บรรณาธิการลานนาโพสต์ ร่วมวงติวเข้ม เครือข่ายบรรณาธิการภาคเหนือ ย้ำความผิดกฎหมายคอมพิวเตอร์โทษหนัก ยอมความไม่ได้ มีโอกาสเสี่ยงหมิ่นสถาบัน ในขณะที่กฎหมายลิขสิทธิ์ใหม่ เป็นความผิดเดิม แต่เพิ่มโทษฐานละเมิด “ข้อมูลบริหารสิทธิ์” ลบ เปลี่ยนแปลง แก้ไข ความเป็นเจ้าของ
บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ลานนาโพสต์ นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ย้ำเตือนบรรณาธิการให้ระมัดระวังการกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งอาจพาดพิงถึงความผิดฐานหมิ่นสถาบัน ในการประชุมใหญ่เครือข่ายบรรณาธิการภาคเหนือ ที่โรงแรมไพลิน จังหวัดพิษณุโลก เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
นายจักร์กฤษ ซึ่งร่วมเป็นวิทยากรบนเวทีเสวนา “เขียน แชร์ แชท อย่างไรไม่ผิดกฎหมาย” กล่าวว่า ในการฟ้องคดีหมิ่นประมาทขณะนี้ โจทก์หรือผู้เสียหาย มักฟ้องข้อหาการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เนื่องจากความผิดตามกฎหมายคอมพิวเตอร์มีโทษหนักกว่า และยอมความไม่ได้ ซึ่งมีข้อพึงระมัดระวังว่าถ้ามีการพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะในทางใด เช่น กรณีนายนิรันดร์ เยาวภาว์ อดีตผู้ดูแลเว็บไซต์ผู้จัดการ นำแถลงการณ์สำนักพระราชวังที่ไม่ได้ตรวจสอบที่มามาโพสต์ ก็ถูกฟ้องข้อหาความผิดตามกฏหมายอาญา ประกอบกับความผิดตามกฎหมายคอมพิวเตอร์
“แม้จะเป็นที่รับรู้กันว่า คุณนิรันดร์ ซึ่งทำงานอยู่ในองค์กรสื่อที่ชัดเจนว่า มีความจงรักภักดีสูง และคุณนิรันดร์เองไม่มีทางมีเจตนาเช่นนั้น แต่คุณนิรันดร์ก็ถูกลงโทษจำคุก และที่น่าสังเกตก็คือ ตามกฎหมายคอมพิวเตอร์ ไม่มีความผิดฐานหมิ่นสถาบัน แต่ในการดำเนินคดีกับผู้ที่หมิ่นสถาบัน จะมีการตีความว่าการหมิ่นสถาบัน เป็นประเภทเดียวกับความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักรซึ่งเป็นบทบัญญัติในกฎหมายคอมพิวเตอร์ นอกจากนั้นสิ่งที่ควรรู้อีกเรื่องหนึ่ง คือการหมิ่นประมาทตามกฎหมายคอมพิวเตอร์มีแต่การหมิ่นประมาทด้วยภาพเท่านั้น ไม่มีการหมิ่นด้วยถ้อยคำ หรือการเขียน”
นายจักร์กฤษ กล่าวว่า ความผิดเกี่ยวกับการเขียนของสื่อมวลชน จะประกอบด้วย ความผิดตามกฎหมายอาญาว่าด้วยฐานหมิ่นประมาท กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยความผิดฐานละเมิด กฎหมายละเมิดอำนาจศาล กรณีศาลรัฐธรรมนูญ กฎหมายการละเมิดสิทธิเด็กและการกระทำความรุนแรงในครอบครัว กฎหมายลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 แต่เฉพาะกฎหมายลิขสิทธิ์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา อาจมีความเข้าใจผิดจนคนไม่กล้าส่ง ไม่กล้าแชร์ แม้แต่ภาพดอกไม้ธรรมดา แม้แต่การสวัสดีทักทายตอนเช้า
บรรณาธิการลานนาโพสต์ อธิบายว่า ความผิดในการละเมิดลิขสิทธิ์ ได้แก่การทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่ต่อสาธารณชน ซึ่งงานสร้างสรรค์ กฎหมายให้ความคุ้มครองมาตั้งแต่การประกาศใช้กฎหมายเมื่อปี 2537 แล้ว คือการละเมิดงานวรรณกรรม งานศิลปกรรม ซึ่งเป็นงานที่สื่อมวลชนอาจละเมิดบ่อยครั้ง เช่น งานเขียน บทความ งานภาพถ่าย ภาพวาด แต่กฎหมายที่ประกาศใช้ใหม่ เป็นการเพิ่มโทษเดิมให้หนักขึ้น หากมีการละเมิดสิ่งที่เรียกว่า ข้อมูลบริหารสิทธิ คือ การที่เจ้าของลิขสิทธิ์ แสดงความเป็นเจ้าของในงานของเขา ด้วยรูปแบบต่างๆ เช่น การใส่ลายน้ำในภาพถ่าย การเขียนชื่อ หรือสัญลักษณ์แสดงตัวตน หรือการบอกว่าเป็นเจ้าของไอจี ถ้าไปลบ หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไข ความเป็นเจ้าของ โทษคือจำคุก 6 เดือน ปรับ 2แสน
นายจักร์กฤษ กล่าวว่า มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสื่อมวลชนอีกหลายฉบับ ในฐานะนักกฎหมาย และประกอบอาชีพสื่อมายาวนาน ตั้งใจว่าจะได้รวบรวม และเรียบเรียง เป็นคู่มือเพื่อเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อในต่างจังหวัดที่อาจไม่มีโอกาสเข้าถึงความรู้ในเรื่องเหล่านี้มากนัก
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1052 วันที่ 30 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน 2558)