่งมีภาพที่แตกต่างจากสื่อส่วนกลาง แต่ก็อาจมีประเด็นคำถามที่ต้องการคำตอบตรงกัน คือการรวมกันเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้มีอำนาจต่อรอง หรือรวมกันเพื่อสร้างความเชื่อถือ ไว้วางใจให้เกิดขึ้น
           
ปัจจัยสำคัญคือ ผู้ประกอบการต้องมีความพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมเป็นมืออาชีพ โดยรวมกลุ่มกันเพื่อพัฒนามาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพ กำหนดมาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพขั้นต่ำเพื่อการธำรงไว้ซึ่งจริยธรรม และสร้างกลไกการกำกับดูแลกันเอง
           
หมายถึงจะต้องมีกระบวนการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียน มีสภาพบังคับ มีการสร้างกลไกการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพการ โดยต้องมีความพร้อมในปัจจัยการบริหารพื้นฐานอันประกอบด้วย บุคลากร (Man) งบประมาณ (Money) คู่มือในการดำเนินงานรับเรื่องร้องเรียน (Material) การบริหารจัดการ (Management) เทคโนโลยี (Machine) และคุณธรรมของตัวคณะกรรมการเอง (Moral)
           
เพื่อให้เกิดการกำกับดูแลสื่อมวลชนที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยที่เป็นอยู่ ข้อเสนอโครงสร้าง รูปแบบ และการบริหารจัดการ คือ
           
เน้นการกำกับดูแลร่วม (Co Regulation) โดยควรเป็นองค์ประกอบที่ไม่ใช่ภาครัฐ แต่ต้องมุ่งส่งเสริมให้เกิดการกำกับดูแลตนเองตั้งแต่ระดับผู้ประกอบวิชาชีพด้วยองค์กรสื่อมวลชนแต่ละแห่ง เป็นระดับที่ 1
           
ส่งเสริมองค์กรสื่อมวลชนให้เกิดการรวมกลุ่มกันเพื่อจัดตั้งเป็น องค์กรวิชาชีพ แต่ละสาขาตามสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นและมีอยู่แล้วในอดีต แต่ต้องเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรวิชาชีพด้วยการกำหนดให้มีการสร้าง หลักเกณฑ์ กติกา กระบวนการรับเรื่องร้องเรียน รวมถึงสภาพบังคับตามที่กล่าวแล้ว
           
ในขณะเดียวกันจะต้องไม่เป็นการจำกัดเสรีภาพในการสื่อสารของสื่อมวลชนอันเป็นการจำกัด เสรีภาพในการสื่อสารของบุคคลซึ่งอาจขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ
           
การกำกับดูแลควรเป็นด้วยความสมัครใจ โดยต้องให้มีการบ่งชี้ตัวตนของสื่อมวลชนที่จะต้องได้รับการกำกับดูแลอย่าง ชัดแจ้งเป็นระบบไปพร้อมกันด้วย
           
ทั้งนี้ควรนำวิธีการจดแจ้งการเป็นองค์กรสื่อมวลชนในรูปแบบเดียวกันกับสื่อสิ่งพิมพ์มาใช้เป็นกลไกในการแจงนับจำนวนสื่อมวลชนที่จะตกอยู่ภายใต้กำกับดูแล เช่นการจดแจ้งการพิมพ์ ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550
           
เป็นการกำกับระดับที่ 2
           
หากการกำกับระดับที่ และ ไม่เป็นผล สุดท้ายคือการกำกับโดยผ่าน สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
           
แต่ก่อนถึงขั้นตอนนี้ สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ จะต้องทำหน้าที่ ส่งเสริม สนับสนุนและกำกับดูแลให้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนในระดับที่สอง กำกับดูแลองค์กรสื่อมวลชนให้ทำงานภายใต้มาตรฐานจริยธรรมแห่ง วิชาชีพที่สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติกำหนด
           
ให้คำแนะนำ พัฒนา และฝึกอบรมเพื่อให้กลไกและกระบวนการการกำกับดูแลกันเองขององค์กรสื่อและสภา วิชาชีพสื่อมวลชนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งส่งเสริมความรู้การศึกษา การพัฒนาและฝึกอบรมผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนให้มีความรู้ ความรับผิดชอบ คุณธรรม จริยธรรม และมีพัฒนาการทันต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
           
ยังมีอีกหลายประเด็นที่อาจกล่าวถึงในครั้งต่อไป แต่จะต้องเข้าใจการก่อเกิดของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ เช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เมื่อ 18 ปีก่อนด้วยบริบทที่แตกต่างกัน
           
คนร่างกฎหมาย คนผลักดันกฎหมาย จะต้องเชื่อเสียก่อนว่า เขาเหล่านั้นมีความปรารถนาดี แต่ภายใต้กระแสสังคมที่ไม่เอาสื่อ โดยที่อาจยังไม่รู้ชัดว่าเหตุผลคืออะไรนอกจากคิดและพูดตามๆกันไป จะต้อ
คิดใคร่ครวญให้ครบถ้วน และรอบด้าน 
           
เพราะหลายครั้งที่ความปรารถนาดี กลับจะเป็นคมหอกที่พุ่งมาทิ่มแทงตัวเอง
           
การปะทะกันเล็กๆผ่านรูปแบบแถลงการณ์ ระหว่างสื่อเมืองกรุงกับสื่อบ้านนอกอาจเป็นเรื่องที่ต้องคิดหนักระหว่างการรวมตัวกันในขณะที่ความคิดเรื่องความรับผิดชอบยังไม่ตกผลึก กับการแยกกันอยู่เพื่อรอเวลาให้องค์กรแข็งแกร่ง และเข้าใจเรื่องการกำกับ ดูแลกันเองอย่างถ่องแท้ ทางใดจะยั่งยืนกว่า

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1039  วันที่ 31 กรกฏาคม - 6 สิงหาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์