วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ธุรกิจรับซื้อของเก่า นิยาม “สรรพสิ่งหมุนเวียน”


โด่ง กับธุรกิจรับซื้อของเก่า ซบเซาแต่ก็สู้


หน้า ร้านปงสนุกค้าของเก่าของ โด่ง ชลวรรษ เงินมา วัย 23 ปี กับน้าชาย วันนี้มีรถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างทยอยมาจอดเรื่อยๆ บางทีก็เป็นรถเก๋ง บ่งบอกว่า ร้านของเขามีลูกค้าประจำทั้งคนรับซื้อของเก่าเป็นอาชีพ และชาวบ้านอย่างเราๆ ที่นึกขยันก็โละของไม่ใช้แล้วในบ้านออกมาขายสักที บรรยากาศซื้อขายที่นี่จึงเป็นไปอย่างเรียบง่าย อีกอย่างหนึ่ง ร้านของโด่งเป็นธุรกิจขนาดเล็ก เปิดดำเนินการภายในบ้านไม้สองชั้น ที่จะว่าไปแล้วก็ระเกะระกะจนแทบไม่เหลือพื้นที่ให้เหยียบเดิน


เป็นบางวันน่ะครับ บางวันก็เงียบ ธุรกิจค้าของเก่าซบเซามาได้ปีกว่าแล้วครับ ราคาตกลงไปเยอะ ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงเก็บของไว้ก่อน รอราคาขึ้นจึงจะเอามาขาย โด่ง เจ้าของธุรกิจวัย 23 กล่าว

ปีก่อนหน้านี้ โด่งติดสอยห้อยตามน้าชายไปตระเวนเก็บของเก่าตามบ่อขยะ เมื่อพบความจริงที่ว่า ขยะเหล่านั้นยังไม่ไร้ค่าเสียทีเดียว มันยังนำมาแปลงเป็นเงินได้อีก จึงตัดสินใจขอทุนจากแม่ เพื่อเปิดร้านขายของเก่าอย่างจริงจัง จากที่เคยตระเวนออกไปเก็บขยะเพื่อนำไปขาย วันนี้สองคนน้า-หลานนั่งอยู่กับที่ พลิกผันมาเป็นคนรับซื้อของเก่าเสียเอง

ร้านปงสนุกค้าของเก่าจดทะเบียนการค้าถูกต้องตามกฎหมาย โดยจะรับซื้อวัสดุเหลือใช้ต่อจากพ่อค้าเร่รายเล็กๆที่รับซื้อของเก่า หรือไม่ก็คนเก็บขยะตามถังข้างถนน จากนั้นนำมาปรับปรุงคุณภาพวัสดุเหลือใช้เล็กน้อย เช่น แยกเป็นหมวดหมู่ จัดการกับเศษโลหะให้เป็นระเบียบ รอการขายต่อไป

โด่งบอกว่า เขาต้องมีใบควบคุมมลพิษจากกระทรวงสาธารณสุข เพราะถือเป็นแหล่งสะสมขยะ มีใบทะเบียนพาณิชย์ และใบอนุญาตค้าของเก่า ซึ่งต้องไปทำเรื่องขอที่อำเภอ นอกจากนี้ หากไม่แน่ใจในของที่รับซื้อว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ โด่งจะขอสำเนาบัตรประชาชนจากลูกค้า จดเลขทะเบียนรถไว้อย่างละเอียด เผื่อกรณีที่มีปัญหา จะได้ยื่นหลักฐานนี้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ
พวกนี้จะมีพิรุธครับ พอจะดูออก โด่งยิ้มพลางพูดต่อ กฎหมายจะคุ้มครองร้านรับซื้อของเก่าครับ เราอยู่ในฐานะคนกลาง

แน่นอนว่า ของโจร ย่อมไม่เป็นที่ปรารถนาของใครก็ตามที่ทำธุรกิจนี้ หากแต่ยังมีของจากโรงพยาบาล ขวดยาฆ่าแมลง และพวกขยะพิษต่างๆ ที่โด่งต้องปฏิเสธ เพื่อสุขภาพของตัวเขาเองและลูกน้อง

ถึงจะเป็นร้านเล็กๆ ที่ต้องรอของเก่าจากพ่อค้ารายย่อย แต่โด่งก็ยังมีคอนเน็กชั่นที่ดีกับโรงเรียน บริษัท ห้างร้าน ร้านอาหาร ฯลฯ ซึ่งจะโทรศัพท์มาตามเมื่อมีของเหลือใช้เกินความจำเป็น

เมื่อก่อนรับโทรศัพท์กันไม่หวาดไม่ไหวครับ บางวันนับสิบยี่สิบเจ้า ตามไปเก็บแทบไม่ทัน เดี๋ยวนี้วันๆหนึ่งเหลือแค่เจ้าสองเจ้าเท่านั้น

พอได้ของเก่ามาแล้ว ก็ต้องมาคัดแยกเป็นประเภทต่างๆ หลักๆเลยโด่งจะแยกเศษเหล็ก กระดาษ พลาสติก และขวดแก้วออกจากกัน พอได้จำนวนมากพอก็จะนำใส่รถไปขายให้พ่อค้ารับซื้อของเก่ารายใหญ่แถวนาป้อ

เมื่อถามถึงรายได้ต่อเดือน โด่งว่าถึงตัวเลข หลัก แต่หักโน่นหักนี่ก็อาจจะเหลือแค่ หลัก

นอกจากนี้ เขายังช่วยอธิบายถึงวงจรของธุรกิจรับซื้อของเก่าจนเข้าใจง่ายๆได้ว่ามีลำดับดังนี้ ชาวบ้านเก็บขยะ-ร้านรับซื้อของเก่าขนาดเล็ก-ร้านรับซื้อของเก่ารายใหญ่ที่มีเครื่องอัดขยะ-บรรทุกสิบล้อส่งเข้ากรุงเทพฯ-นำไปรีไซเคิลตามประเภทของขยะ

.............................................................

สาม ธ สิริรัตน์  ค้าของเก่าไม่มีเก่า

จากธุรกิจเล็กๆอย่างร้านปงสนุกค้าของเก่า เราไปดูธุรกิจรับซื้อของเก่าขนาดใหญ่ที่ ร้านสาม ธ สิริรัตน์ ของ บุญเที่ยง ตื้อยศ ที่อำเภอห้างฉัตร ร้านนี้มีพ่อค้าที่นำรถกระบะไปเร่ซื้อของเก่าตามหมู่บ้านทยอยมาจอดไม่ขาดสาย บรรยากาศซื้อขายจึงคึกคักและดูเอาจริงเอาจังมากกว่า


พ่อค้าเร่วัยกลางคนที่นำของมาขายให้ร้านสาม ธ สิริรัตน์บอกว่า ร้านนี้เป็นร้านประจำของเขาเลยทีเดียว หลังจากตระเวนรับซื้อของเก่าจากในเมืองมาครึ่งวัน ก็มากพอที่จะนำมาขายได้แล้ว เมื่อก่อนวันหนึ่งเคยได้เงินนับพันบาท หลังๆ มานี้ได้ประมาณ 500 บาทเท่านั้น

วันนี้ 500 จะถึงหรือเปล่าไม่รู้ พ่อค้าเร่ส่ายหน้า ได้มาก็ต้องแบ่ง ส่วน รถ (ค่าน้ำมัน) ส่วน ลูกน้อง ส่วน สุดท้ายผมจะได้เท่าไรไม่รู้ เขาแค่นหัวเราะ

ร้านสาม ธ สิริรัตน์เป็นร้านรับซื้อของเก่ารายใหญ่ในอำเภอห้างฉัตร ซึ่งจะทำสัญญากับโรงงานอุตสาหกรรมในการจัดหาขวด แก้ว กระดาษ พลาสติก โลหะ และอื่นๆ ตามปริมาณ ชนิด และคุณภาพที่โรงงานนั้นต้องการ โดยจะปรับปรุงคุณภาพของวัสดุแต่ละชนิดด้วยการบด อัด แล้วจึงบรรทุกรถสิบล้อไปส่งโรงงาน โดยพลาสติกจะถูกนำไปโม่ฉีดขึ้นรูปส่งไปประเทศจีน ส่วนเหล็กมีปลายทางอยู่ที่โรงงานในจังหวัดระยอง โดยจะนำไปเข้าเตาหลอม ทำเป็นเหล็กเส้น หรือเหล็กรูปพรรณต่อไป

บุญเที่ยง เจ้าของร้านสาม ธ สิริรัตน์ เคยรับราชการตำรวจ หลังทำงานเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง เขากับพี่ชายก็ช่วยกันเปิดร้านรับซื้อของเก่าในปี พ.ศ. 2544

ตอนเปิดแรกๆ ผมรับซื้อหมด ของที่เขาไม่ซื้อกัน เราก็ซื้อ ซื้อมาแล้วยังไม่รู้เลยว่าจะเอาไปขายที่ไหน บุญเที่ยงหัวเราะขณะพาเดินชมโกดังเก็บของเก่าขนาดใหญ่

ทุกวันนี้ จะว่าไปแล้วเราก็รับซื้อแทบทุกอย่าง ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบล่ะครับ แต่หลักๆ เลยก็คือ พลาสติก เศษเหล็ก เศษแก้ว กระดาษ โลหะอย่างพวกทองแดง ทองเหลือง สแตนเลส แต่บอกไว้ก่อนเลยว่า ตอนนี้เศรษฐกิจโลกไม่ดี ธุรกิจนี้ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย

ไม่น่าเชื่อว่า ธุรกิจค้าของเก่าก็ยังต้องอิงกับกระแสธุรกิจโลก อย่างช่วงนี้ราคาเหล็กนอกถูก ราคาของเราก็ต้องเท่ากว่า หรือถูกกว่าของนอก ราคาเหล็กตกกราวรูดเหลือเพียงกิโลกรัมละ 2-3 บาทเท่านั้น ราคาทองแดง ทองเหลือง เมื่อก่อนสูงถึงเกือบ 200 บาท ทุกวันนี้ได้แค่ 100 บาทต้นๆ


ธุรกิจค้าของเก่ามันขึ้นอยู่ความขยันครับ เราต้องมานั่งคิดว่าทำอย่างไรจึงจะได้กำไร ซึ่งตรงนี้คือต้องคัดแยกของให้ละเอียดที่สุด พลาสติก กระดาษ กระป๋อง พวกนี้เราจะนำมาอัดให้แน่น เพื่อจะได้น้ำหนักเพิ่มขึ้น ส่วนเศษแก้วต้องบดละเอียด พวกทองแดงจะมียี่ปั๊วมารับไปอีกที ราคาของพวกนี้ขึ้นลงตลอด เราต้องคอยตามข่าว จะมีพรรคพวกโทรศัพท์มาบอกว่าช่วงไหนควรขาย ช่วงไหนควรชะลอไว้ก่อน

โกดังขนาดใหญ่โตของร้านสาม ธ สิริรัตน์เต็มแน่นไปด้วยของเหลือใช้แทบทุกประเภท ตั้งแต่โครงหลังคารถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น ที่นอนเก่า และอีกสารพัดอย่าง ปฏิเสธไม่ได้ว่า ครั้งหนึ่งของเหล่านี้คือสุดยอดปรารถนาของเรา แต่เมื่อวันใดที่มันหมดความหมายเกินจะเยียวยา เราก็แทบจะทนเห็นมันไม่ได้อีก ต้องรีบกำจัดออกไปให้พ้นๆ ร้านรับซื้อของเก่าจึงเข้ามาสนองตอบความต้องการนี้ และก็เป็นธุรกิจนี้นี่แหละ ที่ทำให้ขยะ (ส่วนหนึ่ง) ยังไม่ล้นโลก เรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของการรีไซเคิล เป็นธุรกิจรักโลกก็คงไม่เกินเลยไปนัก

กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1059 วันที่ 18 - 24 ธันวาคม 2558)

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์