กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง
สตรีต อาร์ต (Street Art) หรือศิลปะข้างถนน คือศิลปะที่สามารถพบเห็นได้ตามที่สาธารณะ หรือก็คือตามข้างถนนทั่วไป จึงเข้าถึงผู้คนได้ง่าย ทว่างานศิลปะแนวนี้มักสวนทางกับกฎหมาย เพราะมักจะปรากฏอยู่ตามพื้นที่ที่ไม่ได้รับอนุญาต จึงถูกมองเป็นสิ่งกวนเมืองไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งที่สตรีต อาร์ต กำลังทำหน้าที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีของสังคม ให้เราได้ยืนชมไปยิ้มไป หรือแม้แต่การต่อต้านสังคม เสียดสีอย่างสุดแสบ ชนิดที่เอาเข้าจริง ๆ เราต่างก็สะใจอยู่ลึก ๆ นั่นแหละ
คนส่วนใหญ่มักรู้จักสตรีต อาร์ต ในอีกชื่อหนึ่งว่า กราฟฟิตี (Graffiti) ซึ่งเป็นเทคนิคหนึ่งของสตรีต อาร์ต นั่นคือ การพ่นสเปรย์ลงบนผนัง กำแพง ทางเดิน ถนน แต่จริง ๆ แล้ว ยังรวมถึงเทคนิคการพ่นผนังด้วยสีสเปรย์โดยมีบล็อกกั้นสี การติดสติกเกอร์ การแปะโปสเตอร์ หรือใบปิดโดยใช้กาวทา การแกะสลักต้นไม้ ใบไม้ หรืออาคาร การระบายด้วยสีบนผนัง การแปะประดับด้วยกระเบื้อง และภาพฉายบนกำแพง
สตรีต อาร์ต มีหลายประเภท ได้แก่
- Tag คือ การเซ็นลายเซ็น หรือนามแฝงของแต่ละคนอย่างรวดเร็วโดยสเปรย์กระป๋อง หรือปากกาต่าง ๆ
- Throw-up คือ การเขียนเร็ว ๆ ด้วยสีพื้นฐานจำนวนน้อยสี นิยมใช้สีขาว-ดำ แสดงให้เห็นเส้นสายที่รวดเร็ว เป็นการเขียนตัวอักษรน้อยตัว มีเส้นตัดขอบเพื่อให้ดูมีมิติ ไม่เน้นความสวยงาม เพราะต้องทำแข่งกับเวลา
- Bubble คล้ายกับ Throw-up แต่มีมิติมากกว่า
- Character คือ การพ่นเป็นรูปคนเสมือนจริง หรือรูปแบบอื่น ๆ
- Piece คือ การพ่นทั่วไปโดยฝีมือคนเดียว เป็นการพ่นสีสเปรย์ให้เป็นภาพ หรือตัวอักษรที่สวยงาม ใช้เวลานานในการสร้างสรรค์ เพื่อให้ผลงานออกมาสมบูรณ์อย่างที่ใจต้องการ
- Wildstyle เน้นความสวยงามเช่นเดียวกับ Piece แต่เพิ่มการเกาะเกี่ยวของตัวอักษร สีสัน และรูปทรงที่อ่านยากกว่า เพื่อแสดงถึงความเหนือชั้นในการดีไซน์
- Production คือ การรวบรวมงานทั้ง 4 ประเภทไว้ด้วยกัน และทำหลาย ๆ คน
- Yarn Bombing ไม่ใช้สีสเปรย์ ไม่ใช้ปากกา ดินสอ แต่จะสร้างสรรค์ด้วยการถักทอเส้นใย จึงไม่เพียงให้ความสวยงามเท่านั้น แต่ยังเป็นสตรีต อาร์ต ที่ไม่ถาวร สามารถรื้อออกได้ง่าย
กรุงเทพฯ มีกิจกรรมปรับปรุงทัศนียภาพบริเวณริมคลองแสนแสบ ซึ่งเป็นจุดอับลับตาคน ให้มีสีสันสดใสขึ้นด้วยงานกราฟฟิตี แม้ภายหลังจะโดนคนมือบอนมาบอมบ์ (พ่นงานทับอย่างไร้ความเคารพในผลงานของเจ้าของเดิม) ก็เถอะ นอกจากนี้ ก็ยังมีที่เมืองเชียงใหม่ และแน่นอน เมืองอาร์ตอย่างราชบุรีจะพลาดได้เสียที่ไหน
ในย่านเมืองเก่าสงขลาก็หาชมได้ เขาจำลองบรรยากาศร้านน้ำชาชื่อฟุเจามาวาดลงบนผนังอาคารชิโน-โปรตุกีสอันเก่าแก่ รอยกะเทาะของปูนจนเห็นเนื้ออิฐนั้น ก็ช่างทำให้งานศิลปะดูสวยมีเสน่ห์มากขึ้นหลายเท่า
ล่าสุดที่เมืองตรังก็เพิ่งเปิดจุดท่องเที่ยวใหม่ กลายเป็นจุดแวะถ่ายภาพแชร์กันสนั่นในโลกออนไลน์ นั่นก็คือ ภาพวาดสามมิติบนผนังอาคารชิโน-โปรตุกีส ซึ่งงานนี้ได้รับความยินยอมจากเจ้าของอาคารอย่างดี โดยนำแนวความคิดจากคำขวัญของเมืองตรังใน 3 วลีเด่น คือ “ถิ่นกำเนิดยางพารา เด่นสง่าดอกศรีตรัง ปะการังใต้ทะเล” มาสร้างเรื่องราวเป็นภาพวาดต้นยางพารา พร้อมคนกรีดยาง กลุ่มต้นศรีตรังกำลังออกดอกสีม่วงสะพรั่ง และถ้ำมรกตที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก บวกรวมกับความคิดสร้างสรรค์ของจิตรกรที่เป็นคนตรัง ภาพที่ออกมาจึงสวยงามน่าประทับใจยิ่งนัก
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1040 วันที่ 7 - 13 สิงหาคม 2558)