วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2558

หนี้ไม่งอก ดอกไม่บาน

           
ว่ากันด้วยเรื่อง “วินัยการเงิน” กันสักวัน ไม่กี่วันที่ผ่านมา มีข่าวสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่งให้ตำรวจระดับนายดาบลงมาส่วนใหญ่ ออกจากราชการ เพราะถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย สืบสาวราวเรื่องก็ได้ความว่า ผู้ที่เป็นต้นเหตุให้ตำรวจเหล่านี้ตกงาน ก็คือบรรดาคุณนายนายดาบที่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยจนลืมว่าตำรวจนั้น รายได้จากเงินเดือนเพียงน้อยนิด
           
จนถึงวันที่ดอกทบต้น ต้นทบดอก ก็สายไปเสียแล้ว
           
ก่อนหน้านี้ ก็เป็นคนในอาชีพครู ที่ก่อหนี้กันได้แชมป์ เรียกว่าวันเงินเดือนออก บรรดาม้าเร็วมารอรับซองเงินเดือนใช้หนี้ถึงหน้าโรงเรียนกันเลยทีเดียว
           
ทุกวันนี้แม้จะรู้กันว่า การไม่มีหนี้ถือว่าเป็นลาภอันประเสริฐ แต่ในความเป็นจริง ปัญหาสำคัญที่สร้างความเดือดร้อนให้กับคนไทย ที่จัดอยู่ในอันดับต้นๆของสาเหตุความเครียดของคนไทย คงกลับหนีไม่พ้นปัญหาหนี้สิน
           
การเป็นหนี้  ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต  หนี้ผ่อนบ้าน  หนี้ผ่อนรถ (ยิ่งมีโครงการรถคันแรกการเป็นหนี้ก็ยิ่งมากขึ้น) หนี้นอกระบบ  ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นหนี้ที่สนองความต้องการทั้งสิ้น  และหลายคนก็พร้อมที่จะเป็นหนี้ ประกอบกับการเป็นหนี้ทุกวันนี้ก็เป็นเรื่องง่ายและสะดวกสบาย สินเชื่อทั้งในและนอกระบบต่างก็ผุดกันมา รอ” ให้บริการกันเป็นจำนวนมาก 
           
ลูกหนี้ที่เป็นหนี้ในระบบส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีความมั่นคงในหน้าที่การงาน สารพัดสถาบันการเงินแทบจะใส่พานถวายหนี้ถึงที่ด้วยโปรโมชั่นดอกเบี้ยถูก แต่ต้องมีผู้ค้ำ 1-5 คน ผลัดกันค้ำประกัน ฝ่ายการเงินก็พร้อมใจอำนวยความสะดวกในการจัดการสลิปเงินเดือนให้ไม่โชว์หนี้ที่มี เพื่อให้มียอดเงินสูงๆจะได้ กู้ได้เยอะๆ” ซึ่งหากใช้เงินมือเติบเราก็จะเห็นกู้หนี้มาโปะหนี้ ดอกเบี้ยบานเบอะ ไม่สามารถใช้หนี้ได้จนต้องหนีหนี้ ภาระก็อยู่ที่ผู้ค้ำประกัน งานนี้ปฏิกิริยาลูกโซ่ก็จะเกิด เพราะผู้ค้ำประกันส่วนใหญ่ต่างก็อุดมสมบูรณ์ไปด้วยหนี้เช่นกัน
           
ส่วนคนรากหญ้าหาเช้ากินค่ำส่วนใหญ่ที่ไม่มีทางเลือกก็ต้องยอมเป็นหนี้นอกระบบที่ต้องเสียดอกเบี้ยให้กับเจ้าหนี้ในอัตราสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ เสี่ยงกับพฤติกรรมการทวงหนี้ที่โหดร้าย นั่นก็เพราะการกู้หนี้นอกระบบไม่ต้องใช้เอกสาร หลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ก็ต้องแลกด้วยดอกเบี้ยเป็นรายวันอย่างน้อยร้อยละ ต่อวัน หรือ ร้อยละ  1,095 ต่อปี!!  ซึ่งตามกฎหมายให้คิดได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี แต่เอาเข้าจริงๆแบงก์ชาติกลับยึดประกาศของตัวเองที่ตั้งไว้ที่ 28 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งพวกบัตรเครดิตแบงก์ชาติก็ให้ดอกเบี้ย 20 เปอร์เซ็นต์ บางทีพอคำนวณแล้วมันก็มีค่าธรรมเนียมเบิกถอนเงินสดแฝงอยู่ เท่ากับ 7 - 8 เปอร์เซ็นต์ ก็เกินกว่าที่หลอกประชาชนไว้
           
บางรายลูกหนี้ต้องส่งดอกเบี้ยเป็นรายวันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีเงินต้นมาชำระซึ่งเรียกกันว่า ดอกลอย”  เมื่อรวมดอกเบี้ยแล้วอาจมากกว่าจำนวนเงินต้นที่กู้มาถึง 10 เท่า หากลูกหนี้ผิดนัดกลุ่มขบวนการนี้จะไม่ใช้ช่องทางกฎหมายในการฟ้องร้องคดี แต่มีพฤติการณ์ใช้อำนาจอิทธิพลข่มขู่ทำร้ายร่างกาย ยึดเอาทรัพย์สิน บางรายถูกข่มขู่จนต้องหลบหนีออกนอกพื้นที่  บางรายต้องฆ่าตัวตาย รูปแบบนี้มีการขยายตัวไปเกือบทุกพื้นที่ของประเทศ
           
ภาพรวมของปัญหายังคงเกิดขึ้นและมีแนวโน้มจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากจำนวนของแผ่นปลิวโฆษณาขนาดต่างๆ ที่ติดอยู่ตามเสาไฟฟ้า ตู้โทรศัพท์สาธารณะ ที่รอคอยผู้ที่เจอวิกฤตการเงินไปตกหลุมวงจรอุบาทว์ซ้ำซากจากกับดักหนี้
           
เมื่อมีหนี้ ก็ต้องมีคนทวงหนี้ เป็นของคู่กันเหมือนช้อนต้องคู่กับส้อม
           
ยิ่ง พ.ร.บ. การทวงหนี้ ฉบับใหม่ ห้ามใช้ความรุนแรง วาจา ภาษาดูหมิ่น เปิดเผยหนี้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือก่อความรำคาญ พร้อมกำหนดเวลาทวงหนี้ ห้ามทวงหนี้กับคนอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ ห้ามติดตามทวงหนี้เกินสมควรแก่เหตุ รวมถึงการติดต่อทางโทรศัพท์วันละหลายครั้ง และก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ โดยผู้ติดตามหนี้ ต้องขออนุญาตต่อคณะกรรมการกำกับการทวงหนี้ โดยต้องมีการจดทะเบียนต่อทางราชการ
           
แบบนี้ลูกหนี้ก็ดูจะยิ้มแก้มปริ หลายคนเป็นหนี้ก็หัวหมอหวังจะใช้ พ.ร.บ.การทวงหนี้ ฉบับใหม่ ทำให้อำนวยความสะดวกในการเบี้ยวหนี้ ตามสโลแกน ไม่มี ไม่หนี้ ไม่รับสาย
           
นักทวงหนี้ขาโหดแบบแก๊งหมวกกันน๊อค ที่ใช้วิธีขับขี่มอเตอร์ไซด์วนเวียนบ้านในยามวิกาล หรือให้ความรุนแรงในการข่มขู่ แบบที่เคยเป็นข่าวมาหลายต่อหลายครั้งจะถึงคราวสูญพันธ์เพราะ พ.ร.บ.นี้หรือไม่ หรือหากเจ้าหน้าที่หลับตาข้างเดียว ร่วมหัวจมท้ายหรือคนมีสีเป็นผู้ปล่อยเงินกู้เอง แล้วใครจะเป็นผู้ขับเคลื่อนกฎหมายนี้ให้สัมฤทธิ์ผลได้
           
ในขณะเดียวกันวินัยการใช้เงินก็ต้องพัฒนาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อน เพราะส่วนใหญ่แล้วหนี้เกิดจากความฟุ้งเฟ้อ การใช้จ่ายเกินกำลัง พ่อแม่หลายคนสปอยลูกจนเงินงาม ถอยโทรศัทพ์มือถือรุ่นหลายหมื่นให้ลูกวัยประถมไปใช้ หลายคนถอยมอเตอร์ไซด์หลักแสนให้ลูกวัยมัธยมต้น ฯลฯ ฉะนั้นวิธีแก้ง่ายๆ ก็คืออย่าใช้จ่ายเกินรายได้ที่หามาได้ เพียงเท่านี้ หนี้ก็ไม่เกิด
           
เพราะความไม่เป็นหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ จริงๆ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1046 วันที่ 18 - 24 กันยายน 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์