สองปีที่แล้ว ชายหนุ่มคนหนึ่งลาออกจากงานประจำที่กำลังไปได้สวย พร้อมหอบความฝันอยากเป็นเจ้าของฟาร์มไก่ไข่เล็กๆกลับมาบ้านเกิดจังหวัดลำปาง เพียงเพื่อจะพบความจริงที่ว่า ตัวเลขต้นทุนกำไรที่คิดคำนวณไว้ในกระดาษ มันช่างสวนทางกับความจริงจนแทบจะประคับประคองความฝันนั้นต่อไปไม่ไหว
ทศพล บุญดิเรกเจ้าของธุรกิจด้านการเกษตรขนาดเล็ก ‘บุญดิเรก เอ็กแลนด์ฟาร์ม’เดินตรวจตราไก่ของเขาตั้งแต่เช้า ชายวัย 33 ปีสวมรองเท้าบูต เสื้อกับกางเกงเก่าๆซึ่งพร้อมจะเลอะเทอะได้ทุกเมื่อ ไก่ที่ถูกปล่อยให้หากินอิสระเฮโลมารุมล้อมเมื่อเห็นว่าในมือของทศพลมีใบไม้ใบหญ้า อาหารโปรดของพวกมัน
“ช่วงที่ทำงานกับบริษัทใหญ่ผมได้เรียนรู้เรื่องไก่ไข่แบบครบวงจร แรกๆเขาให้กวาดขี้ไก่ ขนขี้ไก่ ก็ต้องทำ จนกระทั่งได้ก้าวมาอยู่ฝ่ายสนับสนุนการขาย ทำให้รู้จักลูกค้ามากมาย เห็นชีวิตที่สุขสบายของเจ้าของธุรกิจแล้ว ก็อยากมีธุรกิจเป็นของตนเองบ้าง แต่ยังนึกไม่ออกว่าถ้ากลับลำปางแล้วจะทำอะไรได้” ชายหนุ่มที่จบปริญญาโทด้านสัตวศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้พูดขณะมองดูไก่กินใบไม้อย่างเอร็ดอร่อย
“วัวกับหมูใช้เงินมหาศาลครับ กำลังเราไม่พอ เลยคิดว่าทำฟาร์มไก่เล็กๆ นี่ล่ะเหมาะที่สุด” เขาว่าและแน่นอน สำหรับคนรักสัตว์อย่างทศพล เขาเลือกเลี้ยงไก่ไข่แทนที่จะเป็นไก่เนื้อ เริ่มจากไก่ไข่200 ตัว ผสมอาหารเองด้วยสูตรเฉพาะที่เน้นวัตถุดิบจากธรรมชาติ ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ ไก่ป่วยจะถูกแยกออกมา แล้วใช้สารสกัดจากสมุนไพรแทน เลี้ยงแบบธรรมชาติ คือ ปล่อยให้ไก่ได้วิ่งเล่นคุ้ยเขี่ยตามประสา ไก่ที่นี่จึงอารมณ์ดี แตกต่างจากการเลี้ยงแบบกรงตับ
“แรกๆขายไข่ไม่ได้เลยครับ” เขาเล่าพลางหัวเราะ “ขาดทุนอยู่หลายเดือน เพราะเราไม่ได้คิดให้รอบคอบในเรื่องของตลาดอาศัยขายเพื่อน ส่งให้ร้านอาหารตามสั่งแถวบ้านบ้าง”
ผ่านไปราว 6 เดือน เกษตรกรหน้าใหม่จึงต้องหันมาตั้งหลักอีกครั้งด้วยการสร้างโรงเรือนใหม่ นำไก่ไข่มาลงเพิ่ม พร้อมๆกับเดินหน้าทำการตลาดด้วยการนำไข่ไปเสนอขายตามโรงเรียน โรงพยาบาล และร้านเบเกอรีในลำปาง ชูจุดเด่นในความเป็นไก่ไข่ที่เลี้ยงแบบธรรมชาติ ไม่กักขัง ปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะและฮอร์โมน จุดนี้เองทำให้ใครๆก็ชอบ ไม่นานทศพลจึงเริ่มมีลูกค้ามากขึ้นอย่างไรก็ตาม แม้จะได้ลูกค้ารายใหญ่ แต่ทศพลก็ไม่ลืมลูกค้ารายย่อยต่าง ๆ ที่อุดหนุนกันมาตั้งแต่เขาเพิ่งเริ่มทำฟาร์ม
เราเดินรอบฟาร์มแล้วมาหยุดอยู่หน้าโรงเรือนขนาดใหญ่ ซึ่งประตูจะถูกเปิดไว้ตลอดเวลา ไก่สามารถเข้าออกได้ตามใจ แต่เมื่อพลบค่ำไฟจะถูกเปิด ไก่จะตามไฟกลับมานอนในโรงเรือน เมื่อไก่อายุ 5 เดือน พวกมันจะไข่ไว้ในตะกร้าในโรงเรือน ที่ซึ่งพวกมันคิดว่านี่คือบ้านที่ปลอดภัยที่สุด โดยจะออกไข่ช่วงเวลา 10.00-14.00 นาฬิกา อย่างไรก็ตาม นับเป็นความโชคดีที่ไก่ของทศพลไม่เคยเจอกับโรคระบาด มีเพียงโรคหวัดเท่านั้นที่คุกคามสุขภาพไก่ นอกเหนือจากนี้ก็อยู่ที่สภาพอากาศ หนาวจัดและร้อนจัดล้วนทำให้ไก่ตายได้ทั้งสิ้น
“การเลี้ยงแบบปล่อยนอกจากทำให้ตัวไก่แข็งแรงแล้ว ไข่ที่ได้ยังมีความเข้มข้นมากกว่า ต้นทุนในการเลี้ยงก็ถูกกว่า เรียกได้ว่าเป็นความเรียบง่ายในการจัดการครับ”
ทศพลเติมอาหารที่พร่องลงไปจนเต็ม เขาอุ้มไก่ตัวหนึ่งขึ้นมา กอดมันจนเรารู้สึกถึงความอาทร จากไก่ 200 ตัว ผ่านไป 2 ปี จากวันที่ทำทุกอย่างคนเดียว ตั้งแต่งานในโรงเรือนจนกระทั่งขับรถตระเวนไปส่งไข่ ในวันนี้ทศพลมีคนงานมาช่วยแบ่งเบาการงานในฟาร์มแล้ว ไก่ไข่เพิ่มจำนวนเป็น 1,300 ตัว ออกไข่ทุกวัน วันละราวๆ 1,100 ฟอง ทว่าเขามาถึงจุดที่ “ทำงานน้อยลง แต่คิดมากขึ้น” จึงกำลังวางแผนสำหรับการผลิต “ไข่ไก่สีขาว” ซึ่งเกิดจากพ่อแม่พันธุ์ลูกผสมสายพันธุ์ Leg Hornไข่ไก่เปลือกสีขาวนี้เป็นที่นิยมของชาวต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม คนไทยก็น่าจะชอบ เพราะมันสามารถนำมาทำไข่เค็มได้ แถมยังเก็บได้นาน เป็นไก่ขนสีขาวที่เลี้ยงง่าย เหมาะกับอากาศร้อนบ้านเรา
“ชีวิตเกษตรกรไม่หวือหวาหรอกครับ ขณะเดียวกันก็อยู่นิ่งไม่ได้ ชีวิตไม่มีวันหยุด เราลงทุนกับสิ่งมีชีวิต ซึ่งต้องใช้เวลาในการเจริญเติบโต เม็ดเงินจึงไม่ได้คืนในทันที มันเป็นรายได้ช้า ๆ แต่ผมว่ายั่งยืน เพียงแต่เราต้องทำตัวเป็นเกษตรกรจริง ๆ คือรู้จักพอเพียงเท่านั้นล่ะครับ” ทศพลกล่าวทิ้งท้ายก่อนขอตัวไปส่งไข่ให้โรงพยาบาลศูนย์ลำปาง ไข่ไก่หลายแผงเรียงซ้อนกันอยู่ท้ายรถกระบะจนเต็ม นี่คือผลิตผลอันน่าภูมิใจของเกษตรกรหนุ่มไฟแรงคนหนึ่ง ที่ใช้ความอดทนก้าวข้ามเส้นแบ่งบาง ๆ ระหว่างความสำเร็จและความล้มเหลวมาได้อย่างน่าชื่นชม
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1072 วันที่ 25 - 31 มีนาคม 2559)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น