"เร่เข้ามาครับ เร่เข้ามา - กำลังฮิตติดลมบนไปทั่วโลกสำหรับกระเป๋าสะพายใบใหญ่ คอลเลกชั่นใหม่ของ Balenciaga (บาเลนเซียกา) ของดีไซน์เนอร์ Demna Gvasalia อายุ 34 ปี มีลวดลายสีสันแดงสลับขาวน้ำเงิน หรือเทาสลับดำ ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นที่นิยมในเหล่าคนดังในยุโรป โดยคอลเลกชั่นกระเป๋าสะพายดังกล่าวได้จัดแสดงในงานแฟชั่นโชว์ประจำฤดูใบไม้ร่วง-ฤดูหนาวของแบรนด์ดังระดับโลกบาเลนเซียกา หรือ BALENCIAGA FALL WINTER 2016 SHOW ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่ผ่านมา”
เสียงร้องเชิญชวน ของเว็บไซต์ที่อ้างว่า เป็นเว็บไซต์สถานีข่าวอันดับ 1 ของเมืองไทย ทำให้ผู้คนตกตื่น ทั้งคนทั่วไป คนในแวดวงสื่อมวลชนเอง
พิธีกร ผู้ประกาศข่าว บางสถานี ต่างไปเสาะหากระเป๋าถุงกระสอบ ถุงสายรุ้งที่เราคุ้นเคยเห็นแขวนขายในตลาดแบบบ้านๆ มาหิ้ว มาแขวน เซลฟี่กันอย่างคึกคักหน้าจอสื่อสังคมออนไลน์ คล้ายกลัวตกเทรนด์ที่พวกเขาเชื่อว่ากำลังมาแรงในแถบยุโรป
คนทำงานสื่อในสังกัด ต่างก็ช่วยกระจายข่าวโคมลอยนี้กันอย่างคึกคัก
คนจำนวนมากตกลงไปในหล่มโคลนแห่งความเท็จ คนขายกระเป๋าอิ่มพีกันทั่วหน้า เพราะกระแสกระเป๋าสีรุ้ง
เว็บไซต์สถานีอันดับ 1 ของเมืองไทย อธิบายว่ากระเป๋าสะพายคอลเลกชั่นบาเลนเซียกา มีประเด็นหนึ่งที่กลายเป็นเรื่องฮือฮาในหมู่แฟชั่นนิสต้าเมืองไทย คือ กระเป๋าสะพายของบาเลนเซียกาดันไปคล้ายคลึงกับ ถุงกระสอบ-ถุงสายรุ้ง ที่พ่อค้าแม่ขายใช้ขายของหรือที่เรียกกันว่า ถุงกระสอบ-ถุงสายรุ้ง ที่เราจะเห็นได้ทั่วไปย่านตลาดสำเพ็ง หรือแม้แต่ที่ตลาดโรงเกลือ จ.สระแก้ว
“เรียกว่าเหมือนกันอย่างกับคู่แฝด ทำให้คนไทยวิพากษ์วิจารณ์และตั้งข้อสังเกตว่า ได้แรงบันดาลใจมาจากกระเป๋าที่พ่อค้าแม่ค้าในเมืองไทยหรือไม่ แต่ที่ต้องอึ้งตาค้างแทบช็อกเมื่อเฟซบุ๊ก Dudesweet ให้ข้อมูลว่า กระเป๋าแบรนด์ดังใบนี้ราคาอยู่ที่หลักแสน หรือเกือบแสน เพราะทำด้วยหนัง หรือพีวีซี แต่ขณะที่ถุงกระสอบบ้านเราในย่านสำเพ็งราคาใบละหลักสิบ เพราะวัสดุทำจากพลาสติก"
เฟสบุ๊ค Dudesweet ใช้ความผิดปกติ หรือความประหลาด Unusualness / Surprise มาขุดหลุมดักให้สื่อตกลงไป พวกเขาอาจเข้าใจว่า ความผิดปกติหรือความประหลาดนี้ มีคุณค่าข่าวที่สื่อควรสนใจ และในยุคที่สื่ออาชีพทำงานกันอย่างฉาบฉวย ใช้วิธีสอยเรื่องราวในสื่อสังคมออนไลน์มาเป็นข่าวอย่างมักง่าย โอกาสที่จะพลาดย่อมมีสูง
กระเป๋าสีรุ้งบอกอะไรกับสังคม
ปรากฏการณ์ 'กระเป๋าสีรุ้ง' ที่ก่อกระแสกระเป๋าสีรุ้ง ได้ฉายภาพให้เห็นคล้ายโรคระบาดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว สะท้อนให้เห็นสังคมที่เปราะบาง หูเบา และวูบไหวไปกับมายาภาพในโลกเสมือนอย่างง่ายดายยิ่ง
ข่าวลือ ข่าวที่ไม่มีที่มา ข่าวที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบ ความมีอยู่อย่างถูกต้อง แท้จริง จะไม่ได้รับการตีพิมพ์ หรือส่งผ่านช่องทางใดๆ ของสื่อวิชาชีพ นี่คือสิ่งที่เคยเป็นหลักการสำคัญ และก็มีแนวปฏิบัติชัดเจน
คนในโลกเสมือนกำลังทดสอบสื่ออาชีพที่คิดน้อยลง ทำงานน้อยลง บริหารจัดการน้อยลง พวกเขาก็ทำสำเร็จอีกครั้ง หลังจากล่อเดลินิวส์ให้ตกหลุมดักควายมาแล้ว จากข่าวเซ็กส์ทางเลือก ให้บริการมีเพศสัมพันธ์กับสุนัข
แน่นอนว่า ความผิดพลาดที่ปรากฏ “คำขออภัย” ในทันที ย่อมเป็นวัฒนธรรมที่ชื่นชมยินดีได้
แต่หากไม่เก็บรับเรื่องราวเหล่านี้ เป็นบทเรียน คิดให้มากขึ้น ทำงานให้มากขึ้น บริหารให้มากขึ้น ตกหลุมดักควายซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความเชื่อถือที่เหลือเพียงน้อยนิดก็จะหมดไปในที่สุด
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1070 วันที่ 11 - 17 มีนาคม 2559)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น