สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯทรงเสด็จฯเปิดอ่างเก็บน้ำแม่เสริม จ.ลำปาง ข้าราชการภาครัฐ เอกชนและราษฎรในอำเภอเสริมงามปลื้มปิติ เฝ้ารับเสด็จ
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 17 ส.ค. 58 ที่อ่างเก็บน้ำ ที่บ้านโป่งน้ำร้อน หมู่ 1 ตำบลเสริมกลาง อ.เสริมงาม จ.ลำปาง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จเปิดโครงการอ่างเก็บน้ำแม่เสริม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เป็นผู้ถวายรายงาน ว่า โครงการอ่างเก็บน้ำแม่เสริม เกิดขึ้นเนื่องจากราษฎรในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตร และอุโภคบริโภคในฤดูแล้ง และประสบอุทกภัยในฤดูฝน เป็นประจำเกือบทุกปี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเสริมกลางจึงได้ขอพระราชทานโครงการอ่างแม่เสริม ถึงราชเลขาธิการ ต่อมาทางสำนักงานคณะกรรมการพิเศษได้ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) จึงมีหนังสือถึงอธิบดีกรมชลประทาน ขอความอนุเคราะห์ตรวจสอบข้อเท็จจริงพร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางการให้ความช่วยเหลือราษฎรดังกล่าว
จากนั้นกรมชลประทานได้มอบหมายให้สำนักงานชลประทานที่ 2 จังหวัดลำปางร่วมกับท้องถิ่นร่วมกันทำการสำรวจและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งศึกษารายระเอียดเพิ่มเติมจึงเห็นว่า มีแนวทางที่จะช่วยเหลือได้ด้วยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่เสริม จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาปัญหาอุทกภัยที่มักจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและเห็นผลเป็นรูปธรรม ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯรับโครงการอ่างเก็บน้ำแม่เสริมไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามที่สำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือ ที่ รล.0008.4/4351 วันที่ 7 มิ.ย.55
สำหรับอ่างเก็บน้ำแม่เสริม เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ทำนบดินกว้าง 8 เมตร มีความยาว 144 เมตร และมีความสูง 26 เมตร ความจุอ่างฯอยู่ที่ระดับสูงสุด 816,450 ลบ.ม. และระดับการเก็บกักน้ำได้ 731,450 ลบ.ม. โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 689,050 ลบ.ม. สามารถส่งน้ำผ่านระบบท่อส่งน้ำไปยังพื้นที่เพราะปลูกในช่วงฤดูฝนได้ประมาณ 1,000 ไร่ และในช่วงฤดูแล้งได้ประมาณ 400 ไร่ โดยใช้ระบบเหมือนฝายที่มีอยู่เดิมในการจัดสรรน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรที่มีอยู่จำนวน 22 แห่ง แบ่งเป็นฝายคอนกรีด 3 แห่ง และเป็นฝายไม้ตอกอีก 19 แห่ง ซึ่งทางกรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างอ่างแม่เสริม ตามโครงการพระราชดำริจนเล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2557 ใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 33.79 ล้านบาท
และหลังจากที่สร้างอ่างเก็บน้ำฯแล้ว ทำให้ราษฎรในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งแต่เดิมในฤดูฝนเกษตรกรสามารถปลูกข้าวได้จำนวนทั้งสิ้น 121 ไร่ ได้ผลผลิตไร่ละ 450 กก.ส่วนฤดูแล้งซึ่งแต่เดิมเคยปลูกถั่วลิสงได้ 60 ไร่ มีผลผลิตไร่ละ 367 กก.แต่หลังจากที่มีอ่างเก็บน้ำแล้ว เกษตรกรสามารถปลูกข้าวได้เพิ่มขึ้นเป็น 200 ไร่ และได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็นไร่ละ 600 กก.ส่วนการปลูกถั่วลิสงในหน้าแล้งสามารถปลูกเพิ่มได้เป็น 100 ไร่ นอกจากนี้ยังสามารถข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ประมาณ 10 ไร่ ทำให้ราษฎรในพื้นที่อ่างเก็บน้ำแม่เสริมและราษฎรในบริเวณใกล้เคียงมีแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ รวมทั้งยังเป็นแหล่งเพาะพันธ์ปลาน้ำจืด ทำให้มีรายได้ต่อครัวเรือนสูงขึ้น มีข้าวไว้กินตลอดทั้งปีและยังพอมีเหลือไว้เพื่อจำหน่ายได้เป็นบางส่วน และอ่างเก็บน้ำแม่เสริม ยังสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝนได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย ส่วนการบริหารจัดการน้ำนั้น ราษฎรในพื้นที่ได้มีการรวมตัวกันตั้งเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำได้ค่อนข้างเข้มแข็ง มีการตั้งกติกาเชื่อมโยงกับความเชื่อและวัฒนธรรมมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด
หลังทรงเป็นประธานเปิดอ่างเก็บน้ำแล้ว ทรงเสด็จไปปล่อยปลาน้ำจืดนานาชนิดลงสู่อ่างเก็บน้ำเพื่อเป็นการขยายพันธุ์และเพาะเลี้ยงให้เจริญเติบโต ใช้เป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติของราษฎรในหมู่บ้าน จากนั้นจึงเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้ารับเสด็จกันเป็นจำนวนมาก ก่อนจะเสด็จพระราชดำเนินด้วยเฮลิปคอปเตอร์พระที่นั่งไปยังศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ต๋ำ หมู่ 1 ตำบลเสริมซ้าย อำเภอเสริมงาม เป็นจุดที่สอง เพื่อทรงติดตามคาวมก้าวหน้าของการดำเนินงานตามกระแสรับสั่งของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทั้งในเรื่องของการทำฝาย เซรามิก และการปลูกพืช พร้อมกับทรงลงลายพระหัตถ์บนแจกันเซรามิคขนาดใหญ่ไว้เป็นที่ระลึก จากนั้นจึงเสด็จกลับไปยัง จ.เชียงใหม่ ท่ามกลางความปลื้มปิติของราษฎรที่เฝ้ารับเสด็จ
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1042 วันที่ 21 - 27 สิงหาคม 2558)