อพยพราษฎรแม่เมาะครั้งที่ 7 ชะงักติดปัญหาการอนุมัติใช้พื้นที่ป่าไม้ ขณะที่การสำรวจทรัพย์สินเสร็จแล้วแต่เดินหน้าต่อไม่ได้ แนะ กฟผ.เข้าพบอธิบดีป่าไม้เพื่อขอเร่งรัด ด้าน ผญบ.ห้วยคิง เผยรอมานาน 6 ปี กำหนดโยกย้ายเสร็จในปี 60 แต่งานยังไม่กระเตื้อง เตรียมรวมตัวครั้งใหญ่ ส่งสัญญาณถึงอธิบดีป่าไม้คนใหม่ให้รับทราบปัญหาของชาวบ้าน และอนุมัติใช้พื้นที่ป่าโดยเร็ว
เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 58 ที่ห้องประชุมเวียงละกอน ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดลำปาง นายสมชัย กมลเทพเทวินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานประชุมคณะกรรมการดำเนินการอพยพราษฎร 5 หมู่บ้าน เพื่อติดตามความคืบหน้าแผนการอพยพราษฎรแม่เมาะ 5 หมู่บ้านตามมติ ครม.15 ต.ค.56 ลำปาง ประกอบด้วย บ้านห้วยคิง หมู่ที่ 6 ตำบลแม่เมาะ, บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 1 บ้านดง หมู่ที่ 2 บ้านสวนป่าแม่เมาะ หมู่ที่ 7 และบ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านดง จำนวน 1,458 ครัวเรือน ซึ่งร้องเรียนขออพยพหมู่บ้านเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองของโรงไฟฟ้าแม่เมาะลำปาง
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเดือน เม.ย. 58 นายมงคล สุกใส รองผู้ว่าราชการจังหวัด คนเดิม ได้มีการตั้งคณะทำงานชุดใหม่ขึ้น 5 ชุด เนื่องจากผ่านไป 1 ปี แล้วยังไม่มีความคืบหน้า โดยให้ชุดที่หนึ่ง รับผิดชอบ บ้านห้วยคิง 476 ครัวเรือน ชุดที่สอง บ้านหัวฝาย 301 ครัวเรือน ชุดที่สาม บ้านดง 206 ครัวเรือน ชุดที่สี่ บ้านสวนป่าแม่เมาะ 217 ครัวเรือน ชุดที่ห้า บ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง 258 ครัวเรือน โดยใช้วิธีการตามแนวทางที่รัฐบาลได้กำหนดไว้สำหรับการชดเชยการสร้างเขื่อนของกรมชลประทาน ซึ่งเป็นมืออาชีพในการทำเรื่องค่าชดเชยราษฎร คณะทำงานทั้ง 5 ชุด เริ่มลงพื้นที่สำรวจตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.58 เป็นต้นไป สำรวจที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง อาคารบ้านเรือน ต้นไม้ หรือ สัตว์เลี้ยงที่มีอยู่ก่อน วันที่ 24 พ.ย.57 สั่งการให้แล้วเสร็จภายใน 30 มิ.ย.58 หากไม่เสร็จก็จะขยายเวลาออกไปอีก 90 วัน ทุกอย่างจะต้องแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน ก.ย. 58 และต้องขอใช้พื้นที่ป่าไม้ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน
ทั้งนี้ ความคืบหน้าการติดตามการขอใช้พื้นที่ป่าไม้รองรับการอพยพ นายสุรชัย แสงศิริ ผอ.ส่วนทรัพยากรธรรมชาติ สำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ได้รายงานว่า การขอใช้ประโยชน์พื้นที่ป่ารองรับการอพยพราษฎร 5 หมู่บ้าน จำนวน 3 แปลง ประกอบด้วย แปลงที่ 1 เนื้อที่ 590 เขตบ้านเมาะหลวง ต.แม่เมาะ รองรับราษฎรบ้านห้วยคิง หมู่ 6 เบื้องต้นทางกรมป่าไม้ได้เสนอเรื่องต่อปลัดกระทรวงฯ เมื่อวันที่ 25 ส.ค.58 และเสนอต่อไปยัง รมว.กระทรวงทรัพย์ฯแล้ว แต่มีความไม่สอดคล้องในเรื่องเอกสารของสภาเทศบาล ต.แม่เมาะ กระทรวงจึงส่งเรื่องกลับให้กรมป่าไม้ และอาจจะส่งกลับมายังจังหวัดอยู่ระหว่างรอหนังสือตอบกลับ ส่วนแปลงที่ 2 จำนวน 1,387 ไร่ อยู่ในเขตบ้านท่าสี ใช้รองรับราษฎรของ ต.บ้านดง ทสจ.ได้มีหนังสือขอทราบความคืบหน้าไปยังกรมป่าไม้ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณา และแปลงที่ 3 พื้นที่ 160 ไร่ อยู่บริเวณบ้านท่าสี ต.บ้านดง ใช้สำหรับสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เฟือง ทางกรมป่าไม้มีหนังสือด่วนที่สุด สอบถามข้อมูลกลับมา ซึ่งทางจังหวัดได้ชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดไปให้กรมป่าไม้แล้ว สรุปพื้นที่ทั้ง 3 แปลงได้ผ่านขั้นตอนของจังหวัดไปแล้ว แต่ยังคงอยู่ระหว่างการรอให้ทางอธิบดีกรมป่าไม้อนุมัติให้ใช้พื้นที่ ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายตำแหน่ง แนะนำว่าทาง กฟผ.อาจจะต้องเข้าพบเพื่อขอใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างเร่งด่วนที่สุด
สำหรับการสำรวจประเมินราคาที่ดินและทรัพย์สิน ที่ดินจังหวัดลำปาง ได้ทำการสำรวจแล้วจำนวน 2,341 แปลง จาก 2,409 แปลง คิดเป็น 97 เปอร์เซ็นต์ บางส่วนที่ยังสำรวจไม่ครบเนื่องจากชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิ์ และไม่นำสำรวจ ส่วนหนึ่งสำรวจรังวัดแล้วอยู่ระหว่างการทำแผนที่รูปแบบเพื่อส่งมอบ ส่วนการสำรวจอาคารและสิ่งปลูกสร้าง โยธาธิการและผังเมือง ได้ทำการสำรวจสิ่งปลูกสร้างของชาวบ้านอพยพตามมติ ครม.จำนวน 1,458 ราย ดำเนินการเสร็จแล้ว 571 ราย หรือประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ แต่อยู่ระหว่างดำเนินการเขียนแบบและประมาณราคา จะไปล่าช้าในการเขียนแบบซึ่งทำไปแล้ว 15 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นส่งรูปแปลงให้กับชลประทานโดยได้ส่งไปแล้ว 88 ราย และการสำรวจต้นไม้และไม้ผล สำนักงานเกษตรจังหวัด ได้ทำการสำรวจ ณ วันที่ 19 ต.ค. 58 จำนวน 1,313 แปลง ตรวจสอบและลงบัญชีค่าทดแทนของชลประทาน และส่งให้กับชลประทานแล้ว
ส่วนการจัดทำบัญชีค่าทดแทน ทางชลประทานได้รับจากสำนักงานที่ดินที่ประเมินราคาแล้วจำนวน 1,242 ราย ต้นไม้ได้รับ 1,182 ราย สิ่งปลูกสร้างการถอดแบบบ้าน ได้รับมาทั้งหมด 89 ราย เนื่องจากการถอดแบบต้องใช้ความละเอียด จึงใช้เวลานาน ในส่วนการจัดทำบัญชีต้องรอส่งมาพร้อมกันก่อนจึงจะจัดทำบัญชีทั้งหมดได้
นอกจากนั้นยังมีกรณีการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีราษฎรบุกรุกพื้นที่ป่าแม่เมาะบ้านเมาะหลวง หมู่ 8 ต.แม่เมาะ ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับการอพยพของราษฎรบ้านห้วยคิง หมู่ 6 นายนำพล โพธิวงค์ หัวหน้าหน่วยประสานงานก่อสร้างและอพยพ กล่าวว่า กฟผ.ได้พิจารณาร่วมกันว่ามีกฎหมายใดที่จะรองรับการจ่ายค่าเยียวยา กรณีผู้ที่เข้าไปครอบครองพื้นที่รองรับการอพยพ จำนวน 64 ราย เนื้อที่ 255 ไร่ โดยหารือกับชลประทาน สำนักงานทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 ทสจ. เมื่อวันที่ 13 ต.ค.58 ได้ข้อสรุปว่าเพื่อช่วยเหลือราษฎร 64 ราย และเพื่อให้งานอพยพราษฎรดำเนินการไปได้โดยไม่มีปัญหา จึงควรให้มีการเยียวยากับราษฎรที่เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่รองรับการอพยพ โดยจ่ายเฉพาะค่าต้นไม้ สิ่งปลูกสร้าง โดยใช้อัตราของกรมชลประทาน ให้ฝ่ายความมั่นคงเข้าไปพูดคุยเจรจาและทำข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรตามแนวทางการเยียวยา จึงเสนอขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการอพยพราษฎร 5 หมู่บ้าน เพื่อนำไปดำเนินการต่อไป
โดยสรุปในที่ประชุมได้มีมติสำคัญ 2 เรื่องคือ เห็นชอบให้มีการหยุดรับข้อมูลการรายงานทรัพย์สิน โดยมีการออกประกาศแจ้งให้ชาวบ้านทราบอยากเป็นทางการ และเห็นชอบแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาราษฎรที่เข้าไปทำกินในพื้นที่รองรับการอพยพ จำนวน 64 ราย
ขณะที่นางแสงจันทร์ มูลซาว ผู้ใหญ่บ้านห้วยคิง หมู่ 6 เปิดเผยหลังการประชุมว่า ณ วันนี้เรื่องดังกล่าวได้ยืดเยื้อมานานเกินไปแล้ว เพราะเคยมีบันทึกสัญญากันไว้ว่า หลังจากมีมติ ครม.ภายใน 3 ปี ต้องมีการอพยพ คือไม่เกินปี 2560 แล้วเหลือเวลาอีกเพียง 1 ปีกว่าเท่านั้นเรื่องก็ยังไม่ไปถึงไหน เพราะฉะนั้นชาวบ้านใน 2 ตำบล 5 หมู่บ้านคงจะมีความเคลื่อนไหวในอีกไม่ช้า
“เรารอมานาน เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2552 จนกระทั่งมีมติ ครม.ปี 2556 และได้มีการทำบันทึกชัดเจนให้อพยพภายใน 3 ปี พอมาตอนนี้เรื่องยังวนอยู่ในอ่าง ไม่มีความคืบหน้า ซึ่งติดอยู่ที่อธิบดีกรมป่าไม้ยังไม่อนุมัติให้เข้าพื้นที่ รวมทั้งกลุ่มผู้บุกรุกพื้นที่รองรับการอพยพจำนวน 64 ราย ก็ยังไม่มีใครเข้าไปจัดการ ช่วยเหลือ เยียวยาคนกลุ่มนี้ ซึ่งได้เข้าไปใช้พื้นที่ก่อนที่จะมีมติ ครม.ออกมาแล้ว” นางแสงจันทร์
ผู้ใหญ่บ้านห้วยคิง กล่าวต่อไปว่า ตอนนี้ชาวบ้านได้แต่รอว่าจะให้ออกจากพื้นที่เมื่อไร ซึ่งยังคงมีปัญหาผลกระทบในเรื่องของฝุ่นละออง มีเจ็บป่วยเป็นโรคภูมิแพ้กันอยู่ สำหรับความเคลื่อนไหวของชาวบ้านว่าจะเป็นในรูปแบบใดจะต้องหารือทั้ง 2 ตำบล 5 หมู่บ้านว่าจะไปในทิศทางใด ช่วงนี้เป็นช่วงนี้ชาวบ้านทำไร่ทำนา หากเสร็จจากเรื่องนี้แล้วจะต้องมีการรวมตัวกันแน่นอนอาจจะเป็นในช่วงเดือน พ.ย. เพราะเราต้องการให้เสียงของชาวบ้านส่งไปถึงอธิบดีกรมป่าไม้ เพียงต้องการให้อนุมัติการใช้พื้นที่ป่าเพื่อให้ชาวบ้านสามารถอพยพเข้าไปในพื้นที่รองรับได้ เพราะตอนนี้ติดปัญหาเรื่องการขอใช้พื้นที่ป่าเท่านั้น
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1051 วันที่ 23 - 29 ตุลาคม 2558)