กว่าจะได้มาสักใบ คุณค่าทางใจย่อมสูงกว่าราคา กลุ่มผู้สูงวัยบ้านสบปุง ตำบลท่าผา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ยังคงยึดอาชีพสาน “งอบ” หรือภาษาท้องถิ่นภาคเหนือบ้านเราเรียกว่า “กุบ”งานที่ใช้เวลาว่างทำให้เกิดรายได้ โดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ทั้งไม้ไผ่ ใบตาล และอาศัยทักษะฝีมือจักสานและงานเย็บมือทุกขั้นตอน

“อาชีพสานงอบมีมาแต่ปู่ย่าตายาย แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะสืบทอดต่อๆกันไปในยุคนี้เพราะการสานงอบเป็นงานละเอียด คนทำต้องใจเย็น มีสมาธิ มีใจรัก แต่คนสมัยนี้อยู่ในสังคมรีบเร่งชอบงานง่ายหรือทำงานที่ได้เงินเร็ว กว่าจะได้งอบมาแต่ละใบ เริ่มจากการจักไม้ไผ่ให้เป็นเส้นเล็กๆ สำหรับสานโครง โดยมีเบ้าแม่พิมพ์ที่ทำจากไม้ไว้ช่วยให้โครงเป็นรูปทรงและเท่ากันทุกใบ จากนั้น นำใบตาลมาเลาะให้เป็นส้นตัดแต่งให้เรียบร้อยแล้วนำมาเย็บเรียงกันตามโครงที่สานเอาไว้ ทุกขั้นตอนเป็นงานทำด้วยมือ ไม่มีเครื่องจักรช่วย งานจึงประณีต ทนทาน หนึ่งวันถ้าเริ่มจากสานโครง เย็บใบตาล เก็บรายละเอียดจนเสร็จสิ้นได้แค่เพียงใบเดียว แต่ถ้าทำโครงคราวละหลายๆใบ แล้วเย็บครั้งเดียวจะช่วยให้งานเร็วขึ้น” คุณยายแสงรอน เล่าถึงวิธีการทำขณะที่มือยังตัดแต่งใบลานอย่างใจเย็น
เช่นเดียวกับ คุณยายจอม วังวล วัย 70 ปี และ ยายสุขแก้ว กาวิน วัย 63 ปี ที่บอกกับเราว่า แม้รายได้จะไม่มากแต่ก็เป็นงานที่เพลิดเพลิน หลังเสร็จภารกิจงานบ้าน ช่วงสายๆก็มานั่งสานงอบที่กลุ่มเหมือนได้พบเพื่อนและทำงานร่วมกันแบบสบายๆไม่เร่งรีบ มีรายได้พอซื้อใช้ส่วนตัวและซื้อขนมเผื่อลูกหลานก็มีความสุขแล้ว


แม้ในรอบหนึ่งเดือน จะผลิตได้หลายร้อยใบแต่ยังไม่พอขายเพราะสมาชิกผู้ผลิตมีเพียง 10 คนเท่านั้น รายได้จากการขายสมาชิกในกลุ่มนำผลกำไรปันผลและเก็บออมเป็นทุนหมุนเวียนเดือนละ 500-1,000 บาท และมีบัญชีเงินออมของสมาชิกอีกเดือนละ 10 บาทต่อคน ไว้เป็นสวัสดิการเรื่องที่น่ายินดีคือมีหน่วยงานท้องถิ่นให้การสนับสนุน เงินทุนหมุนเวียนและการพัฒนาเป็นระยะ
คุณยาย แสงรอนบอกว่า ไม่รู้ว่าที่อื่นเขาขายกันอย่างไร แต่สำหรับที่นี่ต้นทุนการผลิตเราไม่สูงมาก ไม้ไผ่ตัดจากสวนหลังบ้าน 1 ลำได้งอบ ประมาณ 30 ใบ ความยากของงานผลิตงอบ คือการจักไม้ไผ่ให้ได้เส้นเล็ก ราว 0.5เซนติเมตร และส่วนสำคัญที่สุดคือ ส่วนที่ใช้สวมเข้ากับศีรษะ ต้องใช้ตอกไม้ไผ่ที่ถูกนวดเป็นเส้นให้อ่อนนิ่มใส่สบาย ส่วนใบที่ใช้ทำหลังคานั้นเลือกใช้ใบตาลเพราะมีขนาดใบใหญ่ มีความหนาและทนทานกว่าใบชนิดอื่น โดยสั่งซื้อจากชาวบ้านในตำบลอื่นที่มีต้นตาล ถือเป็นการกระจายรายได้แบบธรรมชาติ
แต่ความภาคภูมิใจ ที่ผู้สูงวัยได้รับถือเป็นคุณค่าทางใจ มากกว่ามูลค่าและราคา