ใครจะรู้ว่า หลังหมอกควันที่ห่มคลุมพื้นที่ภาคเหนือในแต่ละปี มีไร่และการเผาไร่ข้าวโพดเป็นหนึ่งในตัวการ ด้วยการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์จากบริษัทเกษตรอุตสาหกรรมรายใหญ่ของประเทศนี้ และพื้นที่ไร่ข้าวโพดโดยเฉพาะในลำปาง มีจำนวนไม่น้อยที่บุกรุกป่า
จะเรียกว่าบริษัทเอกชนรายนั้น มีส่วนทางอ้อมในการสนับสนุนให้บุกรุกป่า และเผาป่าก็ได้ ทำให้ปัญหาหมอกควันไม่จางไปเสียที
ปัญหาหมอกควันที่ดูจะหนักขึ้นในแต่ละปี หน่วยงานภาครัฐก็หาวิธีจัดการที่ปลายทางของปัญหา “ใครเผาเราจับ” ออกประกาศจับมาหลายปีต่อเนื่องแต่หาเงาของผู้ที่ทำผิดไม่ได้ จำนวนทีมงานตรวจจับก็น้อยเหลือ จิตอาสา ที่ทำงานดูแลป่านับวันก็จะมีน้อยลง
แต่ปัญหาหมอกควันรุนแรงขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์เรา ล่าสุด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดประชุมหารือประเด็นหมอกควันในภาคเหนือ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาหมอกควันมากที่สุด คือ การทำไร่ข้าวโพด โดยเฉพาะในเขตอำเภอแม่แจ่มและอมก๋อย ตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเผาตอซังรวม 3 ครั้งต่อปี
นั่นหมายถึง เฉลี่ยแล้ว 4 เดือนจะเผาหนึ่งครั้ง !!!
ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดการสะสมสารพิษในร่างกายตลอดทั้งปี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะช่วงเดือน มกราคม-มีนาคมที่มีหมอกควันหนาแน่น ซึ่งปัญหาของการจัดการหมอกควันในภาคเหนือ คือ การขยายพื้นที่เพื่อจัดการปัญหาที่ดีทำได้ช้า ไม่ทันกระแสทุนนิยมที่ทำเกษตรพันธสัญญาให้ปลูกข้าวโพด โดยมีผู้นำชุมชนเป็นเสือนอนกิน เป็นนายหน้าให้กับกลุ่มนายทุนที่เอาแต่ผลกำไรแล้วผลักภาระการกำจัดขยะให้เกษตรกร การขับเคลื่อนกฎหมายทำได้ช้า ไม่มีนโยบายจากภาครัฐที่ชัดเจนบังคับให้กลุ่มนายทุนเหล่านี้รับผิดชอบเรื่องการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี จึงยิ่งส่งผลให้ปัญหาอย่างต่อเนื่องและสร้างความเดือดร้อนมากขึ้น
การแก้ปัญหาแต่เพียงปลายเหตุ เทงบประมาณมามากเท่าไหร่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้หากทุกคนไม่ร่วมมือกันแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
แม้จะมีการรณรงค์อย่างแข็งขัน ไม่ให้มีการเผาป่า แต่ก็ดูเหมือนไม่ได้ผล มาตรการทางกฎหมายก็เป็นเพียงป้ายติดประกาศไม่ให้เผาป่า การบังคับใช้กฎหมายไม่สามารถป้องกันการเผาป่าได้ ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือจึงเป็นคล้ายวงจรอุบาทว์ หมุนเวียนเปลี่ยนมาทำร้ายคนในภาคเหนือไม่หยุดหย่อน
ประกอบกับสภาพภูมิประเทศ พื้นราบที่มีภูเขาล้อมรอบ สภาพไม่แตกต่างไปจากแอ่งกระทะ ควันพิษจึงอบอวลอยู่ทั่วเมือง กรมควบคุมมลพิษ เคยตรวจวัดคุณภาพอากาศ ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วย แพร่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน น่าน แม่ฮ่องสอน ตาก พะเยา และลำปาง ผลการตรวจวัด แสดงค่าอากาศจากหมอกควัน ต่ำกว่ามาตรฐาน โดยจังหวัดลำปางเคยปรากฏค่าการตรวจวัดสภาพอากาศที่เกินมาตรฐานสูงสุดถึง 243 ไมโครกรัม ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่จำยอมต้องรับสภาพหรือไม่ นี่เป็นประเด็นสำคัญ
พระราชบัญญัติป่าไม้ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองสัตว์ป่า มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 7 ปี ถึงกระนั้น เราก็ไม่ค่อยได้รับรู้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้กฎหมายเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อย เพียงใด อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่าการสร้างจิตสำนึกชุมชน ที่จะให้ชุมชนเกิดความรู้สึกหวงแหน ดูแลรักษาป่า ไม่ให้คนพื้นที่หรือคนนอกพื้นที่ มาเผาทำลายป่า น่าจะเป็นทางหนึ่งในการลดปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ และจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในที่สุด
ชุมชนบ้านต้นต้อง ตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เคยขึ้นชื่อว่า เป็นชุมชนที่เป็นต้นเหตุของการเผาทำลายป่า มาก่อน ชาวบ้านดำรงชีพอยู่ด้วยการหาของป่า ครั้งหนึ่งพวกเขาราว 10 กว่าคน ได้ไปช่วยกันดับไฟป่า ผ่านไป 1 ปี สภาพพื้นที่ที่ถูกไฟไหม้ และพื้นที่ที่ไม่ถูกไฟไหม้ ได้เปิดเผยให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน พื้นที่ที่ไม่ถูกไฟไหม้จะเห็นกล้าไม้ต้นเล็กๆ งอกขึ้นมา
ในขณะที่พื้นที่ป่าไฟไหม้จะเหลือแต่พื้นดินแห้งๆ จากจุดนี้ได้จุดประกายให้ชาวบ้านได้รู้สึกถึงสิ่งมีค่าใกล้ๆตัวเขา ที่ควรเก็บรับ รักษาไว้ ชาวบ้านคิดและทำฝายชะลอน้ำ เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับป่า มีการปลูกป่าเสริมตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสุดท้ายชาวบ้านได้ทำเรื่องขอขึ้นทะเบียนป่าเป็นป่าชุมชน เพื่อให้ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐ ในการจัดการดูแลป่าอย่างเป็นระบบ
การสร้างจิตสำนึกในการรักและหวงแหนป่าไม้ และทรัพยากรท้องถิ่นของคนในพื้นที่ เป็นพลังสำคัญในการจัดการปัญหาหมอกควัน ที่ทำร้ายคนในพื้นที่ภาคเหนือมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เราอาจไม่จำเป็นต้องจำยอมรับสภาพปัญหานี้ต่อไป
เราอาจก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคที่การจัดการในภาครัฐยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ด้วยบ้านต้นต้องโมเดล ต้นแบบในการจัดการปัญหาอย่างยั่งยืน ถึงแม้ว่าแนวคิดนี้ ความพยายามเช่นนี้จะยังไม่มากพอที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ในทันที
แต่อย่างน้อยนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการแสดงให้เห็นศักยภาพของพลังชุมชน ในการต่อสู้กับปัญหาหมอกควัน และมันจะนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาอมตะนี้ได้ในที่สุด
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น