วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2559

ลำปางโมเดล

จำนวนผู้เข้าชม Free track counters

ารกิจสำคัญยิ่งของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านสื่อสารมวลชน ที่ส่งต่อมายังสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท)  คือการผลักดันกฎหมายจัดตั้ง  “สภาวิชาฃีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” เพื่อให้เป็นสภาร่มใหญ่ ทำหน้าที่ในการกำกับ ดูแลจริยธรรม โดยไม่จำแนกประเภทของสื่อ
           
ข้อที่ยังโต้แย้งกันอยู่ขณะนี้ ก็คือสภานี้จะมีอำนาจมากน้อยเพียงใด จะใช้อำนาจไปในเชิง “บังคับควบคุม” เช่นเดียวกับหลักคิดของผู้นำเผด็จการในอดีต อันสะท้อนจากกฎหมายหลายฉบับ เช่น ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 17 (ป.ว.17) ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 42 (ป.ร.42) และที่อาจลืมกันไปแล้ว คือประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97 และ 103 หรือไม่
           
ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีแนวคิด ในการขยายบทบาทขององค์กรวิชาชีพในหลายพื้นที่ ให้มีการรวมตัวกัน เพื่อดูแลกันเอง  ทั้งในรูปสมาคม สภาวิชาชีพ
           
ห้วงระยะเวลาของ สปช.เกิดแนวคิดเรื่องการจัดตั้ง “สภาวิชาชีพ” ขึ้นในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดในแถบภาคอีสาน
           
ครั้งหนึ่งในการสัมมนาสื่อท้องถิ่น 5 จังหวัดอีสานใต้ อันประกอบด้วย อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร ศรีสะเกษ และสุรินทร์ ที่ประชุมสนับสนุนให้มีสภาวิชาชีพสื่อท้องถิ่น เพื่อเชื่อมประสานกับสภาวิชาชีพสื่อส่วนกลาง พวกเขาเรียกว่า “อุบลโมเดล” พร้อมประกาศ “ปฏิญญาอุบลราชธานี” เป็นเบื้องต้นก่อนก้าวเข้าสู่การปฏิรูปประเทศและปฏิรูปสื่อ
           
ที่น่าสนใจ นอกจากหน้าที่ในการกำกับ ดูแลสี่อแล้ว  สภานี้ยังจะทำหน้าที่พัฒนา ส่งเสริมคนทำสื่อให้มีกองทุนดูแล สวัสดิการต่างๆ คุ้มครองสวัสดิภาพคนทำสื่อที่ประสบปัญหาจากการทำหน้าที่โดยสุจริตอีกด้วย
           
เราอาจจะแยกแยะบทบาทขององค์กรวิชาชีพ ในรูปของสมาคม และสภาไม่ได้ชัดเจน แต่จะเปรียบเทียบให้เห็นบทบาทขององค์กรวิชาชีพหลักอย่างน้อย 2 องค์กร คือ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
           
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มีองค์กรสื่อเป็นสมาชิก แปลว่า องค์กรสื่อใดอยู่ภายใต้สังกัดสภาหนังสือพิมพ์ พนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรนั้นเป็นสมาชิกโดยปริยาย โดยสภาหนังสือพิมพ์มีบทบาท หน้าที่ในการกำกับ ดูแลเรื่องจริยธรรมสื่อเป็นด้านหลัก โดยร่วมกับกรรมการควบคุมจริยธรรมของสมาคมนักข่าวในบางระดับ ลานนาโพสต์เป็นองค์กรสมาชิกของสภานี้
           
ส่วนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ต้องสมัครเป็นสมาชิก เสียค่าบำรุง  และไปแสดงตัวต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ถึงจะมีฐานะเป็นสมาชิกได้ ปัจจุบันลานนาโพสต์ ก็มีตัวแทนเป็นสมาชิกสมาคมด้วย บทบาทของสมาคมคือการดูแลเรื่องสิทธิ เสรีภาพ สวัสดิการ ความเป็นอยู่ของสมาชิก ซึ่งสมาคมจะมีสวัสดิการในรูปของเงินทุนการศึกษา การประกันชีวิต ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ รวมทั้งมีกิจกรรมในเชิงวิชาการ การจัดประชุม ฝึกอบรม ความรู้ต่างๆด้านสื่อมวลชน และเป็นตัวแทนของประเทศไทยในการเข้าร่วมกิจกรรมสื่อระดับสากล
           
ภาพขององค์กรวิชาชีพหลักค่อนข้างชัดเจน แต่หากพิเคราะห์ถึง “อุบลโมเดล” สมาคมวิชาชีพสื่อระดับจังหวัด  รวมถึงลำปาง ที่เรียกว่าเป็นลำปางโมเดล ก็ไม่แตกต่างไปจากสมาคมนักข่าว เพียงแต่การดูแลสมาชิกอาจจะแตกต่างกัน หรือหลายโมเดล อาจเป็นเพียงการรวมตัวเพื่อผลประโยชน์ หรือเป็นภารกิจเฉพาะหน้า  เช่น การระดมทุนในช่วงวันนักข่าว หรือการจัดงานสังสรรค์ ซึ่งยังไม่มีการบริหารจัดการที่ดีพอ หรือมีเรื่องผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง จนมีการแยกตัวเป็นสมาคมที่ 2 สมาคมที่ 3 บางจังหวัดมีสมาคมนักข่าวจำนวนมาก ด้วยเหตุผลความขัดแย้งเรื่องของผลประโยชน์ มากกว่าการทำงานตามอุดมการณ์
           
ความกระตือรือร้นที่จะรวมตัวกัน ดูแลกันเองในเรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุน  แต่ต้องชัดเจนในเป้าหมายการรวมตัวเพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพให้มีความเชื่อถือ ไว้วางใจมากขึ้น ด้วยการเสนอข่าวที่เที่ยงตรง ครบถ้วน และรอบด้าน  และที่สำคัญจะต้องมีกระบวนการในการรับเรื่องร้องเรียน สอบสวน วินิจฉัย และนำไปสู่มาตรการลงโทษทางสังคมอย่างเห็นผลและจริงจัง
           
ถ้าการรวมตัว เริ่มต้นที่ผลประโยชน์ และหน้าตาของผู้นำองค์กรวิชาชีพ ก็พังตั้งแต่เริ่มคิดแล้ว

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1072 วันที่ 25 - 31 มีนาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์