ในขณะที่งานขับเคลื่อนการปฏิรูปสื่อ ยังอยู่ในเขาวงกต แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็จัดการปฏิรูปสื่อ เรื่องการจัดระเบียบการตั้งคำถามนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยกำหนดให้นักข่าวแจ้งชื่อ สกุล สังกัด และถามคำถามได้เพียง 4 คำถาม
“..เรื่องการปรับปรุงรูปแบบการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนนั้น มีคำสั่งมาจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยไม่ได้มีเจตนาปิดกั้นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน แต่เพื่อต้องการให้เกิดความหลากหลายในเรื่องการถามคำถาม ให้ทุกสำนักข่าวได้มีสิทธิในการถามอย่างเท่าเทียม ไม่อยู่ที่กลุ่มเดียว ทั้งนี้ต้องการให้ประเด็นคำถามนั้น ขอให้เป็นเรื่องที่สำคัญ และเป็นประเด็นใหญ่ของเรื่องนั้น ส่วนประเด็นอื่นๆอยากให้สื่อมวลชนไปสอบถามกับโฆษกประจำกระทรวงต่างๆ ที่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อให้มีการสร้างความรับรู้ได้ชัดเจนมากขึ้น”
พ.อ.หญิงทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกรัฐบาล อธิบาย
นี่อาจเป็นภาพสะท้อนว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดการสื่อสารของรัฐ ไม่เข้าใจธรรมชาติการทำงานของสื่อเลย
แน่นอนว่า การแจ้งชื่อ สกุล สังกัด ก่อนถามนั้น เป็นกติกาสากลที่เขาปฏิบัติกันในประเทศเสรีประชาธิปไตยทั่วโลก แต่การจำกัดจำนวนคำถาม คือการลิดรอนสิทธิ เสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็นของสื่อและประชาชน ปัญหาคือ ข่าวละการตั้งคำถาม ขึ้นอยู่กับประเด็นและคุณค่าข่าว 4 คำถาม ไม่ได้มากไป หรือน้อยไป ในขณะเดียวกันก็มิใช่นักข่าวทุกคนที่ต้องการตั้งคำถาม บางคนถาม บางคนไม่ถาม เป็นเรื่องความใส่ใจในการทำงานของนักข่าวแต่ละคน หาใช่เรื่องความเท่าเทียมหรือไม่เท่าเทียมไม่
ในอดีตรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ก็เคยจัดระเบียบการตั้งคำถามของนักข่าวมาแล้ว แต่ก็ไม่สามารถปฏิบัติได้ และเลิกราไปในที่สุด ถัดมาทักษิณ ชินวัตร ก็เคยยกป้ายคำถามสร้างสรรค์ ไม่สร้างสรรค์ มาแล้ว สิ่งเหล่านี้แสดงถึงแนวคิดในการคุมสื่อแบบเเผด็จการ ที่ต้องการสร้างความยุ่งยากให้กับผู้ตั้งคำถาม จนทำให้บทบาทในการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลลดลง
แต่ในยุคเผด็จการ การคุกคามและจำกัดบทบาทอาจรุนแรงถึงเลือด ถึงเนื้อ ถึงกับสูญเสียอิสรภาพ
สมบูรณ์ วรพงษ์ อดีตบรรณาธิการไทยรัฐ บันทึกเรื่องราว “บนเส้นทางหนังสือพิมพ์” ไว้ว่า ข่าวนักหนังสือพิมพ์ถูกจับกุมข้อหาทางการเมืองไม่ใช่เพิ่งจะมี แต่มีมาตลอดระยะเวลา ทั้งก่อนหน้าเปลี่ยนแปลงการปกครองและหลังการเปลี่ยนการปกครองแล้ว ก่อนหน้านี้เรารู้จักนาม ของ “ก.ศ.ร. กุหลาบ” และ “เทียนวรรณ” ในฐานะนักสู้สิบทิศเพื่อความถูกต้องของสังคม แต่ทั้งสองท่านก็ผ่านคุกตะรางมาแล้ว
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง นักหนังสือพิมพ์ถูกจับข้อหาการเมืองก็เคยมี นายหลุย คีรีวัต , พระยาศราภัยพิพัฒ เจ้าของนามปากกา “ศรทอง” หรือ “ศราภัย” ก็เคยผ่านคุกตะรางมาแล้วฉันใด ในระยะไม่นานนัก สัก 20-30 ปีมานี้ นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน ก็เคยถูกจับข้อหากบฏในราชอาณาจักร ข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์
ราวปี พ.ศ.2492 หลังรัฐประหารใหม่ๆ สมัยนั้นรัฐบาลกวดขันเรื่องข้อเขียนของนักหนังสือพิมพ์กันมาก นัยว่าเพื่อเอาใจ “คณะรัฐประหาร” ที่ขึ้นคุมอำนาจ และต้องการขจัดอิทธิพลของนายปรีดี พนมยงค์ นักหนังสือพิมพ์หลายคนเข้าข่ายจะถูกจับกุม หลายคนถูกอำนาจเถื่อนยิงทิ้ง ทั้ง บก.ชิ้น โรจนวิภาต รายแรกที่โดนกระสุนสังหารทางการเมือง ขณะที่นั่งสามล้อผ่านราชตฤณมัยสมาคมเพื่อกลับบ้าน
คิดถึงชะตากรรมของนักข่าวยุคก่อนแล้ว การจัดระเบียบนักข่าวยุคนี้เล็กน้อยไปเลยทีเดียว
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1067 วันที่ 19 - 25 กุมภาพันธ์ 2559)