วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558

จริยธรรมนายทุนสื่อ



           
ารเฝ้าแต่ตั้งคำถามว่าเหตุใดสื่อจึงไม่มีความรับผิดชอบ หรือองค์กรสื่อไม่มีศักยภาพเพียงพอในการกำกับ ดูแลกันเอง เป็นการมองข้ามความจริงสำคัญว่า สิ่งที่ปรากฏบนพื้นที่สาธารณะ อันแสดงถึงเจตนาที่จะขายข่าวและภาพนั้น ล้วนมาจากอำนาจทุนของนายทุนสื่อ ที่ร้ายแรงกว่าอำนาจรัฐทั้งสิ้น
           
การชี้หน้านักข่าวภาคสนาม หรือนักข่าวฝ่ายปฏิบัติการว่าเป็นต้นเหตุแห่งความไม่รับผิดชอบ หรือกระทั่งการกล่าวโทษองค์กรวิชาชีพสื่อ เป็นการ “หลงประเด็น” และไม่เข้าใจโครงสร้างการทำงานของสื่อ ที่การตัดสินใจครั้งสุดท้าย อยู่ภายใต้การครอบงำของนายทุนสื่อ ที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเข้าใจเรื่องการทำสื่อมาก่อน
           
ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ไม่ผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติ มาตรา 49 วรรคท้าย เขียนไว้ว่า ให้มีกฎหมายว่าด้วยองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งประกอบด้วยบุคคลในวิชาชีพสื่อมวลชน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมและผู้บริโภค เพื่อปกป้องเสรีภาพ และความเป็นอิสระของสื่อมวลชน ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานแห่งวิชาชีพ พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภาพ และคุ้มครองสวัสดิภาพของบุคคล
           
บทบัญญัตินี้ มีขึ้นเพื่อรองรับการเกิดขึ้นของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ที่นักอุดมคติทั้งหลาย เชื่อว่าจะเป็นยาวิเศษแก้ปัญหาป่วยไข้เรื้อรังของสื่อมวลชน โดยสำคัญผิดว่าการแอบอิงอำนาจรัฐ  และการใช้อำนาจในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ จะสามารถทำให้สื่อสยบยอม อยู่ในกติกาที่พวกเขาร่างขึ้น
           
ในขณะเดียวกันมาตรา 48 ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน ก็มีความพยายามสกัดกั้นอำนาจทุน และการวางข้อกำหนดที่ไม่มีวันเป็นจริง ในสภาพของภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป กฎหมายมาตรานี้ บังคับให้เจ้าของกิจการสื่อมวลชนต้องมีสัญชาติไทย และไม่อาจเป็นเจ้าของกิจการสื่อมวลชน หรือผู้ถือหุ้น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หลายกิจการ
           
การเป็นเจ้าของกิจการ หรือการถือหุ้นที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ จะต้องมีลักษณะที่อาจมีผลเป็นการครอบงำหรือผูกขาด การนำเสนอข้อมูล ข่าวสารหรือความคิดเห็นต่อสังคม หรือมีผลเป็นการขัดขวางการรับรู้ข้อมูล ข่าวสาร หรือปิดกั้นการได้รับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน
           
นอกจากช่อง คสช.ที่บังคับดู บังคับฟังด้วยความถี่ ด้วยเวลาที่แน่นอน ซึ่งอาจมีผลครอบงำความคิดของประชาชนได้แล้ว ไม่มีช่องทางใด หรือสื่อใดสามารถกุมสภาพ และบังคับให้คนเชื่อได้เลย ในสภาพสังคมที่หลากหลาย และประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารหลายช่องทาง รวมทั้งบทบาทของผู้ส่งสารเอง
           
ดังนั้น หากกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ก็อาจตีความได้ว่า เจ้าของกิจการสื่อมวลชน หรือผู้ถือหุ้นสามารถเป็นเจ้าของข้ามสื่อในหลายกิจการ เนื่องเพราะโดยสภาพ ไม่สามารถเชื่อได้ว่า สื่อจะครอบงำความคิดของผู้คนได้ ยกเว้นกลุ่มการเมือง หรือกลุ่มผลประโยชน์เฉพาะ ที่เขาเลือกรับสารที่สอดคล้องกับอุดมการณ์การเมืองของตัวเองหรือ เพื่อตอบสนองความพึงพอใจส่วนตัว
           
ความเลวร้ายของเจ้าของกิจการผู้ถือหุ้น หรือนายทุนสื่อ โดยเฉพาะในบริษัทมหาชน ที่ถูกทำให้เชื่อว่าจะเป็นช่องทางในการกระจายการถือครองหุ้นให้กับประชาชนทั่วไป กลับเป็นการครอบงำของนายทุนเพียงไม่กี่ราย ซึ่งไม่ต้องถามถึงเรื่องจริยธรรม เพียงความซื่อตรงในการงานที่ผ่านมา ก็เป็นคำถามของสังคมแล้ว
           
ไม่น่าเชื่อว่า วันหนึ่งคนที่มีประวัติไม่ซื่อตรงทางธุรกิจ กลับขึ้นมาเป็นนายใหญ่ขององค์กรที่พยายามแสดงราคาความซื่อตรงในวิชาชีพสื่อ
           
เป็นความน่าอับอาย ที่ไม่ควรกล่าวต่อสาธารณะแม้สักถ้อยคำหนึ่ง ว่าเป็นมืออาชีพที่ยึดมั่นในจริยธรรม
           
ปัญหาทั้งหมดของเรื่องจริยธรรมสื่อ อยู่ที่สำนึกความรับผิดชอบของนายทุนสื่อ มิได้อยู่ที่การมีมีคัมภีร์จริยธรรม แต่ไม่เคยเชื่อถือ ศรัทธา และปฏิบัติตาม

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1047 วันที่ 25 กันยายน - 1 ตุลาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์