ชาวเสริมขวา อ.เสริมงาม รวมพลังโซเชียลฮือต้านเหมืองพลวง ส่งหนังสือถึงผู้ว่าฯ ขอให้ระงับการขอประทานบัตรเหมืองแร่ พร้อมยื่นดีเอสไอตรวจสอบกรณีการบุกรุกพื้นที่ป่า ด้านบริษัทฯยื่นขอสัมปทานเมื่อสิ้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา อยู่ระหว่างขั้นตอนในยื่นคำร้องคัดค้าน
เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.58 ที่ผ่านมา ทางสื่อสังคมออนไลน์ ได้มีความเคลื่อนไหวภายใต้ชื่อ กลุ่มเสริมงามพลเมือง โดยมีสมาชิกกลุ่มรวมกันประมาณ 3,400 คน เพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารในพื้นที่ อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ล่าสุดกลุ่มดังกล่าวได้มีการคัดค้านเรื่องการตั้งเหมืองแร่ในพื้นที่บ้านแม่เลียงพัฒนา หมู่ 7 ต.เสริมขวา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ซึ่งเป็นของบริษัท แม่น้ำโขง สามเหลี่ยมทองคำหวางฉิ่ง จำกัด ได้ยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองแร่พลวง จำนวน 297 ไร่ 2 งาน 70 ตารางวา ไปยังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง เมื่อเดือน พ.ย.58 ที่ผ่านมา โดยทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง ได้ปิดประกาศกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เรื่องการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ ของบริษัทดังกล่าว เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 58 เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ได้ยื่นคำร้องคัดค้านภายใน 20 วัน หากไม่มีผู้ยื่นคำร้องทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
แต่เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่ ไม่ได้มีการทราบเรื่องการตั้งเหมืองแร่มาก่อน กระทั่งทราบว่าทางบริษัทฯได้มีการยื่นขอสัมปทาน จึงรวมพลังกันในสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และร่วมกันคัดค้านในเรื่องนี้ โดยมอบให้ ร.ต.อ.ชูมิตร ชุณหวาณิชพิทักษ์ พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้ดำเนินการ
ร.ต.อ.ชูมิตร ชุณหวาณิชพิทักษ์ เปิดเผยกับลานนาโพสต์ว่า ตนเองเป็นลูกหลานชาว ต.เสริมขวา อ.เสริมงาม ชาวบ้านจึงได้ร้องขอความช่วยเหลือมาเนื่องจากไม่ต้องการให้มีการตั้งเหมืองแร่ในพื้นที่ เกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ดังกล่าว เพราะบ้านแม่เลียงพัฒนา เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ สามารถส่งน้ำไปได้ทั้งอำเภอ และยังไหลไปทาง อ.เกาะคา หากมีการขุดเหมืองแร่ในพื้นที่ น้ำกินน้ำใช้ของชาวบ้านก็จะได้รับสารปนเปื้อนเป็นสีแดง ไม่สามารถใช้ได้ รวมทั้งชาวบ้านกลัวว่าหากมีการตั้งเหมืองแร่แล้วจะมีการฆ่าแกงกันเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
เมื่ออดีตหลายสิบปีก่อนเคยมีการเปิดเหมืองแร่ที่บ้านแม่เลียงมาแล้ว และมีการฆ่ากันเกิดขึ้นในพื้นที่ ทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นพื้นที่สีชมพู หรือพื้นที่อันตราย ยุคหลังชาวบ้านได้มีการประท้วงหนักขึ้นจึงได้มีการปิดเหมืองไป แต่อิทธิพลต่างๆในพื้นที่ก็ยังคงอยู่ เมื่อมีเหมืองแร่จะเข้ามาทำในพื้นที่อีกครั้ง ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันเพื่อต่อสู้ เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยในอดีต จึงต่อต้านผ่านทางโซเชียลมีเดียร์ส่งต่อเรื่องราวออกไป และได้มาขอความช่วยเหลือจากตน เพราะภูมิลำเนาบ้านเกิดก็อยู่ที่ อ.เสริมงาม มีตำแหน่งเป็นอัยการ ชาวบ้านจึงได้ส่งเรื่องมาให้ จากนั้นเรื่องราวต่างๆจึงได้มีการส่งต่อกันทางเฟสบุ๊ก ด้วยความที่ตนมีคนรู้จักมาก เมื่อนำเสนอเรื่องราวออกไปก็ได้มีคนสอบถามเข้ามา จนกระทั่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปตรวจสอบในพื้นที่ ก็พบว่ามีการตั้งแค้มป์คนงานมานานเป็นปีแล้ว ชาวบ้านยังเห็นว่ามีรถเข้าออกช่วงกลางคืน คาดว่ามีการแอบทำเหมืองเอาแร่ไปขายมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาต
ร.ต.อ.ชูมิตร กล่าวว่า ขั้นตอนขณะนี้คือได้มีการยื่นคำร้องคัดค้านไปแล้วหลังจากที่สำนักงานอุตสาหกรรมมีประกาศการยื่นขอประทานบัตรจากบริษัทฯ พร้อมกับได้ส่งหนังสือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง แจ้งให้ทราบถึงปัญหาของชาวบ้านให้ทราบ และขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ระงับการจดทะเบียนคำขอประทานบัตรของบริษัทดังกล่าวฯ พร้อมกันนี้ยังได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ให้เข้ามาตรวจสอบในพื้นที่ด้วยว่าพื้นที่ดังกล่าวมีการบุกรุกพื้นที่ป่าหรือไม่
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1058 วันที่ 11 - 17 ธันวาคม 2558)