ความ "แข็ง" ที่ชอบพูดกัน คือ อะไร ? - รถรุ่นเก่า "แข็ง" กว่ารถรุ่นใหม่อย่างที่ว่ากันจริงหรือไม่ ? - ถ้า "แข็ง" กว่าจริง ย่อมคงทน และปลอดภัยกว่า...ด้วยใช่ไหม ?
เคยได้ยินคำบ่นกันไหมว่า “รถใหม่ๆ เหล็กไม่แข็งเอาซะเลย” ซึ่งส่วนใหญ่มักออกมาจากปากของผู้อาวุโสที่เคยใช้รถมานานนม ตั้งแต่ 30-40 ปีก่อน ส่วนคนรุ่นใหม่ ก็เออออห่อหมกไปด้วย เพราะลองเอามะเหงกเคาะตัวถังเทียบกันดูแล้ว ก็น่าจะจริงตามนั้น และหลายคนมักเข้าใจผิด หรือลืมคิดไปว่า การที่รถรุ่นใหม่ใช้เหล็กทำตัวถังบางกว่ากันแค่ครึ่งมิลลิเมตร มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยที่มาก หรือ น้อยกว่า เมื่อเกิดการชนกันขึ้นมาสักเท่าไรหรอก เรามาดูในด้านความปลอดภัยกันบ้าง
· ด้านความปลอดภัย
การที่รถยนต์ใช้เหล็กทำพื้นผิวตัวถังบางกว่ากันแค่ครึ่งมิลลิเมตร ไม่มีความเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยเมื่อเกิดการชนแม้แต่น้อย เพราะชิ้นส่วนที่รับแรงปะทะจากการชน ไม่ใช่พื้นผิวตัวถัง แต่เป็นโครงสร้างของรถยนต์ล้วนๆ
หลายคนอาจยังกังขา แล้วตั้งคำถามยอดฮิตว่า
เห็นเฉี่ยวชนกันทีไร รถใหม่ก็มัก “ยุบเยอะ” กว่ารถรุ่นเก่า ไม่ใช่หรือ ?
ถ้าเฉี่ยวชนกันเบาๆ แล้วตัวรถมีขนาด และน้ำหนักใกล้เคียงกัน ก็มักเป็นจริงตามนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยดังกล่าวขึ้นอยู่กับว่า ขนาด และน้ำหนักของรถแต่ละคัน ไม่ว่าจะเป็นรุ่นใหม่ หรือเก่าก็ตาม แตกต่างกันแค่ไหน ถ้าเล็กกว่า หรือ เบากว่า ยุบก็ต้องเยอะกว่าเป็นธรรมดา
คนที่ขับรถรุ่นเก่าหลายคนยืดอกภูมิใจ หลังจากขับเอาหน้าหม้อไปชนกับรถรุ่นใหม่ๆ แล้วรถของตัวเองไม่เป็นอะไรเลย แต่รถรุ่นใหม่กลับยุบไปตั้งเยอะ เลยคุยไปทั่วว่ารถตัวแข็งแรง แต่พอกลับมาถึงบ้าน เปิดฝากระโปรงท้ายไม่ออกเสียอย่างนั้น นั่นเพราะตัวรถแข็งจริง แต่แข็งทื่อ ไม่ได้ซับแรงกระแทก และกระจายแรงกระแทกเหมือนรถรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงออกแบบ รถรุ่นเก่าจึง “ดุ้ง” ไปทั้งคัน
ฉะนั้น ถ้าจับมาชนกันแบบเต็มแรง รถที่เหล็กแข็งกว่า หรือโครงสร้างแข็งกว่า ก็ไม่ได้หมายความว่าจะดีกว่า และปลอดภัยกว่าเสมอไป
เรามาสรุปกันสัปดาห์หน้าครับ
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1072 วันที่ 25 - 31 มีนาคม 2559)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น