แม้โรคไข้เลือดออก จะอยู่คู่ประเทศไทยมายาวนาน แต่คงไม่มีครั้งใด ที่กระแสการตื่นตัวเรื่องไข้เลือดออกจะแรงเท่าครั้งนี้ เมื่อปอ ทฤษฏี สหวงษ์ ล้มป่วยลงด้วยไข้เลือดออก อาการขั้นวิกฤต แฟนละครของปอค่อนประเทศก็คล้ายหายใจรวยรินด้วยพิษไข้เลือดออกไปด้วย
หลายครั้งที่สังคมไทยดูจะเป็นสังคมที่อ่อนไหว ไหลไปตามกระแสสังคมและหลายครั้งที่เป็นกระแสวูบวาบ แล้วก็เงียบหายไปแต่พอกลับมาเกิดเรื่องอีกครั้งก็ค่อยมาตื่นตัวกันอีกครั้งหนึ่ง วนเวียนเป็นวัฏจักรอยู่แบบนี้
เราเห็นอะไรในข่าว ปอ ทฤษฎี สหวงษ์ บ้าง?!
อันดับแรก เราเห็นถึงความสามัคคีของเหล่าแฟนคลับที่รวมตัวกันมาบริจาคเลือดให้ดาราในดวงใจ จนหลายคนที่ไม่ได้เป็นแฟนคลับปอถึงกลับแปลกใจว่า ทำไมพระเอกหน้าไทยคนนี้ถึงมีคนรักมากขนาดนี้ นั่นก็เป็นเพราะผู้ชายคนนี้เป็นคนดีทั้งในจอและนอกจอ
ไม่ว่าจะเป็นทำงานจิตอาสาเงียบๆ จนได้รับตำแหน่งเป็นทูตองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกและรางวัลต้นแบบคนดีจากสมัชชาคุณธรรม แถมในปี 2557 ที่ผ่านมา ปอก็ได้รางวัลศิลปินต้นแบบจิตอาสา อีกด้วย
พระเอกหนุ่มคนนี้แบ่งที่นาบางส่วนที่ซื้อไว้ที่บุรีรัมย์ ให้ชาวนาละแวกนั้นเอาไปปลูกข้าวแบบฟรีๆ โดยไม่คิดค่าเช่าแม้แต่บาทเดียว ซึ่งปอบอกว่าชาวบ้านก็ใจดีเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวก็เอาข้าวมาให้ด้วย บริจาคอวัยวะ ณ โรงพยาบาลศิริราช ร่วมบริจาค หนึ่งน้ำใจ ล้านคำขอบคุณ มูลนิธิรามาธิบดี ช่วยขายเสื้อระดมทุน จัดซื้อเครื่องมือแพทย์ โครงการ "คำว่าให้...ไม่สิ้นสุด" (Giving & Sharing) โดยมูลนิธิรามาธิบดี ฯลฯ
สิ่งที่เราเห็นตามมาอีกอย่างคือ แม้ว่าปอ ทฤษฎี จะเป็นดารา เป็นบุคคลสาธารณะ เป็นที่นิยมของคนไทย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าในยามที่เขาป่วยหนักเขาจะถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคลโดยสื่อมวลชนได้เพราะเห็นได้ตามหน้าหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ที่มีการนำภาพพระเอกหนุ่มนอนไร้สติอยู่บนเตียง มีสายอุปกรณ์ช่วยชีวิตระโยงระยางเต็มไปหมด ใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งภาพนี้ไม่ว่าจะมาจากนักข่าวหรือ บุคคลากรทางการแพทย์ล้วนแต่น่าตำหนิทั้งสิ้น
อีกหนึ่งสิ่งที่น่าพูดถึงเป็นอย่างมาก นั่นคือเรื่องการระบาดของโรคไข้เลือดออก จากสถิติของ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขการระบาดของโรคนี้ตั้งแต่ปี 2553 เห็นได้ว่า มีการขึ้นลงของข้อมูล ราวกับว่าระบาดมากทีก็คุมเข้มที
ปี 2553 มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสูงถึง 113,014 คน ตาย 139 คน (คิดเป็น 0.12%) ปี 2554 มีผู้ป่วย 68,386 คน ตาย 62 คน (คิดเป็น 0.09%) ปี 2555 มีผู้ป่วย 76,351 คน ตาย 82 คน (คิดเป็น 0.11%) ปี 2556 มีผู้ป่วยจากโรคไข้เลือดออกสูงถึง 151,502 คน ตาย 133 คน (คิดเป็น 0.09%) ปี 2557 มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสูงถึง 40,278 คน ตาย 41 คน (คิดเป็น 0.10%) และในปี 2558 ข้อมูลสะสมในสัปดาห์ที่ 44 ของปีนี้ มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกไปแล้ว 107,564 คน ตายไปแล้ว 106 ราย
จากตัวเลขเหล่านี้หากเปรียบเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ของผู้เสียชีวิตแล้ว อาจบอกได้ว่าเราไม่ได้มีพัฒนาการในการดูแลชีวิตของผู้ป่วย ทั้งที่โรคนี้รักษาตามอาการโดยที่ทีมผู้รักษาไม่ควรประมาท และเรารู้อยู่เต็มอกกันว่าป้องกันได้ไม่ยาก เพียงแค่เราทุกคนร่วมใจกันตัดวงจรการเติบโตของยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรค
ที่ผ่านมา เราก็ทำการรณรงค์ให้ความรู้ แต่มักจะถูกกั้นด้วยคำว่า ไม่มีงบ งบน้อย งบไม่พอทั้งที่เรื่องเหล่านี้ อาศัยการสร้างจิตสำนึก การให้ความรู้และทำอย่างสม่ำเสมอเหมือนข้อควรปฏิบัติที่บอกให้ทำอย่างต่อเนื่อง แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐทำตามงบที่มี เกิดปัญหาระบาดทีก็แก้ปัญหาที่ปลายเหตุโดยการพ่นยาฆ่ายุงกันที
อย่างในกรณีของหนุ่มปอ ได้มีการลงพื้นที่ไปหาต้นตอของโรคนี้ ปรากฏว่าบริเวณบ้านพักของพระเอกหนุ่มอยู่บริเวณซอยลาดพร้าว 48 นั้นมีคลองที่น้ำคล้ำส่งกลิ่นเหม็นและมีขยะหมักหมมซึ่งขยะเหล่านี้อาจมีน้ำขังและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายได้ ส่วนบริเวณหมู่บ้านของ ปอ ทฤษฎี พบเพียงท่อระบายน้ำบริเวณหน้าบ้านที่อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง และพระเอกหนุ่มป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกเป็นรายที่ 8 ของหมู่บ้าน
และตอนนี้หลายภาคส่วนได้มีการเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก สาธารณสุข-มหาดไทย ตั้งวอร์รูมคุมไข้เลือดออก ทั้งที่ควรทำมานานแล้วเพราะโรคระบาดนี้ควบคุมได้เพียงแค่เรา ฆ่าตัดตอน คุมกำเนิดยุง ด้วยการช่วยกัน ดูแลความสะอาด สภาพแวดล้อมในบ้าน ส่วนหน่วยงานก็ดูและสุขอนามัยมนพื้นที่ส่วนรวมไม่ว่าจะเป็นห้วยหนองคลองบึง แหล่งน้ำทั้งหลายไม่ให้เน่าเสีย ไม่ให้เป็นแหล่งเพราะพันธุ์ยุง ซึ่งนั่นหมายถึงสิ่งที่ภาครัฐควรทำมานานแล้ว ไม่ใช่ตอนนี้ ไม่ใช่การโหนกระแสของจากการป่วยของพระเอก
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1055 วันที่ 20 - 26 พฤศจิกายน 2558)