จำนวนผู้เข้าชม
ผู้ตรวจการแผ่นดิน ติดตามปัญหาอพยพแม่เมาะ เผยเรื่องคืบหน้าไปมาก เป็นห่วงที่สุดเรื่องการออกเอกสารสิทธิ์ให้ราษฎร พบปัญหาซ้ำซ้อน พื้นที่ทับซ้อน สปก.
เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 59 ที่ศาลาประชาคม ที่ว่าการอำเภอแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง พลเอกวิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายวทัญญู ทิพยมณฑา ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 1 และคณะเจ้าหน้าที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน ใน 3 ประเด็น คือ การจัดการทรัพย์สินของราษฎร 4 หมู่บ้าน การออกเอกสารสิทธิให้กับราษฎรในพื้นที่รองรับการอพยพ และการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ตามที่นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะได้ยื่นร้องเรียนไปเมื่อปี 2556 ในที่ประชุมมีนายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนกลุ่มผู้ร้องเรียน เข้าร่วมให้ข้อมูล
ในเบื้องต้น คณะผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ติดตามความคืบหน้า ในเรื่องการออกเอกสารสิทธิ์ให้แก่ราษฎรที่อพยพ ซึ่งพื้นที่อพยพครั้งที่ 1-4 นั้นได้ครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวน 3 ป่าด้วยกัน คือ ป่าแม่เมาะ ป่าแม่จาง และป่าแม่จางตอนขุน ซึ่งสามารถเพิกถอนเขตป่าสงวนแม่เมาะได้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ยังคงเหลือป่าแม่จางและป่าแม่จางตอนขุนที่ติดค้างอยู่ยังไม่สามารถเพิกถอนได้ ส่วนครั้งที่ 5-7 พบปัญหาว่ายังเป็นพื้นที่ของ สปก. ต้องมีการเพิกถอนพื้นที่ สปก.ก่อน จึงจะขอเพิกถอนเขตป่าได้ แต่เนื่องจากทั้งสองหน่วยงานไม่ได้มีการประสานงานกัน ทำให้เรื่องเกิดความล่าช้า ซึ่งในเรื่องนี้ได้มีการรายงานไปยังรองนายกรัฐมนตรีแล้ว ล่าสุดพลเอกประวิทย์ วงค์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี อนุมัติให้นำเสนอ ครม. ให้ความเห็นชอบในการออกกฎกระทรวงยกเลิกพื้นที่ป่าแม่จาง และแม่จางตอนขุนแล้ว คาดว่าจะมีความคืบหน้าเร็วๆนี้
สำหรับเรื่องการตรวจสอบทรัพย์สินของรัฐ นายสุวพงษ์ สงวนศักดิ์ ธนารักษ์พื้นที่ จ.ลำปาง ได้รายงานว่า การตรวจสอบมีความคืบหน้าไปมาก ได้มีการตรวจสอบบ้านเรือนไปแล้ว 190 หลัง เหลือที่ยังค้างอยู่อีกประมาณ 170 หลัง อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยมีเรือนจำกลางลำปางได้ขอความอนุเคราะห์นำทรัพย์สินไปสร้างบ้านพักที่เรือนจำชั่วคราว หากว่ามีการตรวจสอบเสร็จก็จะให้ทางเรือนจำเข้ามาดำเนินการขนย้ายไม้ต่อไป ส่วนเรื่องกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ในปี 59 มีพัฒนาการในทางที่ดี ประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้น ให้ทางภาครัฐมีโอกาสที่จะเสนอโครงการที่ยั่งยืนให้กับประชาชน
พลเอกวิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ได้มาติดตามการแก้ปัญหาในหลายประเด็น ประการสำคัญคือการปฏิบัติตามมติ ครม.ซึ่งมีการอพยพราษฎรมา 7 ครั้งว่ามีความคืบหน้าอย่างไร การลงพื้นที่ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 58 ได้มาติดตามและกลับไปบันทึกความเห็นเสนอต่อนายกรัฐมนตรีว่าควรมีการมอบหมายคณะทำงาน หรือหน่วยงานรับผิดชอบหลักที่จะบริหารจัดการเรื่องออกเอกสารสิทธิ์ให้กับราษฎร ตามมติ ครม.ที่มีถึง 7 ครั้งมีความหลากหลายไม่เหมือนกัน สถานภาพของราษฎรแตกต่างกันบางรายได้เงินชดเชยบางรายไม่ได้ แต่ผลสุดท้ายต้องให้ราษฎรได้กลับมามีเอกสารสิทธิ์ตามเดิม
มติ ครม.ครั้งแรกมีมาตั้งแต่ปี 2521 ต้องถือว่าผ่านมาจะ 40 ปีแล้ว ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี ทราบว่าล่าสุด มติ ครม.ที่ให้มีการอพยพ ครั้งที่ 1-4 พลเอกประวิทย์ วงค์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี อนุมัติให้นำเสนอ ครม.แล้ว ให้ความเห็นชอบในการออกกฎกระทรวงยกเลิกพื้นที่ป่าแม่จาง และแม่จางตอนขุน ทำให้การอพยพ 4 ครั้ง เริ่มไปสู่ขั้นตอนในการออกเอกสารสิทธิ์ต่อไป
ส่วนการอพยพครั้งที่ 5-7 ยังมีปัญหาอยู่ว่าพื้นที่เกี่ยวข้องกับ สปก. ต้องมีการยกเลิกพื้นที่ปฏิรูปเพื่อการเกษตรให้เป็นพื้นที่ป่าก่อน กรมป่าไม้จึงจะมีอำนาจในการยกเลิกพื้นที่ป่าได้ และไปสู่กระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ โดยการอพยพครั้งที่ 7 พื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่ต้องตกลงกับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ขณะนี้ทราบว่า อ.อ.ป.เข้าไปปลูกไม้สักทองได้รับเงินชดเชยไปแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาในพื้นที่รองรับราษฎรที่จะอพยพ มีประชาชนเข้าไปบุกรุกทำให้การพิสูจน์สิทธิ์ในการครอบครองที่ดินยุ่งยากขึ้นมาอีกขั้นตอนหนึ่ง จึงให้ทางจังหวัดตรวจสอบสถานภาพก่อนว่าไปถึงขั้นตอนไหน เพื่อเสนอให้ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การเพิกถอนสภาพป่าเช่นเดียวกัน
ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวอีกว่า การตรวจสอบทรัพย์สิน และรื้อถอนบ้านเรือนที่ประชาชนขายให้กับรัฐ ทางธนารักษ์พื้นที่จังหวัดได้ดำเนินการคืบหน้าไปมากเกินกว่าครึ่งแล้ว เหลืออีก 170 หลังคาเรือนที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ รื้อถอนแล้วก็จะนำไปใช้ประโยชน์สาธารณะ เบื้องต้นทางเรือนจำกลางได้ขอใช้นำไปสร้างบ้านพัก
เรื่องกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ในปี 59 มีพัฒนาการในทางที่ดี ประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้น ให้ทางภาครัฐมีโอกาสที่จะเสนอโครงการที่ยั่งยืนให้กับประชาชน สิ่งที่เป็นปัญหาอุปสรรคในเรื่องการพัฒนาพื้นที่คือ ประชาชนที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติเรื่องการเพิกถอนสภาพป่า การจะของบประมาณมาพัฒนาอะไรต่างๆ จะไปติดขัดที่ มติ ครม.ไม่อนุญาตให้ช่วยเหลือสร้างระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่า เมื่อพื้นที่อพยพทั้งหมดยังไมได้เพิกถอนสภาพพื้นที่ป่า มติ ครม.ก็จะเป็นอุปสรรคที่จะทำให้การพัฒนาพื้นที่ และการใช้งบประมาณก้อนใดก็ตามทำไม่ได้
“ที่ผ่านมาส่วนราชการก็สับสนว่าทำได้เลย หรือต้องรอใครสั่ง แต่เมื่อมีการประชุมร่วมกันสามารถนำมติในที่ประชุมไปดำเนินการได้เลย ที่ผ่านมาขาดการประสานงานและยังไม่ถึงผู้มีอำนาจในการสั่งการ ครั้งนี้น่าจะจบเกมเร็วขึ้น จากที่ลงพื้นที่มา 3 ครั้ง เรื่องมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก และได้รับความร่วมมือที่ดีจากทุกฝ่าย”ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าว
ด้านนางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ กล่าวว่า กองทุนเป็นเรื่องของคนกลุ่มหนึ่งที่นั่งเก้าอี้วน เพื่อเอาเงินออกมาใช้ เป็นกลุ่มคนที่ไม่รู้มาจากไหน ซึ่งเงินในส่วนนี้วัตถุประสงค์บอกไว้ชัดเจนว่าเป็นเงินที่ช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าอันดับแรก แต่ตั้งแต่ตั้งกองทุนมาเมื่อปี 50 จนถึงขณะนี้สมาชิกเครือข่ายผู้ป่วยฯเสนอโครงการไปไม่เคยได้รับเงินเลย ปี 55 จึงยื่นฟ้องศาลว่ากองทุนรอบโรงไฟฟ้าบริหารจัดการไม่เป็นไปตามระเบียบของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน เรื่องยังอยู่ในชั้นศาล หลังจากนั้นก็ได้มีการเดินเรื่องหลายหน่วยงานร้องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ เรื่องเอกสิทธิ์ก็ยังไม่มีไรคืบหน้ายังติดเรื่องพื้นที่ป่าอยู่ รอมา 12 ปีแล้ว
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1068 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม 2559)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น