จำนวนผู้เข้าชม
เติมสีสันมิวเซียมลำปาง นำเสนอเรื่องราวแบบดิสคัฟเวอรี่ ภายในคอนเซ็ป “ลำปางแต๊ก่ะ” เป้าหมายให้เด็กลำปางได้เรียนรู้วัฒนธรรมประเพณี ตั้งแต่อดีตเมื่อ 5 แสนปีก่อนถึงปัจจุบัน เปิดบริการ ม.ค. 60
ตามที่จังหวัดลำปาง เทศบาลนครลำปาง ร่วมกับสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) โดยสถาบันพิพิธภัณฑ์ การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) และเครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดลำปาง ได้ทำบันทึกตกลงความร่วมมือการดำเนินงานโครงการพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เมืองลำปาง หรือ มิวเซียมลำปาง เมื่อวันที่ 15 มี.ค.54 และการดำเนินงานมีความคืบหน้าเป็นระยะมาโดยตลอด ปัจจุบันการดำเนินงานอยู่ในระหว่างการปรับปรุงอาคารและการเตรียมงานเพื่อจัดทำงานนิทรรศการถาวร
เมื่อวันที่ 21 มี.ค.59 เทศบาลนครลำปาง ร่วมกับสถาบันพิพิธภัณฑ์ การเรียนรู้แห่งชาติ จัดประชุมแสดงความคิดเห็นงานออกแบบนิทรรศการถาวรและรับฟังการนำเสนอความคืบหน้าโครงการพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เมืองลำปาง ที่ห้องประชุมราชาวดี ชั้น 4 อาคารสำนักการช่าง-กองคลัง เทศบาลนครลำปาง โดยมีนายกิตติภูมิ นามวงค์ นายกเทศมนตรีนครลำปาง ดร.ศุภกร ปุญญฤทธิ์ นายปรมินทร์ เครือทอง ที่ปรึกษา สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน เข้าร่วมประชุม
ดร.ศุภกร ปุญญฤทธิ์ ที่ปรึกษาสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ กล่าวว่า มิวเซียมลำปางเกิดตั้งแต่ปี 2554 หลายภาคส่วนได้ร่วมกันจัดทำพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ต้นแบบของภาคเหนือ หน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหลักคือเทศบาลนครลำปาง ได้มีการร่วมกันจัดตั้งทีมงานในหลายฝ่าย เพื่อจัดทำชุดองค์ความรู้ขึ้นมาชุดหนึ่ง เป็นเนื้อหาของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ได้นำเสนอไปยังผู้บริหารของเทศบาล และ ผอ.สพร. จึงมาเป็นโอกาสในการนำเสนอความคืบหน้าการทำงานในช่วงที่ผ่านให้ชาวลำปางได้รับรู้ และเสนอข้อคิดเห็นที่จะพัฒนามิวเซียมลำปางให้เป็นต้นแบบของการเรียนรู้
นายกิตติภูมิ นามวงค์ นายกเทศมนตรีนครลำปาง กล่าวว่า การทำมิวเซียมครั้งนี้ เป็นสมบัติของคนลำปางทั้งหมด เราได้ดำเนินการขั้นตอนเกือบจะสุดท้ายแล้ว จึงต้องหาข้อสรุปในรูปแบบการนำเสนอ และไปสู่การก่อสร้างให้เสร็จ ทางเทศบาลได้ร่วมกับ สพร.ตกลงกันอย่างชัดเจนแล้วว่า รูปแบบและแผนงานต่างๆไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆทั้งสิ้น โดยตั้งใจที่จะเปิดให้บริการประชาชนในเดือนมกราคม 2560 ให้ได้ ซึ่งจะต้องมีการเปิดเวทีอีกครั้งที่มิวเซียมลำปาง ให้ประชาชนได้นำของเก่าที่มีอยู่นำมาให้มิวเซียมลำปางได้เก็บรักษา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของในการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งไปถึงลูกหลานในอนาคตต่อไป
จากนั้นได้มีการนำเสนองานออกแบบนิทรรศการถาวร มิวเซียมลำปาง โดยนายปรมินทร์ เครือทอง ที่ปรึกษาสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ และ นายกวี พูลทวีเกียรติ CEO จากบริษัท มิราเคิลเมกเกอร์ จำกัด
นายปรมินทร์ เครือทอง กล่าวว่า มิวเซียมลำปางได้ดำเนินงานมา 5 ปี คนลำปางได้ช่วยกันคิดคอนเซ็ปและแก่นความคิดของมิวเซียมลำปาง จนพบว่าลำปางมีลักษณะเฉพาะตัว สิ่งที่ปรากฏในชุดนิทรรศการจะต้องบ่งบอกสิ่งที่เป็นลำปางอย่างแท้จริง ภายใต้คอนเซ็ป “ลำปางแต๊ก่ะ” รูปแบบการนำเสนอของมิวเซียมลำปาง จะเป็นการนำเสนอแบบดิสคัฟเวอรี่มิวเซียม คือ สร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นความอยากรู้ของประชาชน เด็กจะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะเข้ามาดูและได้สนุกสนานกับเรื่องราวต่างๆของ จ.ลำปาง
บนพื้นที่ชั้น 2 ทั้งหมด 600 ตารางเมตร ได้แบ่งเป็นเรื่องราวของ คน เมือง และลำปาง พื้นที่แรกขึ้นบันไดจากชั้นล่างจะพบส่วนโถงตรงกลางเป็นห้องแรก เป็นเรื่องราวของคนแต่ละรุ่นของลำปาง ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องและเปลี่ยนแปลงลำปางอย่างไร โดยมีภาพเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว มีภาพของบุคคลที่เกี่ยวข้องปรากฏตัวขึ้น เป็นต้น ส่วนที่ 2 เป็นเรื่องของตำนานลำปาง คัดจากเรื่องที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาลำปางจนถึงทุกวันนี้ โดยเล่าเรื่องจากภาพสื่อเทคโนโลยี จากห้องตำนานจะเป็นห้องเมืองลำปางรุ่นที่ 1 ภายใต้อิทธิพลของหริภุญไชย ตามด้วยลำปางรุ่นที่ 2 เกี่ยวพันกับวัดปงสนุก และการอพยพคนมาจากเชียงแสน ลำปางรุ่นที่ 3 การเปลี่ยนแปลงลำปางอย่างมโหฬาร จำลองการค้าไม้จากกาดกองต้า
จากนั้นจะมาถึงจุดเปลี่ยนของลำปางในยุคปัจจุบัน โดยใช้ไก่เป็นตัวนำเสนอในแต่ละช่วงเวลา โดยจัดเป็นห้องทรานซิชั่น เปลี่ยนจากลำปางยุคเก่ามาเป็นลำปางยุคใหม่ ตั้งแต่สมัยรถไฟมาเป็นรถม้าในปัจจุบัน และอีกจุดที่สำคัญคือวัดพม่าในลำปาง วัดลำปาง ภูมิปัญญาลำปาง สำเนียงลำปาง รวมของดีของเด่น และห้องคำถามทดสอบคนที่เข้าชมให้มีส่วนร่วมทั้ง ซึ่งทั้ง 12 เดือนจะมีการจัดกิจกรรมทุกเดือน เพื่อให้มิวเซียมไม่หยุดนิ่ง มีความน่าสนใจให้ค้นพบอยู่ตลอดเวลา
ทั้งนี้ หลังจากนำเสนอเรื่องราวภายในมิวเซียมแล้ว จะดำเนินการหาผู้รับเหมา เพื่อที่จะดำเนินการนิทรรศการถาวรต่อไป เพื่อให้เสร็จภายใน ปี 59 และเปิดให้บริการได้ในเดือน ม.ค. 60
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น