วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เหมืองบ้านแหงสะดุด ผ่านแต่มีเงื่อนไข


อุตสาหกรรมจังหวัดยันเหมืองบ้านแหงผ่านประทานบัตรจริง แต่มีเงื่อนไขอีกกว่า 30 ข้อ  ผู้ว่าฯย้ำเหตุการอนุญาตเกิดจากอำนาจการเมือง โอกาสเกิด 0 เปอร์เซ็นต์ หากไม่มีการทำความเข้าใจกับชาวบ้านได้

นายสมศักดิ์ หวลกสิน อุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง กล่าวว่า  หลังจากที่ตนได้ย้ายเข้ามารับตำแหน่งที่ จ.ลำปาง ก็ได้ตรวจสอบประเด็นการอนุญาตให้บริษัทเอกชนเปิดเหมืองที่บ้านแหง อ.งาว  ซึ่งมีการขออนุญาตประทานบัตรของบริษัทเขียวเหลือง จำกัด มาตั้งแต่ปี 2553 คำขอประทานบัตรที่ 4-8/2553 รวม 5 แปลง ในพื้นที่ หมู่ 1 และ หมู่ 7 ต.บ้านแหง อ.งาว   ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าไม้ และพื้นที่ ส.ป.ก. ด้วยกัน 4 แปลง ยังไม่ได้รับอนุญาตจาก ส.ป.ก.  แต่ที่ได้รับอนุญาตแล้วเป็นแปลงที่ 6/2553  พื้นที่ 291 ไร่ 2 งาน 84 ตารางวา เป็นพื้นที่ป่าไม้ ป่าสงวนแห่งชาติ ,ป่าไม้ ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 , และป่าถาวรตามมติ ครม.  ไม่มีพื้นที่ ส.ป.ก.อยู่ในเขต ได้รับประทานบัตรที่ 30485/16138 เมื่อวันที่ 10 ส.ค.58 ที่ผ่านมา ไปจนถึงวันที่ 9 ส.ค.2568  เป็นเวลา 10 ปี  โดยขณะนี้ผู้ถือประทานบัตรยังไม่ได้เปิด ทำการเหมืองแต่อย่างใด   

อุตสาหกรรมจังหวัด กล่าวต่อไปว่า เมื่อได้รับอนุญาตประทานบัตรแล้ว ไม่ใช่ว่าจะเปิดเหมืองได้เลย แต่ผู้ถือประทานบัตรต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในการออกประทานบัตรในส่วนของมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ได้กำหนดให้ดำเนินการก่อนเริ่มทำเหมือง รวม 36 ข้อ  แยกเป็นมาตรการทางเศรษฐกิจและสังคม 13 ข้อ  และมาตรการเตรียมการป้องกันและเตรียมพื้นที่ 23 ข้อ   เช่น ประสานกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบและแก้ไขข้อขัดแย้งในรูปพหุภาคี  ประกอบด้วย นายอำเภองาว เป็นประธานคณะกรรมการ ตัวแทนของโครงการ  ผู้นำท้องถิ่น เช่น อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  และตัวแทนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ให้เสร็จก่อนการทำเหมือง และให้เสนอรายงานการดำเนินการของคณะกรรมการฯ ต่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปีละ 1 ครั้ง   พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการมวลชนสัมพันธ์ก่อนการเปิดทำเหมือง จากตัวแทน 3 ฝ่าย คือ ตัวแทนโครงการ หน่วยงานราชการ และตัวแทนชุมชน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน  รวมทั้งการตั้งกองทุนพัฒนาชุมชน กองทุนฟื้นฟูพื้นที่ กองทุนประกันความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน  กองทุนเฝ้าระวังภาวะสุขภาพ เป็นต้น

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทางกลุ่มชาวบ้านได้มีการยื่นฟ้องไปยังศาลปกครองเชียงใหม่ 2 คดี ขอให้ศาลมีคำสั่งให้รายงานการไต่สวนตามคำขอประทานบัตรทั้งหมด 5 แปลง เนื่องจากเป็นรายงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลรับฟ้องแล้ว  และให้เพิกถอนกระบวนการต่อเนื่องทั้งหมด  พร้อมกับขอให้เพิกถอนประทานบัตรที่ 30485/16138 ของบริษัท เขียวเหลือง จำกัด  อยู่ระหว่างการพิจารณารับฟ้อง ซึ่งเรื่องทั้งหมดอยู่ระหว่างขั้นตอนของศาลปกครองเชียงใหม่  ทางจังหวัดเองก็ได้มีการตั้งคระกรรมการไตรภาคีขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร  ส่วนทาง ป.ป.ช.จังหวัดลำปาง ก็ได้รับเรื่องร้องเรียนที่ชาวบ้านยื่นไปแล้ว กรณีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ  อยู่ระหว่างดำเนินการของ ป.ป.ช.

“การออกใบอนุญาต ทุกหน่วยงานทราบดีว่ามีการขัดแย้งในพื้นที่สูงมาก และได้ทำเงื่อนไขไว้ทั้งหมด 36 ข้อ การจะเปิดเหมืองได้ต้องทำการตกลงกับประชาชนในพื้นที่ให้ได้ สังคมต้องสงบสุขก่อน ถ้าทำไมได้ก็คงไม่มีใครเปิดเหมืองให้ เพราะฉะนั้นขั้นตอนการเปิดเหมืองไม่ได้ทำง่ายๆ ทางผู้ถือประทานบัตรเองก็ต้องเคลียร์กับคนในพื้นที่ให้ได้ทั้งหมดก่อน เงื่อนไขเหล่านี้ทางบริษัทก็ทราบดี มีการเซ็นรับทราบกันเรียบร้อยแล้ว  แต่ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสิน”   อุตสาหกรรมจังหวัด กล่าว

เมื่อสอบถามว่า ในพื้นที่ยังมีความขัดแย้งอยู่อย่างต่อเนื่องเหตุใดจึงได้รับอนุญาตประทานบัตร   นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า ในเรื่องนี้เกิดตั้งแต่สมัยที่ตนเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และทราบกันดีว่าเจ้าของบริษัทฯเป็นใคร มีอำนาจทางการเมืองเข้ามาถึงตรงนี้ได้ การอนุญาตประทานบัตรอาจจะให้มาในรูปเกรงใจ แต่ให้มีเงื่อนไข ซึ่งจะผ่านด่านกระบวนการชุมชนได้ยาก โอกาสเกิดขึ้นจึงมีน้อยหรือเป็น 0 เปอร์เซ็นต์ก็ว่าได้ เมื่อไม่สามารถสร้างความสงบสุขให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ก็เป็นไปได้ยาก เชื่อว่าไม่มีทางเกิดได้แน่นอน

อุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง กล่าวเพิ่มเติมกรณีการขอประทานบัตรเหมืองแร่ของ บริษัท แม่น้ำโขง สามเหลี่ยมทองคำ หว่างฉิง จำกัด พื้นที่ ต.เสริมขวา อ.เสริมงาม ว่า  หลังได้รับคำขอประทานบัตรได้มีการเข้าไปรังวัดกำหนดเขต เพื่อออกประกาศตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนยื่นคัดค้าน ซึ่งได้รับหนังสือคัดค้านจากประชาชนมาหลายฉบับ ทั้ง 12 หมู่บ้าน ต่อจากนี้ก็ต้องแจ้งกลับไปยังบริษัทฯว่ามีประชาชนคัดค้านมาจะยังดำเนินการต่อหรือไม่ ไม่ต้องห่วงว่าทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด จะดันทุรังที่จะอนุญาตให้ได้ เราต้องทำให้เป็นธรรมที่สุดทั้งสองฝ่าย

สำหรับบริษัท เขียวเหลือง จำกัด บริษัทจำกัด จดทะเบียน เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.51 ด้วยทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท  ตั้งอยู่เลขที่ 282 หมู่ที่ 1 ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง  คณะกรรมการบริหารประกอบด้วย นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล และนางสาวกัญญาณัฐ อินทรง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1059 วันที่ 18 - 24 ธันวาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์