วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

แม่น้ำวังเน่าทั้งเมือง จอกหูหนู-ผักตบรุกเมืองโตคนทิ้งของเสีย


จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

ผอ.สิ่งแวดล้อมชี้เมืองเติบโต ชุมชนขยายทิ้งของเสียเป็นที่มาวัชพืชบุกแม่น้ำวัง วิธีแก้ต้องตักขึ้นให้หมด หากปล่อยทิ้งไว้ วัชพืชจะตายตกลงไปสะสมใต้ท้องน้ำ และน้ำยิ่งเน่าขึ้นเรื่อยๆ

ปัญหาการเกิดวัชพืชในแม่น้ำวังยังคงแก้ปัญหาไม่จบ ซึ่งทาง จ.ลำปางยังคงรณรงค์อย่างต่อเนื่อง โดยการร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่ตักวัชพืชขึ้นจากน้ำ รวมทั้งรณรงค์รับซื้อเศษวัชพืชต่างๆ นำไปทำปุ๋ยเพื่อลดปัญหาการเผาด้วย แต่ทั้งนี้การแก้ปัญหาวัชพืชต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและกำจัดให้หมดสิ้น ไม่เช่นนั้นวัชพืชน้ำเหล่านี้ก็ยังสามารถเติบโตและขยายพันธุ์ออกไปได้ และกลับมาเต็มผืนน้ำอีกครั้ง

นายอาวีระ ภัคมาตร์  ผอ.สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 2 ลำปาง เปิดเผยว่า  เมื่อก่อนแม่น้ำวังไม่มีเขื่อนยางกั้น ช่วงหลังมีการกั้นเขื่อนยาง ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นจริงแต่น้ำนิ่ง จึงไม่ได้เติมออกซิเจนตามธรรมชาติ ทำให้เกิดการสะสมของสิ่งสกปรก  ประกอบกับขณะนี้ชุมชนในเขตเทศบาล อบต.ต่างๆ ขยายตัวขึ้นมาก ต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย ถึงแม้ในครัวเรือนจะมีการบังคับให้ทำถังเกรอะรองรับสิ่งปฏิกูล แต่น้ำประเภทซักล้างก็ยังไหลลงคลองสาธารณะและลงในแม่น้ำวัง  ส่วนหนึ่งของเขตเทศบาลนครลำปางไม่ได้ไหลเข้าระบบบำบัดน้ำเสียทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์  ปริมาณน้ำต้นทุนจากเขื่อนกิ่วลมไม่มี  เมื่อน้ำไม่มีการผลิตออกซิเจนก็จะเกิดสารโซเดียม ซึ่งวัชพืชจะชอบมากเพราะจะมาเร่งใบให้โตขึ้น เมื่อไม่ได้เก็บเกี่ยววัชพืชเหล่านี้ขึ้น ต่อไปก็จะเน่าและลงไปสะสมอยู่ใต้น้ำจำนวนมาก ปัญหาน้ำเน่าเสียก็จะตามมา สิ่งที่จังหวัดรณรงค์ในการเก็บวัชพืชขึ้นเป็นการช่วยบรรเทาได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ได้มีการกักน้ำเสียตั้งแต่ต้นทาง เช่น ในสถานประกอบการ ในครัวเรือน อาจจะต้องมีระบบบำบัดน้ำเสีย และเชื่อมเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียทั้งหมด

ผอ.สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 2 ลำปาง  กล่าวว่า สำหรับผักตบชวาและจอกหูหนูเป็นไม้ดอกไม้ประดับ เติบโตได้เร็ว อาจจะมาจากบ่อเลี้ยงปลาหรือมาจากบ้านเรือน หรือมาจากเขื่อนกิ่วลม แต่ด้วยระยะทางที่ค่อนข้างไกล มีการผ่านหลายพื้นที่หลายอำเภอ ใช้เวลาในการเดินทางยาวนาน ซึ่งวัชพืชพวกนี้หากมีไนโตรเจนก็สามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว ผักตบชวาและจอกแหนเป็นพืชที่สามารถปลิวได้ โดยจะมีการปลิวทางเกสรหรือ สปอร์ ถ้าไม่ควบคุมและปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ พวกนี้ก็จะขยายเต็มผืนน้ำ ในตอนแรกอาจจะมีข้อดีคือช่วยในการบำบัดน้ำเสีย ทำให้น้ำใส มีปลาเยอะ ซึ่งผักตบชวาจะมีอายุไขอยู่ได้ประมาณ 30-45 วัน จากนั้นก็จะเน่าตายตกลงไปสะสมในท้องน้ำ และก็จะเกิดเป็นฟองอากาศ คือการหมักหมมและเกิดการเน่าอยู่ด้านล่าง ส่วนที่ขยายตัวก็กระจายออกไปอีกเรื่อยๆ

ถ้าผักตบอยู่ในน้ำที่ใสสะอาดจะเติบโตได้ช้า แต่ถ้าอยู่ในน้ำสกปรกที่มีการขับถ่ายของเสียลงไปจะเติบโตได้เร็วมาก  ซึ่งขึ้นอยู่กับแหล่งที่ปลูก แม่น้ำวังเนื่องจากน้ำไม่ไหลและมีของเสียลงมา สารอาหารจึงเยอะ การขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว วิธีกำจัดคือการควบคุมอาหาร ลดการปล่อยของเสีย การบำบัดน้ำเสีย และวิธีการขุดลอกเป็นระยะ 1-2 เดือนครั้ง  แต่การควบคุมไม่ให้เกิดทำได้ยาก ต้องควบคุมพื้นที่การเกิดโดยใช้ไม้ไผ่กั้น และตักทำปุ๋ย วัชพืชพวกนี้จะมีคุณภาพดีเพราะมีไนโตรเจนสูง ธาตุอาหารบำรุงใบได้ดี

นายอาวีระ กล่าวต่อไปว่า สำนักงานสิ่งแวดล้อมฯมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำ 3-5  ครั้งต่อปี  3 จุดในเขตเทศบาล ปัญหาที่พบคือน้ำมีความสกปรกจากโคลิฟอร์มแบคทีเรียเกินมาตรฐาน ซึ่งเป็นน้ำที่มาจากครัวเรือน  ตอนนี้บ้านเรือนรุ่นใหม่ที่จะขออนุญาตการก่อสร้าง จะต้องมีระบบบำบัดน้ำเสีย แต่บ้านรุ่นเก่าก็มีการปล่อยน้ำลงโดยตรง หรือมีการแอบต่อท่อลงแม่น้ำโดยตรง ทางกระทรวงฯ ได้มีการสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำเสียจากอาคาร หอพัก โรงแรม ถ้าพบว่ามีการปล่อยน้ำเสียก็จะตักเตือนให้ปรับปรุงระบบ ถ้าไม่ดำเนินการอีกก็จะแจ้งความดำเนินคดี  การจะตรวจและดำเนินคดีต้องมีหลายหน่วยงานร่วมกัน ถ้ามีความตั้งใจที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้นก็จบไป


สถานประกอบการใหญ่ใน จ.ลำปาง เช่น โรงพยาบาลลำปาง มีระบบบำบัดน้ำเสียระบบวน ได้มีการเข้าสุ่มตรวจเป็นระยะ ล่าสุดเข้าตรวจเมื่อวันที่ 29 ม.ค.59 ที่ผ่านมา พบว่าระบบมีประสิทธิภาพดี แต่ที่น่าเป็นห่วงคือตอนนี้ได้มีการสร้างตึกเพิ่มขึ้นหลายตึก อนาคตอาจจะต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพระบบ ส่วนอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ไม่น่าเป็นห่วงเพราะตามกฎหมายบังคับให้ต้องสร้างระบบบำบัดน้ำเสียอยู่แล้ว 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1068 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์