กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง
ถึงตอนนี้กระแสความเป็นเมืองที่ไม่หมุนตามกาลเวลาของลำปางบ้านเราคงฮิตติดลมบนไปแล้ว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงหันมา Plus ความสุขจาก 12 เมืองต้องห้าม...พลาดทั่วภูมิภาค สู่เมืองน่ารักรอบข้างอีก 12 เมือง รวมเป็น 24 เมือง โดยสามารถท่องเที่ยวแบบเชื่อมโยงถึงกันได้โดยง่าย เช่น ลำปาง+ลำพูน น่าน+แพร่ เพชรบูรณ์+พิษณุโลก เป็นต้น
การจับคู่ลำปางมา Plus กับลำพูนนั้น ดูเหมาะสมกันดี เพราะความที่เป็นเมืองน่ารัก ๆ ทั้งคู่ มีพื้นที่เชื่อมต่อกัน เรียกว่าอยู่ใกล้กันนิดเดียว แถมทั้งลำปางและลำพูนก็มีความเชื่อมโยงกันอยู่ในหลาย ๆ ด้าน
ในยุคแรก ตรงกับยุคสมัยหริภุญไชย ราวพุทธศตวรรษที่ 13 เขลางค์นครเป็นเมืองที่มีเครือข่ายอยู่กับเมืองหริภุญไชย เนื่องจากเป็นเครือข่ายในวัฒนธรรมเดียวกัน ผังเมืองในยุคแรกนั้น วางเป็นรูปร่างอิสระ โค้งไปตามแม่น้ำวัง เป็นรูปหอยสังข์เช่นเดียวกับเมืองหริภุญไชย เปรียบดังสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่วัดพระแก้วชมพู (ปัจจุบันคือวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม)
ในตำนานมูลศาสนากล่าวว่า พระนางจามเทวี ผู้ครองเมืองหริภุญไชย ทรงสร้างเมืองนี้ขึ้น และต่อมาทรงมอบให้พระเจ้าอนันตยศ พระราชโอรส ปกครองดูแล ด้านตำนานจามเทวีวงศ์กล่าวว่า พระสุพรหมฤาษีเป็นผู้สร้างเมือง เพื่อถวายให้พระเจ้าอนันตยศ พระราชโอรสของพระนางจามเทวี อย่างไรก็ตาม ลำปางเราก็คือเมืองในเครือข่ายของเมืองหริภุญไชย ด้วยเหตุนี้ ในช่วงที่พญามังรายบุกโจมตีหริภุญไชย พญายีบา ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์สุดท้าย จึงหนีไปอาศัยยังเมืองลำปางที่ปกครองโดยพระโอรสของพระองค์
โบราณสถานหลายแห่งในเมืองลำปางยังมีการอ้างถึงพระนางจามเทวี ไม่ว่าจะเป็นวิหารจามเทวี วัดปงยางคก หรือตำหนักเย็น วัดพระธาตุจอมปิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัดพระธาตุลำปางหลวงของเรานั้น พระนางจามเทวีก็ทรงมีศรัทธาอย่างมาก ดังที่พงศาวดารโยนกได้กล่าวถึงการเสด็จมานมัสการองค์พระธาตุเจดีย์ของพระนางและได้ทรงอธิษฐานให้เกิดบ่อน้ำเลี้ยงขึ้นเพื่อเลี้ยงประชาชน
กล่าวถึงพระนางจามเทวี พระราชประวัติของพระนางยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในแวดวงนักวิชาการ โดยยังไม่อาจสรุปให้เป็นที่พอใจของทุกฝ่ายได้ แล้วก็เป็นประเด็นขึ้นมาเมื่อนิตยสารต่วยตูนตีพิมพ์บทความเรื่อง “พระนางจามเทวี ทรงเป็นวีรสตรี หรือนางร้ายกันแน่” ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านอย่างเผ็ดร้อนจากคนลำพูน ซึ่งเคารพและเทิดทูนพระนางจามเทวีสุดหัวใจ
แรงเขย่าจากเรื่องนี้ นำมาซึ่งการจัดเวทีเสวนาสืบค้นพระราชประวัติพระนางจามเทวีโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา (ตรงกับวันที่พระนางจามเทวีเสด็จขึ้นครองเมืองหริภุญไชย) หวังกระตุ้นให้เกิดการสืบค้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองลำพูน ระหว่างชาวลำพูนกับนักวิชาการจากสถาบันต่าง ๆ ที่มีแนวคิดใหม่ ๆ เพื่อช่วยกันชำระประวัติศาสตร์ที่คลุมเครือของนครหริภุญไชย งานนี้มีปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน นักเคลื่อนไหว และนักวิชาการ เข้าร่วมเสวนากว่า 200 คน
ดร. เพ็ญสุภา สุคตะ อดีตหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ปัจจุบันเป็นอาจารย์สาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวว่า การจะสืบค้นพระราชประวัติพระนางจามเทวีนั้น จำเป็นจะต้องศึกษาหลักฐานจาก 3 ด้าน ได้แก่ ด้านโบราณคดี (ทั้งโบราณวัตถุและโบราณสถานมีเงื่อนไขว่าต้องมีอายุเก่าแก่ถึงพุทธศตวรรษที่ 13 เท่านั้น เนื่องจากพระนางจามเทวีเป็นบุคคลในช่วงเวลาดังกล่าว) ด้านประวัติศาสตร์ (ต้องศึกษาจากศิลาจารึก ทว่าในลำพูนไม่พบจารึกเก่าแก่ในพุทธศตวรรษที่ 13) และด้านคำบอกเล่า มุขปาฐะ นิทานพื้นบ้าน
นอกจากนี้ ก็ยังมีก็ยังมีหลักฐานด้านลายลักษณ์อักษรอีกประเภทหนึ่ง คือ ตำนานและพงศาวดารที่มีการกล่าวถึงพระนางจามเทวี ซึ่งล้วนแล้วแต่เรียบเรียงขึ้นในยุคหลัง ห่างไกลจากเหตุการณ์จริงมากกว่า 800 ปี ที่ใช้อ้างอิงกันมากมีอยู่ 2 กลุ่ม
กลุ่มแรก คือ ตำนานฝ่ายวัด เขียนโดยพระภิกษุสายลังกาวงศ์ ยุคล้านนา พุทธศตวรรษที่ 20 ถึงต้น 21 ส่วนอีกกลุ่มเป็นตำนานฝ่ายบ้าน เขียนโดยชาวมอญบ้านหนองดู่-บ่อคาว ด้วยอักษรมอญ ยุคล้านนา พุทธศตวรรษที่ 20 ร่วมสมัยกับตำนานฝ่ายวัด
ความขัดแย้งกันระหว่างตำนาน 2 กลุ่มนี้ ทำให้นักประวัติศาสตร์หลายต่อหลายรุ่นต้องมานั่งปวดหัวกับเนื้อหาที่แตกต่างกัน รวมถึงการระบุช่วงเวลา เกิดเป็นปมปริศนาที่มิอาจสะสางได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องชาติกำเนิดของพระนางจามเทวี
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1060 วันที่ 25 ธันวาคม 2558 - 7 มกราคม 2559)