วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ถกรถไฟรางคู่ สายเด่นชัย-ชม. หนุนโลจิสติกส์ลำปาง


สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร รับฟังความเห็นรอบ 2  ศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม  โครงการรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย – เชียงใหม่  เสียงประชาชน 88 เปอร์เซ็นต์เลือกเส้นทางที่ 4  มีสถานีจอดที่ จ.ลำปาง ผลพลอยได้เป็นจุดกระจายสินค้าอย่างดีเยี่ยม และดึงนักท่องเที่ยวเข้าจังหวัดมากขึ้น

เมื่อวันที่ 6 ต.ค.58 ที่ ห้องประชุมใหญ่ โรงแรมบุษย์น้ำทอง อ.เมือง จ.ลำปาง  นายสมชัย กมลเทพเทวินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่  โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานองค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชนในเขตพื้นที่จังหวัดลำปาง จำนวนกว่า 300 คน เข้าร่วมประชุมสัมมนาและแสดงความคิดเห็นร่วมกัน

สำหรับ การประชุมสัมมนาดังกล่าวได้จัดขึ้น เพื่อเป็นการนำเสนอความก้าวหน้า สรุปภาพรวมของโครงการ การพัฒนาและออกแบบระบบรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย – เชียงใหม่ ให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบในเขตพื้นที่ที่มีการดำเนินงานโครงการฯ ได้รับทราบถึงรูปแบบการพัฒนา และแนวเส้นทางรถไฟที่จะมีการก่อสร้าง พร้อมทั้งร่วมรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากประชาชนทุกภาคส่วน ทั้งนี้เพื่อจะรวบรวมข้อมูลเป็นแนวทางศึกษาเพิ่มเติม สำหรับคัดเลือกกำหนดแนวเส้นทาง และปรับปรุงรูปแบบการก่อสร้างพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ เด่นชัย - เชียงใหม่ ให้มีความเหมาะสมกับทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม รวมทั้งเพื่อศึกษาวิเคราะห์ประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการฯ

ซึ่งเสียงประชาชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 88.2 ได้เสนอให้มีการก่อสร้างรถไฟทางคู่ตามแนวทางเลือกที่ 4 เนื่องจากเห็นว่ามีความเหมาะสมทางวิศวกรรม คุ้มค่าต่อทางเศรษฐกิจ การลงทุน และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย โดยในทางเลือกดังกล่าว ได้มีการกำหนดแนวเส้นทางสร้างรางรถไฟทางคู่จาก เด่นชัย – เชียงใหม่ ผ่านสถานีหลักในพื้นที่ 4 จังหวัด ทั้งจังหวัดแพร่ ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ รวม 18 สถานี มีระยะทางรวมประมาณ 188 กม. (จากเดิม 217 กม.) สำหรับเส้นทางรถไฟนั้นได้มีการออกแบบแบ่งเป็นสองช่วง กล่าวคือ ช่วงสถานีเด่นชัย ถึง สถานีนครลำปาง ระยะทางประมาณ 105 กม. ได้ออกแบบให้มีการก่อสร้างเส้นทางใหม่เพิ่ม 1 เส้นทาง ตามแนวเส้นทางรถไฟเดิม แต่บางช่วงจะปรับแนวเส้นทางให้เป็นทางตรง หรือ เพิ่มรัศมีโค้งให้มากขึ้น เพื่อให้รถไฟสามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม. ได้ และในช่วงสถานีนครลำปาง ถึง สถานีรถไฟเชียงใหม่ ระยะทางประมาณ 84 กม. ได้ออกแบบให้มีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟใหม่เพิ่ม 2 เส้นทาง ส่วนใหญ่จะเป็นแนวเส้นทางตัดใหม่ ซึ่งได้ออกแบบเพิ่มรัศมีโค้งให้มากขึ้น เพื่อให้รถไฟสามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดได้ถึง 160 กม./ชม. สำหรับการออกแบบนั้น ได้ออกแบบให้เป็นไปตามมาตรฐาน American Railway Engineering and maintenance - of – Way Association (AREMA) และกำหนดให้สามารถรองรับน้ำหนักกดเพลาได้ 20 ตัน ส่วนรางใช้ขนาดรางแบบ Meter Gauge ที่มีระยะห่างระหว่างราง 1.00 เมตร

นายประยุทธ เจริญกุล ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม สนข.  กล่าวว่า  ที่ จ.ลำปาง จะมีแนวเส้นทางพาดผ่านพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 5 แห่ง  พื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย 1 แห่ง ลำน้ำสายหลัก 2 แห่ง  จึงมีมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น ด้านทรัพยากรป่าไม้  บริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล จะออกแบบเป็นอุโมงค์และสร้างทางยกระดับในช่วงที่ผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากอยผาเมือง เพื่อหลีกเลี่ยงพื้นที่ป่าให้มาที่สุด  , ด้านเสียงและความสั่นสะเทือน กำหนดให้เจาะ ตอกเสาเข็ม ขุดผิวดิน ในช่วงเวลากลางวัน พร้อมติดตั้งกำแพงกั้นเสียงเพื่อลดระดับเสียงรบกวนที่เกิดมาตรฐานบริเวณชุมชน , ด้านการระบายน้ำ ในพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมจะออกแบบเป็นสะพานช่วงสั้นหรือทางยกระดับ และช่วงผ่านลำน้ำสายหลักจะออกแบบต่อม่อให้ขนาดกับแนวตอม่อสะพานเดิม ไม่ให้กีดขวางการไหลของน้ำ , ด้านการโยกย้ายและเวนคืน  จะทำการเวนคืนเท่าที่จำเป็น โดยพิจารณาค่าชดเชยอย่างเป็นธรรมด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย และมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบขั้นตอน โดยจ่ายเงินทดแทนตาม พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530

ทั้งนี้ การก่อสร้างรถไฟทางคู่จากสถานี เด่นชัย – เชียงใหม่ จะก่อให้เกิดประโยชน์กับจังหวัดลำปาง ในด้านการพัฒนาขยายตัวทางด้านการผลิตและอุตสาหกรรมรวมถึงการท่องเที่ยว ที่มีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของภาคเหนือ ที่จะมีจังหวัดลำปางเป็นศูนย์กลาง  ซึ่งโครงการนี้จะก่อสร้างเสร็จในปี พ.ศ.2595  คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการ 25,751 คนเที่ยว/วัน  ขนส่งสินค้า 1.552 ล้านตันต่อปี

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1049 วันที่ 9 - 15 ตุลาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์