คณะกรรมการตัดสินรางวัลอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จะตัดสินรางวัลภายในสัปดาห์นี้ และคงเป็นอีกปีที่ “ลานนาโพสต์” หาญกล้าส่งงานข่าวเข้าประกวดในเวทีเดียวกับหนังสือพิมพ์ในเมืองใหญ่
สองปีติดต่อกันแล้ว ที่ลานนาโพสต์ได้รับรางวัลชมเชยจากการประกาศรางวัลนี้ ปีนี้ “พลังบริสุทธิ์ ชาวบ้านป่าเหียง ต้านโรงไฟฟ้าขยะ” เป็นหนึ่งในสองผลงานที่ส่งเข้าประกวด ไม่ว่าจะเข้ารอบสุดท้ายหรือไม่ จะได้รับรางวัลหรือไม่ นั่นย่อมไม่สำคัญเท่าการประกาศศักดิ์ศรีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของคนลำปางต่อคนทั้งประเทศ
และต่อคนทั่วโลกมาแล้ว ในรางวัลดีเด่นสื่อมวลชนส่งเสริมสิทธิมนุษยชน จากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย
ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือการได้ร่วมต่อสู้กับคนบ้านป่าเหียง จนพวกเขาได้ชัยชนะ
ชาวบ้านป่าเหียง ตำบลบ่อแฮ้ว อำเภอเมืองลำปาง ก็คงไม่แตกต่างจากชาวบ้านแม่เมาะเมื่อหลายสิบปีก่อน พวกเขาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ป่าเขา อากาศบริสุทธิ์ ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย หาอยู่ หากิน ยังชีพอยู่กับการหาของป่า เก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหาร ที่อยู่ใกล้บ้าน เช่นเดียวกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตรอยต่อระหว่างบ้านและป่าในที่อื่นๆ
แต่เมื่อวันหนึ่ง ภูเขาถูกทลายลง ต้นไม้ถูกตัดโค่น สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ถูกวางตั้งไว้แทนที่พื้นที่สีเขียว มีเหมืองถ่านหิน มีโรงไฟฟ้า มีควันสีขาวลอยออกจากปล่องควัน มีความผิดปกติในร่างกายผื่นคัน หายใจติดขัด และโรคร้ายซึ่งคร่าชีวิตพวกเขาล้มตายเป็นใบไม้ร่วง โดยเฉพาะที่แม่เมาะสารพิษจากการสูดดมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งปรากฏผลพิสูจน์ในห้วงเวลาหนึ่งว่า มาจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ย่อมเป็นฝันร้ายของคนใกล้บ้าน เช่น ชาวบ้านป่าเหียง ที่ไม่ต้องการให้สิ่งเหล่านี้เป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเกิดขึ้นกับพวกเขาอีก
ดังนั้น เมื่อมีข่าวบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง มีแผนลงทุนที่จะสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานไอน้ำจากของเหลือใช้ หรือโรงไฟฟ้าขยะบนพื้นที่ของเขา คนป่าเหียงจึงไม่อาจดูดาย รอให้สิ่งก่อสร้างแปลกปลอมนี้ ทำลายทุกสิ่งที่อยู่กับเขามาตั้งแต่รุ่นปู่จนถึงรุ่นหลานได้ บ้านอาจถูกปกคลุมด้วยหมอกควัน แม่น้ำตุ๋ย อันเป็นแม่น้ำสาขาแม่น้ำวัง ไหลผ่านหมู่บ้านอาจเป็นที่รองรับสารพิษจากการเผาไหม้ขยะ ใช้บริโภค อุปโภคไม่ได้อีกต่อไป นี่จึงเป็นสิทธิพื้นฐานที่สุดของความเป็นมนุษย์ที่จะปกป้องตัวเองและชุมชน
ในนามของการพัฒนา ความพยายามที่จะสร้างโรงไฟฟ้าขยะ และต่อมาคือโรงไฟฟ้าโซล่าฟาร์ม ที่ป่าเหียง มีตัวอย่างจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ซึ่งผลิตและจ่ายไฟฟ้าสำหรับภาคเหนือ 50% ภาคกลาง 30% และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20% ใช้ถ่านลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงปีละประมาณ 16 ล้าน กล่าวได้ว่าคนทั้งประเทศรู้จักแม่เมาะมากกว่าลำปาง
แม่เมาะจึงเป็นความภาคภูมิใจของคนลำปาง ในฐานะเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าให้คนครึ่งหนึ่งของภาคเหนือใช้ อีกครึ่งหนึ่งส่งให้ภาคกลางและอีสาน แต่ในทางตรงข้ามชาวบ้านแม่เมาะสั่งสมไว้ด้วยสารพิษ แม้ว่ากระบวนการผลิตมีความทันสมัยมากขึ้น มีหลักประกันมากขึ้นในเรื่องสวัสดิภาพและความปลอดภัย แต่ความหวาดระแวงของชาวบ้านป่าเหียงในฐานะคนบ้านเดียวกันก็ไม่อาจหมดไป
ปรากฏการณ์ป่าเหียง ไม่เพียงเป็นปรากฏการณ์ร่วมของชาวบ้านในการต่อต้านโรงไฟฟ้าไม่ว่าจากพลังงานถ่านหินหรือขยะในทุกหนแห่งของประเทศนี้ จากบทเรียนที่ได้จากแม่เมาะและที่อื่นๆเท่านั้น
หากป่าเหียงยังแสดงถึงพลังบริสุทธิ์ของชาวบ้านที่จะต่อสู้เพื่อรักษาและแสดงความหวงแหนสิ่งแวดล้อม ที่หากสูญสลายไปไม่อาจเรียกคืนกลับมาด้วย เพราะบริษัทเอกชนผู้ลงทุนได้ใช้วิธีพิเศษผูกไมตรีกับนักการเมืองท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ชาวบ้าน พาไปดูงานโรงไฟฟ้าขยะนอกพื้นที่ในเมืองท่องเที่ยว ซึ่งบริบททางสังคมต่างกัน อีกทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ถึงกระนั้นก็ไม่มีสิ่งใดมาเปลี่ยนแปลงความมุ่งมั่นตั้งใจของชาวบ้านได้
พลังบริสุทธิ์ ต่อต้านโรงไฟฟ้าขยะที่ป่าเหียง ในนาม “กลุ่มรักษ์ป่าเหียง” จึงเป็นเรื่องราวการต่อสู้เพื่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น ที่ควรได้รับรู้อย่างกว้างขวางในระดับชาติ เพื่อเป็นบทเรียนและกรณีศึกษาสำหรับชุมชนอื่นๆ
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1066 วันที่ 12 - 18กุมภาพันธ์ 2559)